เคาะราคากลางฉีดวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็ม 3,800 บาท

07 มิ.ย. 2564 | 08:15 น.

สมาคม รพ.เอกชน เคาะราคากลางค่าบริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็ม 3,800 บาท ขณะที่มีรายงาน ระบุ คนไทยแห่จองฉีดวัคซีนโมเดอร์นาทะลุ 2 ล้านราย

7 มิถุนายน 2564 มีรายงานแจ้งว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมในช่วงเช้าวันนี้ว่า กำหนดราคากลางค่าบริการวัคซีนทางเลือก วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ที่จะจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่เข็มละ 1,900 บาท หรือ ครบโดส 2 เข็มราคา 3,800 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รวมค่าวัคซีนและค่าบริการของโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งขณะนี้กำหนดการส่งมอบวัคซีนของโมเดอร์นายังคงเป็นไปตามเดิมคือในราวเดือน ต.ค.นี้

ทั้งยังมีรายงานว่า  สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้กำหนดราคาให้บริการสำหรับประชาชนที่มีความประสงค์ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาล ซึ่งราคาในการให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาดังกล่าวเป็นราคาสุทธิที่รวมต้นทุนวัคซีน อัตราค่าบริการของโรงพยาบาล และประกันวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดแล้ว

อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า ขณะนี้การนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาในการประชุมวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดการเริ่มส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาจากตัวแทนจำหน่ายยังคงเป็นในช่วงต้นไตรมาส 4/64 หรือในช่วงเดือนต.ค. 64 โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปริมาณรวม 10 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยเข้ามาล็อตแรก 4 ล้านโดส จำนวน 3 ครั้ง ในช่วงเดือน ต.ค. 64 และจะเข้ามาอีก 1 ล้านโดสในช่วงต้นปี 65 และที่เหลืออีก 5 ล้านโดสสุดท้ายจะทยอยเข้ามาต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้รายงานก่อนหน้านี้ โดย นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG  เปิดเผยว่า หลังเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มียอดผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนกว่า 8 แสนราย แสดงให้คนไทยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนมาก แม้จะต้องรอวัคซีนเข้ามาและให้บริการฉีดได้ในปลายเดือนกันยายนก็ตามที 

“จนถึงปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงฉีดวัคซีนโมเดอร์นาแล้วกว่า 1.8 ล้านราย แบ่งเป็น กลุ่มองค์กรต่างๆกว่า 1 ล้านราย และประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนเข้ามาผ่านไลน์@THG อีกกว่า 8 แสนราย และคาดว่าจะยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” 

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่เปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในวันแรกมีผู้สนใจลงทะเบียนกว่า 1 แสนราย และเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 แสนรายภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 วัน สำหรับการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาของเครือโรงพยาบาลธนบุรี จะมีค่าบริการฉีดวัคซีน 2,000 บาทต่อเข็ม ไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์ประมาณ 300-500 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีการตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ต้องการด้วย โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะยังไม่ต้องโอนเงินแต่อย่างใด 

ขณะที่นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า โรงพยาบาลวิมุต เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เปิดให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงในการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยล็อตแรกคาดว่า จะเริ่มเข้าไทยในเดือนตุลาคม ส่วนราคาขณะนี้แม้จะยังสรุปไม่ได้แต่จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะราคา 1,200-1,600 บาทต่อเข็ม 

“หลังเปิดให้ลงทะเบียนมีผู้สนใจเข้ามาแสดงความจำนงฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเป็นจำนวนมาก เกินกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ แต่ขอไม่เปิดเผยตัวเลข เพราะประเมินว่า การตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนยังขึ้นอยู่กับระยะเวลา หากวัคซีนมาช้าคนก็อาจจะไปฉีดวัคซีนอื่นแทนได้ อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนทุกยี่ห้อที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.”

ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้ติดต่อไปยังตัวแทนจำหน่ายวัคซีนหลายยี่ห้อ ทั้งไฟเซอร์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน  และโมเดอร์นาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนเมื่อสมาคมโรงพยาบาลเอกชนบรรลุข้อตกลงกับองค์การเภสัชกรรม ทางโรงพยาบาลจึงสั่งจองกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยโรงพยาบาลพร้อมสนับสนุนการฉีดวัคซีนทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกเต็มที่ 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตลอดเดือนมิถุนายนนี้จะมีวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตทยอยส่งเข้ามา 4 ล็อต โดยต้นสัปดาห์ จะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 2.4 แสนโดส  ซิโนแวค 7 แสนโดส ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าอีก 1 ล้านโดส และในกลางเดือนจะมีวัคซีนเข้ามาอีก 5-6 ล้านโดสเพื่อกระจายทั่วประเทศ พร้อมเริ่มต้นฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ในวันที่ 7 มิ.ย. นี้เป็นต้นไป ยังไม่นับรวม วัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม”  ซึ่งนำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อีก 1 ล้านโดส ที่จะเดินทางมาถึงไทยในเดือนมิ.ย. นี้เช่นกัน

ทั้งนี้ แม้จะมีวัคซีนทยอยออกมาแต่ปริมาณวัคซีนโดยรวมก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการฉีดของคนไทยจึงมีเสียงเรียกร้อง “วัคซีนทางเลือก” ต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคเอกชนรายใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการนำเข้าวัคซีนทางเลือก ทั้งซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และวัคซีนอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติ โดยยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อฉีดให้กับบุคลากร พนักงานและครอบครัว รวมถึงกลุ่มองค์กร โดยไม่มีเรียกเก็บเงินหรือนำไปจำหน่ายต่อ เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐ ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความจำนงต้องการวัคซีนทางเลือกอีก 1 ล้านโดส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง