เลี่ยงโศกนาฏกรรมจากโควิดได้ "หมอนิธิพัฒน์" ชี้ต้องฉีดวัคซีน-ระวังตัวเอง

11 ก.ค. 2564 | 03:26 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2564 | 12:49 น.

หมอนิธิพัฒน์ เผยจะเลี่ยงโศกนาฏกรรมจากโควิด-19 ได้ต้องฉีดวัคซีนร่วมกับระมัดระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ระบุมาตรการใหม่ที่ออกมากว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า  
2 ธันวาคม 2563 เริ่มมีการระบาดของโควิดระลอกสองตั้งต้นที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย ช่วงนั้นรีบไปตัดผมเพราะคาดว่าเหตุการณ์น่าจะบานปลาย และอาจไม่ได้เข้าร้านตัดผมนานเกือบสามเดือนเหมือนในการระบาดระลอกแรก พอกลับมาบ้านจึงเลือกถ่ายรูปใส่เสื้อทีมเชียงรายยูไนเต็ดเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ เหมือนเป็นการแก้เคล็ด โขคดีว่าระลอกสองผ่านไปโดยไม่มีการปิดร้านตัดผม พอมาถึงตลอดช่วงเวลาในการระบาดระลอกสาม ผมของผมไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนก่อนนัก มาตรการควบคุมโรคโดยรวมผ่อนคลายลงไปมาก จนบางคนคิดว่าหย่อนยานไปและเป็นเหตุให้เกิดระลอกสี่ที่รุนแรงหนักหนาสาหัสสากรรจ์
ผ่านมากว่าเจ็ดเดือนจากในรูปแรก วันนี้หลังจากจะมีการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เขาว่าเข้มข้นขึ้นในอีกสองวันข้างหน้า ผมตื่นตูมเกินเหตุไปอีกไหม ทั้งที่เขาไม่ได้ปิดร้านทำผมและร้านตัดผม แต่มันสังหรณ์พิกลกลัวมาตรการจะไม่ชะงัดและเอาไม่อยู่ อย่ากระนั้นเลยไปตัดผมให้สั้นล้างอาถรรพ์อีกทีดีกว่า กลับมาแล้วจึงเลือกเสื้อทีมเมืองทองยูไนเต็ดมาใส่ เพราะเขาเป็นหนึ่งในทีมดังประจำเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกสี่ ในเมื่อชักไม่มั่นใจฝีมือตัวเอง และไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ไสยศาสตร์อาจยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวได้ในยามนี้

เลี่ยงโศกนาฏกรรมจากโควิดได้ \"หมอนิธิพัฒน์\" ชี้ต้องฉีดวัคซีน-ระวังตัวเอง

อย่างที่แจ้งไปแล้วว่ากว่ามาตรการใหม่นี้จะเห็นผล คงไม่น้อยกว่าสิบวันกว่าตัวเลขต่างๆ จึงอาจจะเริ่มลดลง ยอดผู้เสียชีวิตที่ทำนิวไฮหลักเก้าสิบมาให้เห็นแล้วในวันนี้ และอาจไปต่อจนถึงหลักร้อยได้ ไม่น่าเชื่อว่าเราไม่สามารถเซฟชีวิตเพื่อนร่วมชาติได้เป็นจำนวนพอควร แม้ส่วนใหญ่เราจะเซฟการสูญเสียของพวกเขาได้ แต่ร่องรอยความผิดปกติทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ยังหลงเหลือให้เห็นในบางราย เป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้รับผิดชอบอย่าดูแคลนโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่พร้อมจะระบาดในวงกว้างได้ทุกเมื่อ อย่าได้คะนองปากด่วนคิดและพูดออกไป ก่อนที่จะมั่นใจว่าเข้าใจและมั่นใจว่ากุมสถานการณ์ได้จริง
พอเรามีผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดจำนวนมากเป็นหลักแสนคน แน่นอนเราพบลักษณะทางคลินิกที่มีความหลากหลาย อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดนี้อยู่ที่ราว 2% (ผู้ป่วยโดยรวมเกิดปอดอักเสบราว 50% โดยเสียชีวิตราว 1%) ในส่วนผู้ที่ชีวิตรอดมีจำนวนหนึ่งที่เกิดปอดเป็นพังผืด บางรายแทบจะพิการเพราะต้องใช้ออกซิเจนระยะยาวทำให้เคลื่อนไหวได้จำกัด หลายรายที่ต้องเจาะคอถาวรและอยู่กับเครื่องช่วยหายใจ บางรายที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องหัวใจและปอดเทียมแม้จะรอดได้นานกว่าสองเดือนแต่ก็ไม่สามารถเอาเครื่องออกได้ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งค่าใช้จ่ายและทรัพยากรสุขภาพด้านอื่นจำนวนมาก มีบางรายที่อาจไม่ประสบปัญหาทางปอดมากนัก แต่มีปัญหาทางด้านร่างกายอื่นติดตัวไปได้ในทุกระบบ นอกจากนี้ยังพบการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจรุนแรงทั้งในระหว่างที่ป่วยหนัก และติดตัวไปแม้โรคทางกายจะหายหรือทุเลาไปมากแล้ว กลุ่มของความความผิดปกติเหล่านี้รวมเรียกว่า Post-COVID Conditions การป้องกันที่ดีที่สุดของพวกเราที่จะช่วยหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมเหล่านี้ได้ก็คือ การฉีดวัคซีนร่วมกับระมัดระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อ 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมข้อมูลตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 11 กรกฏาคม 2564 จากศูนย์ข้อมูล Covid-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
ติดเชื้อเพิ่ม 9539 ราย
สะสมระลอกที่สาม 307,508 ราย
สะสมทั้งหมด 336,371 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 4053 ราย
สะสม 220,545 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 86 ราย
สะสมระลอกที่สาม 2617 ราย
สะสมทั้งหมด 2711 ราย