ฉีดวัคซีน "Sinovac" เข็ม1-เข็ม 2 "AstraZeneca" ภูมิขึ้นสูง 8 เท่า

07 ก.ค. 2564 | 01:05 น.

หมอยงเผยผลการศึกษาการฉีดวัคซีนสลับชนิด ระบุฉีดเข็มที่ 1 Sinovac เข็มที่ 2 AstraZeneca ภูมิขึ้นสูงกว่าเชื้อตาย 2 เข็ม 8 เท่า หรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อจริงในผู้ป่วยประมาณ 10 เท่า

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า โควิด-19 วัคซีน การฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 สลับชนิดกัน
หมอยง ระบุว่า ปัจจุบันยังแนะนำ ให้ฉีดวัคซีนป้องกัน covid 19  เข็ม 1 และเข็ม 2 เป็นชนิดเดียวกัน
ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้ม มีข้อมูล และกำลังศึกษาเกี่ยวกับการฉีดต่างชนิดของวัคซีนใน เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เช่นการให้  virus vector (AstraZeneca) สลับกับ mRNA (Pfizer) และเริ่มมีการยอมรับมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยขณะนี้เรามีวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac. sinopharm) กับ virus vector (AstraZeneca) และในชีวิตจริง ในบางรายที่แพ้วัคซีนเข็มแรก  วัคซีนเข็ม 2 ให้ต่างชนิดกัน ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอสมควร เข้าใจว่ามีมากกว่า 1000 ราย 

การศึกษาของศูนย์ ได้ทำการศึกษาการสลับชนิดของวัคซีน ที่อยู่ระหว่างการศึกษา พบว่าการให้เข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) และอีก 3-4 สัปดาห์ต่อมา ให้วัคซีน virus vector (AstraZeneca) ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น ได้ปริมาณที่สูงมาก สูงกว่าการให้วัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ประมาณ 8 เท่า หรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อจริงในผู้ป่วยประมาณ 10 เท่า และน้อยกว่าการให้วัคซีน virus vector AstraZeneca 2 ครั้งห่างกัน 10 สัปดาห์ อยู่เพียงเล็กน้อย 
การให้วัคซีนสลับ เข็มแรกเชื้อตาย  เข็มที่ 2 เป็นไวรัสเวกเตอร์ (ห่างกัน 3-4 สัปดาห์) จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานสูงในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งต่างกับผู้ที่ได้รับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ 2 ครั้ง(ห่างกัน 10 สัปดาห์) กว่าจะได้ภูมิต้านทานสูงดังกล่าวต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 - 14 สัปดาห์ 
ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ ในช่วงที่มีการระบาดอย่างมาก และทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันการบริหารวัคซีนก็จะง่ายขึ้น ในกรณีที่มีวัคซีน ในปริมาณจำกัด การศึกษาทั้งหมดน่าจะเห็นชัดเจนขึ้นภายในสิ้นเดือนนี้ 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้ยังเป็นข้อมูลที่ศึกษาระดับภูมิต้านทาน สิ่งที่สำคัญจะต้องทำการศึกษาต่อ คือความสามารถในการป้องกันโรค ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่ามีโอกาสที่จะป้องกันโรคและความรุนแรงของโรคได้มากกว่า การศึกษาในวงกว้างก็ยังมีความจำเป็นที่จะให้ทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคถ้าให้วัคซีนสลับกัน
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทสไทย วันที่ 28 ก.พ.-5ก.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสม 11,058,390 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 8,022,029 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,036,361 ราย