"วัคซีนพาสปอร์ต" 3 ข้อเสนอ ไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

10 มิ.ย. 2564 | 12:05 น.

"นายเกียรติ สิทธีอมร" เผย กรรมาธิการต่างประเทศเสนอ 3 ข้อ ให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมเเละวางยุทธศาตร์การต่างประเทศเพื่อ "วัคซีนพาสปอร์ต"

ขณะนี้ประเทศไทยเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนโควิดอย่างจริงจังพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 9 มิ.ย. 2564) รวม 5,443,743 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม  3,966,091 ราย ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม  1,477,652 ราย ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 รวม 1,225,649 โดส จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 1,111,050 ราย และจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม 114,599 ราย

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย โดยผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จะได้รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนสำหรับใช้ในประเทศ ขณะเดียวกันสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องนำเอกสารรับรองไปขอสมุดเล่มเหลืองที่รองรับการฉีดวัคซีนโควิด19 หรือ “วัคซีนพาสปอร์ต”
 

ล่าสุดวันนี้ (10 มิ.ย. ‘64) "นายเกียรติ สิทธีอมร" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Kiat Sittheeamorn โดยระบุว่า มีความคืบหน้าจากการประชุมกรรมาธิการการต่างประเทศ ได้พิจารณาศึกษาเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต โดยได้ข้อสรุปค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การที่ใบรับรองวัคซีน หรือ “วัคซีนพาสปอร์ต” ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกหรือกรอบพหุภาคีจะเกิดขึ้นได้ จะตัองมีวัคซีนเพียงพอสำหรับทั่วโลกแล้วและมีข้อมูลมากพอที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วจะไม่ไปแพร่เชื้อต่อ ด้วยเหตุผล 2 อย่างนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงรอดูท่าทีอยู่

“ไม่ได้แปลว่าประเทศของเราจะต้องอยู่เฉย ๆ เราควรจะใช้เวลาช่วงนี้ในการเตรียมความพร้อมและวางยุทธศาสตร์การต่างประเทศเพื่อที่เมื่อใบรับรองวัคซีนเป็นที่ยอมรับทั่วโลกเมื่อไหร่ ประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่เสียเวลา” นายเกียรติกล่าวและว่า 
 

กรรมาธิการการต่างประเทศ มีข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนนี้ 
1. รัฐบาลต้องกำหนดหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รับผิดชอบและผลักดันให้มีการยอมรับใบรับรองวัคซีนเหมือนกับไข้เหลืองในอดีต

2. ฐานข้อมูลของผู้ที่ฉีดวัคซีนในปัจจุบัน พบว่าเป็นฐานข้อมูลภาษาอังกฤษอยู่แล้ว โดยกรรมาธิการฯ เสนอว่าต้องเป็นฐานข้อมูลหลักเดียวหรือเชื่อมโยงถึงกันได้ และผู้ที่สนใจต้องสามารถตรวจสอบฐานข้อมูลได้

3. การจะทำให้ใบรับรองวัคซีนเป็นที่ยอมรับทั่วโลกหรือระดับพหุภาคีได้ ต้องเริ่มต้นจากระดับทวิภาคีก่อน เช่น ทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน และอาจขยายไปสู่ระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน อาเซียน+3 +6 รวมถึงตลาดใหญ่ที่เป็นตลาดเป้าหมายในการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งเค้าก็มีกรอบของตนเองแล้ว

อย่างไรก็ตามกรรมาธิการการต่างประเทศ เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างยิ่ง และจะติดตามความคืบหน้าและร่วมผลักดันต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง