ห่วง "โควิดสายพันธุ์อินเดีย" ระบาดวงกว้าง "หมอธีระ" แนะชะลอการเปิดประเทศปิดประตูรับเชื้อ

08 มิ.ย. 2564 | 13:00 น.

หมอธีระห่วงโควิดสายพันธุ์อินเดียระบาดวงกว้าง แนะชะลอการเปิดประเทศปิดประตูรับเชื้อ ลดความเสี่ยง ระบุการป้องกันสำคัญมาก

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า  
    B.1.617.2 หรือสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่ค้นพบที่อินเดียนั้นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่น่ากังวลของทั่วโลก
    ข้อมูลจาก GISAID ที่นำเสนอในเว็บ PANGO lineages นั้นระบุว่าตอนนี้กระจายไปแล้ว 64 ประเทศทั่วโลก 
    หากมองดูภาพของ B.1.617.2 จะพบว่ามีการระบาดมากขึ้นทั้งในสหราชอาณาจักร รวมถึงทวีปเอเชีย และแน่นอนว่าเจอในไทยแล้วด้วยเช่นกัน ล่าสุดรายงานวันก่อนในข่าวว่าพบกระจายไป 10 จังหวัด
    ทั้งนี้ น่าจับตามองว่าจะแพร่ไปเทียบเท่าหรือมากกว่าสายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ที่ค้นพบที่สหราชอาณาจักรที่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่ครองการระบาดอยู่ทั่วโลกได้หรือไม่
    สายพันธุ์ B.1.1.7 นี้คือสายพันธุ์ที่ไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยสายพันธุ์นี้มีการแพร่ระบาดไปแล้วถึง 135 ประเทศทั่วโลก
    โดยหากดูจากภาพของ B.1.1.7 จะพบว่าทวีปต่างๆ ดูจะเป็นช่วงขาลง ยกเว้นอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และเอเชีย
    อย่างที่เคยแลกเปลี่ยนไปแล้วว่า สายพันธุ์ที่น่ากังวลเหล่านี้มักมีโอกาสที่ทำให้เกิดการระบาดวงกว้าง จากความสามารถที่แพร่ได้ไวกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมถึงติดเชื้อแล้วตายมากขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิม จะโดยผลจากเชื้อโดยตรงต่อร่างกาย หรือการที่เชื้อบางสายพันธุ์ดื้อต่อการรักษาและดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
    การป้องกันจึงสำคัญมาก ทั้งมาตรการป้องกันของตัวเราทุกคน ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ กัน แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ นโยบายและมาตรการระดับประเทศ ที่ต้องลดความเสี่ยง ไม่นำพาหรือเปิดโอกาสให้เชื้อสายพันธุ์ต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาภายในประเทศได้ 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
    บทเรียนต่างประเทศชี้ให้เห็นมามากแล้ว แต่หากมีผู้ใดกลุ่มใดที่ใดยังจะหาญกล้า ปรามาสว่าไวรัสกระจอก เอาอยู่ หรือมั่นใจว่าคนเงินของเพียงพอในการจัดการควบคุมป้องกันโรคให้อยู่หมัดได้ คงต้องถือว่าผู้นั้นกลุ่มนั้นที่นั้นมีความพิเศษเอกอุ เป็นกรณีศึกษาของประชาคมโลกตราบนานเท่านาน
    ด้วยรักและห่วงใย
    ทั้งนี้ อย่างที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เคยนำเสนอไปแล้วโควิดสายพันธุ์อินเดียเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง ผ่านการนำเสนอบทความจาก "หมอธีระ" ซึ่งระบุว่า สิ่งหนึ่งที่กังวลกันมากคือ การดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ประเทศไทยใช้กันอยู่ โดยโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์อินเดียนั้น มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
    ข้อมูลการวิจัยจากสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ 5 เมษายน 2564 ถึง 16 พฤษภาคม 2564 พบว่า หลังฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ครบสองเข็มไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์จะสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์ B.1.672 (เดลต้า, อินเดีย) ได้ 88% ซึ่งลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7, สหราชอาณาจักร) ได้ 93%

    ในขณะที่หากฉีดวัคซีน AstraZeneca ครบสองเข็มจะป้องกันสายพันธุ์อินเดียได้ 60% ซึ่งลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อังกฤษได้ 66% 
    สิ่งสำคัญคือ เมื่อประเมิน ณ 3 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนไปเพียงเข็มเดียว ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์อินเดียจะได้เพียง 33% ซึ่งลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อังกฤษได้ 50% 
    นอกจากนี้  น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ก็ได้เคยโพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุว่า ต้องระวัง พบติดโควิดไวรัสเดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดียมากถึง 235 ราย คิดเป็น 6% ใน 10 จังหวัด
    ประเด็นที่ "หมอเฉลิมชัย" กล่าวถึงก็คือ ที่ต้องให้ความสนใจหรือระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะไวรัสสายพันธุ์อินเดียเมื่ออยู่ร่วมกับสายพันธุ์อังกฤษ  จะมีการแพร่ได้เร็วกว่าถึง 40% จึงขยายตัวและครอบครองพื้นที่การติดเชื้อส่วนใหญ่ไว้ได้ ดังที่ปรากฏในประเทศอังกฤษ  ซึ่งเดิมอังกฤษเอง ก็เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจากจีน ต่อมาเมื่อมีกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่า 70% ก็ครอบครองการติดเชื้อของอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีสายพันธุ์อินเดียเข้ามา ก็ครอบครองแทนสายพันธุ์อังกฤษเดิม

    สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สายพันธุ์อินเดียดูท่าทางจะไม่ค่อยกลัววัคซีน ทั้งของ Pfizer (ไฟเซอร์)และ AstraZeneca (แอสตร้าเซนเนก้า) จึงทำให้อังกฤษ ซึ่งฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งไปแล้วถึง 60% นั้น ตอนที่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ก็ทำให้จำนวนติดเชื้อและจำนวนเสียชีวิตลดลง แต่เมื่อผู้ติดเชื้อเริ่มพบเป็นสายพันธุ์อินเดีย ก็เริ่มกลับมามีผู้ติดเชื้อมากขึ้นอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :