"ล็อกดาวน์" หมอธีระชี้แถลงควรระบุชัดลดระบาดแค่ไหน-ไม่ได้ผลจะทำอย่างไร

09 ก.ค. 2564 | 14:09 น.

หมอธีระติงการแถลงล็อกดาวน์ควรมีรายละเอียดที่มากกว่านี้ ชี้ต้องระบุชัดจะลดระบาดแค่ไหน ใช้เวลาเท่าใด หากไม่ได้ผลจะทำอย่างไร จะเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองอย่างไร ที่ใด ช้าเร็วเพียงใด

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สิ่งที่แถลงนั้น ควรมีรายละเอียดที่มากกว่านี้
1. ควรชี้ให้ประชาชนได้ทราบว่า จะเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองอย่างไร? ที่ใด? ช้าเร็วเพียงใด? ทำอย่างไรจะไม่ต้องมารอคิวข้ามคืน? แน่ใจอย่างไรที่จะมีบริการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ สำหรับทุกคน?
2. ควรแจกแจงให้ทราบว่า มีแผนปฏิบัติการอย่างไรที่จะทำให้คนติดเชื้อไม่ต้องรอจนเสียชีวิตที่บ้าน
3. ควรเอาข้อมูลวิชาการที่วิเคราะห์มาชี้ให้เห็นว่า แต่ละมาตรการที่ปิดแต่ละอย่างนั้น คิดว่าจะเกิด impact อย่างไร มากน้อยเพียงใด ที่จะช่วยบรรเทาการระบาดได้ เช่น work from home, การลดขนส่งสาธารณะช่วงกลางคืน, การห้ามออกจากบ้านตอนกลางคืน ฯลฯ
4. ควรแสดงให้ประชาชนดูว่า ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดผลลดการระบาดได้แค่ไหน? ในระยะเวลาเท่าใด? หากไม่ได้ผลจะทำอย่างไร?
5. ควรแนะนำแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศว่าควรมีแผนเตรียมรับคนที่เดินทางออกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในเย็นนี้และคืนนี้ ได้อย่างไร? 
6. เน้นย้ำให้ประชาชนระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นถัดจากนี้ว่า หากมีการอยู่กับบ้านหรือที่พักมากขึ้น จะมีโอกาสเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ต้องระมัดระวัง

7. มาตรการดูแลเยียวยา ประคับประคอง จะมีแนวทางอย่างไร? ควรมีข้อมูลนี้ควบคู่มาพร้อมกับการประกาศมาตรการควบคุมทางสังคม

"ล็อกดาวน์" หมอธีระชี้แถลงควรระบุชัดลดระบาดแค่ไหน-ไม่ได้ผลจะทำอย่างไร
ด้วยการเลือกมาตรการเฉพาะพื้นที่เช่นนี้ และรายละเอียดดังที่แถลง เกรงว่าศึกนี้คงยาวนานมาก และเราจะเผชิญกับภาวะ"เจ็บแต่ไม่จบ" และระบาดซ้ำซาก
วันนี้ (9 ก.ค. 64) มติศบค.ชุดใหญ่มีการประกาศ “เคอร์ฟิว”และมาตรการ "ล็อกดาวน์" งดเดินทาง ห้ามออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด ในช่วงเวลา 21.00-04.00 น. ยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 (Covid-19) โดยเริ่มมาตรการ 12 ก.ค. นี้เป็นต้นไป แต่จะมีการเริ่มตั้งด่านตรวจวันที่ 10 ก.ค. เป็นต้นไป
โดยที่ประชุมศบค.ล่าสุดจะใช้กับพื้นควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ไม่ได้รวมทั้งประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
10 พื้นที่สีแดงเข้ม ห้ามออกจากบ้าน เวลา 21.00 น. - 04.00 น. เริ่ม 12 ก.ค. 2564 (รวม 14 วัน)
พื้นที่ กทม. และปริมณฑล 6 จังหวัด มีมาตรการ ดังนี้
- WFH เต็มรูปแบบ
- ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ปิด 20.00 - 04.00 น.
- ห้ามออกนอกเคหะสถาน 21.00-04.00 น.

- ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมเกิน 5 คน
- สั่งปิดร้านนวด, สปา, สถานเสริมความงาม
- ขนส่งสาธารณะ ให้บริการ 03.00-21.00 น.
- สวนสาธารณะ ปิด 20.00 น.
- ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด (ยกเว้นกรณีจำเป็น)
เฉพาะมาตรการเริ่มตั้งแต่ 06.00 น. วันที่ 10 ก.ค.64 นอกจากนี้ยังขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนถึง 30 ก.ย. 2564
อย่างไรก็ตามในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตำรวจนครบาลมีความพร้อมในมาตราการของทาง ศบค. ซึ่งตำรวจเองมีส่วนเกี่ยวข้องในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัดควบคุมโรค การดูแลเรื่องแคมป์คนงาน การตรวจสถานที่เสี่ยง ร่วมกับหน่วยงานอื่น ทั้งกรุงเทพมหานคร สำนักการอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ ทหาร 
อีกทั้งทางตำรวจนครบาลมีการจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว กรณีมีรับแจ้งหากพบมีผู้กระทำความผิด ทีมงานชุดนี้จะเข้าไปปฏิบัติงาน ตรวจสอบ และ แก้ไขปัญหา