ศบค.เคาะฉีดวัคซีนเข็ม3 ไฟเซอร์ ให้บุคลากรทางการแพทย์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

06 ก.ค. 2564 | 08:05 น.

ศบค.เคาะฉีดวัคซีนเข็มที่สาม ไฟเซอร์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมรับมือโควิด-19 กลายพันธุ์ ชี้หากไฟเซอร์ ยังไม่มาจะฉีดแอสตร้าให้ก่อน เผยปัจจุบันตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนคน ฉีดซิโนแวค 2 เข็มครบเป็นเวลา 3-4 เดือน ได้เวลาที่ต้องต้องบูสเตอร์โดส

วันนี้(วันที่ 6 ก.ค. 2564) ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข แถลงชี้แจงแนวทางฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน หลังร่วมประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ

 

โดยระบุว่า ช่วง 2 เดือนโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ภาพรวมประเทศไทยระบาดแล้ว 30% ใน กทม.พบ 50% ระบาดไปใน 96 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์เดลตาเกือบทั้งหมด สำหรับเชื้อตัวนี้ไม่ได้รุนแรงกว่าสายพันธุ์อัลฟา แต่ทำให้ผู้ป่วยออกซิเจนในเลือดต่ำ ปอดอักเสบเร็วขึ้น เดิมสายพันธุ์อัลฟา ประมาณ 7-10 วัน แต่สายพันธุ์เดลตาใช้เวลา 3-5 วัน

 

ทำให้ความต้องการเตียงเพิ่มขึ้นมาก ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้ จึงต้องหาวัคซีนเจเนอเรชั่นใหม่ เพื่อมาควบคุมการกลายพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีวัคซีนชนิดใด ทั้งไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้ากำลังผลิตวัคซีนชนิดใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ คาดว่าเร็วที่สุดอาจจะปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า

 

ระหว่างที่รอต้องหากระบวนการบูสโดสให้เพิ่มขึ้นเพื่อไปต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ให้ได้ เรื่องนี้ถูกนำเข้าหารือมาเป็นเวลา 2-3 เดือนแล้ว เรื่องเข็ม 3 หรือฉีดไขว้ยี่ห้อ

เมื่อพิจารณาข้อมูลวัคซีนปัจจุบัน เมื่อเจอสายพันธุ์เดลตาประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลง งานวิจัยในอังกฤษพบว่า เช่น ไฟเซอร์ เมื่อพบเบตาภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เมื่อพบเดลตาลดลง 2.5เท่า แอสตราเซเนกา

 

เมื่อพบเบตา ภูมิคุ้มกันลดลง 9 เท่า เมื่อพบเดลตา ลดลง 4.3 เท่า ส่วนซิโนแวค งานวิจัยของ สวทช.ร่วมกับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า ถ้าเจอเดลต้าภูมิลดลง 4.9 เท่า หากแปลงเป็นตัวเลขทางคลินิก ความสามารถกระตุ้นภูมิต้านทาน mRNA หรือ ไฟเซอร์ ดีที่สุด

 

รองมาเป็นแอสตราฯ และซิโนแวค ตอนนี้เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนไม่มีทางป้องกัน 100% ท่านจึงต้องช่วยตัวเอง มาตรการด้านสาธารณสุข ใส่แมสก์ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เลี่ยงไปที่แออัด

 

ขณะนี้ประเทศไทยมีแอสตร้าฯ กับซิโนแวค ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นากำลังเข้ามาอยากให้ฉีดให้ครบ 2 เข็มให้ได้ก่อน อย่าเพิ่งนึกถึงเข็มสาม ถ้าฉีดแอสตราห่างสามเดือน อย่าเพิ่งไปจองเลย พูดจากทางวิชาการ เพราะว่า จะได้ mRNA รุ่นเก่า

 

เนื่องจากแอสตร้าเว้นสามเดือน ฉีดเข็มสามเว้น 6 เดือน จะได้ mRNA เจนเนอเรชั่นใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงอาจน้อยลง ปลอดภัยมากกว่า

 

ศ. เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า มีมติว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้บูสเตอร์ก่อนเป็นกลุ่มแรก โดยต้องได้ mRNA เป็นแอสตราฯ หรือ ไฟเซอร์ ที่กำลังจะได้มาจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส ฉะนั้นคำว่าบูสเตอร์โดสไม่เฉพาะคนทั่วไป ไม่มีประเทศไหนกำหนดแนวทางไกด์ไลน์หรือแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกไม่มี

 

ขณะนี้ศิริราชและจุฬาฯ กำลังทำการศึกษาเข็มสามว่าตัวไหนจะเหมาะ ตัวไหนดีที่สุดอีก 1 เดือนรู้ผล และจะเป็นการศึกษาแรกๆ ในโลก ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกกำหนดไกด์ไลน์ว่า การให้บูสเตอร์โดสจะใช้อะไรบ้างอย่างไร และการใช้ไม่ได้ใช้สำหรับคนทั่วไป แต่ใช้สำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ข้อกำหนดที่ 2 จะให้กับผู้มีความเสี่ยง กลุ่มโรคต่างๆ

สำหรับเด็ก ยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เพราะเด็กติดเชื้อไม่มีอาการ ไม่รุนแรง ทำให้ต้องฉีดให้กลุ่มเสี่ยง ผู้ใหญ่ที่เสี่ยง มิฉะนั้น ตายวันละ 50-60 คนไม่ไหว ส่วน 20 ล้านโดสที่จะมาไตรมาส 4 มีเวลาจะระดมฉีดให้เต็มที่

 

ปัจจุบันตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนคน ฉีดซิโนแวค 2 เข็มครบเป็นเวลา 3-4 เดือน ได้เวลาที่ต้องต้องบูสเตอร์โดส หากไฟเซอร์ ยังไม่มาจะฉีดแอสตร้าให้ก่อน