"AStraZeneca" เกิดอาการข้างเคียงมากกว่า "Sinovac" หมอยงแนะทำความเข้าใจจะได้ไม่วิตก

11 มิ.ย. 2564 | 01:20 น.

หมอยงเผยอาการข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีน AStraZeneca และ Sinovac ระบุชนิด mRNA มีอาการมากกว่าชนิดเชื้อตาย

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
    โควิด 19  วัคซีน  อาการข้างเคียง และ อาการไม่พึงประสงค์
    ยง ภู่วรวรรณ
    ในช่วงต้นการฉีดวัคซีน วัคซีนที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็น Sinovac และในผู้สูงอายุ จะใช้ AStraZeneca ปัญหาอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จะไม่ค่อยพบมาก 
    ขณะนี้การใช้วัคซีนจะเป็น AstraZeneca เป็นหลักและจะต้องมีการใช้ต่อไปอีกเป็นจำนวนมาก Sinovac จะเป็นตัวเสริม 
    จากการศึกษาของศูนย์ ที่จริงได้ฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ในทุกอายุตั้งแต่อายุ  18 ปีขึ้นไป 
    อยากจะบอกว่า วัคซีน Sinovac มีอาการข้างเคียง น้อยกว่า AstraZeneca โดยเฉพาะในเรื่องไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดศีรษะ ขนาดการศึกษานี้ผู้ป่วยฉีดวัคซีน AstraZeneca เราแจก พาราเซตามอลกลับบ้านด้วยซ้ำ
    รูปข้างล่างแสดงให้เห็นเปรียบเทียบการศึกษาของศูนย์ เห็นความแตกต่างได้ชัดเจน 

ผลข้างเคียงของวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า
    อาการที่เกิดขึ้นจากวัคซีน AstraZeneca จะพบว่าอายุน้อย มากกว่าผู้สูง อายุ และผู้หญิงจะมีอาการมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเมื่อดูอาการข้างเคียงเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ฉีดในต่างประเทศโดยเฉพาะวัคซีนในกลุ่ม mRNA แล้วไม่ต่างกันเลย
    ส่วนวัคซีน Sinovac อาการข้างเคียงดังกล่าวน้อยกว่ามาก ดังแสดงในรูป

อาการข้างเคียงจากวัคซีน ซิโนแวค
    ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca ถ้ามีไข้หรือปวดศีรษะ ท้องเสียอาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นอาการที่พบได้ หลังการฉีดวัคซีน ดังนั้น หลังฉีดเมื่อกลับไปถึงบ้านถ้ามีอาการดังกล่าว รับประทานยาพาราเซตามอลได้เลย ไม่ต้องรอให้ไข้ขึ้นสูง หรือปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และสามารถทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง อาการดังกล่าวจะอยู่ประมาณ 1-2 วัน ก็จะหายเป็นปกติ
    นอกจากว่ามีอาการมาก เช่นไข้สูงติดต่อกันหลายวัน หรือสูงมาก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และรับประทานยาแล้วไม่หาย ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ 
    ถ้าทุกคนเข้าใจ จะได้ไม่เกิดวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนในกลุ่ม virus Vector  หรือ mRNA วัคซีนจะมีอาการข้างเคียงได้มากกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย ตามหลักฐานเชิงประจักษ์
      #หมอยง
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขของการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 28 ก.พ.-9 มิ.ย. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดไปแล้วทั้งหมดจำนวน 5,443,743 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 3,966,097 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 1,477,652 ราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :