Timeline "แผนวัคซีนโควิด" 100 ล้านโดส ทุกยี่ห้ออัพเดทล่าสุดที่นี่ 

02 มิ.ย. 2564 | 11:11 น.

Timeline "แผนวัคซีนโควิด" 100 ล้านโดส ทุกยี่ห้อ "Astrazeneca-Sinovac-Pfizer-J&J" อัพเดทล่าสุดที่นี่ 

วันที่ 2 มิ.ย. 64 องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (World Health Organization Thailand) จัดเวทีให้ความรู้สื่อมวลชนในประเทศไทย "การกระจายวัคซีนในประเทศไทย" ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อสนับสนุนประชาชนและภาครัฐในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 โดยเชิญตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจะมาให้ข้อมูลทางวิชาการ

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บรรยายตอนหนึ่งเรื่อง การกระจายวัคซีนในประเทศไทย พร้อมกับมีการเปิดเผยข้อมูล Timeline แผนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ข้อมูลโดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2564 

จากข้อมูลพบว่ามีเป้าหมายการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร ภายในปี 2564 ผู้ผลิต โดยแแยกเป็นรายยี่ห้อดังนี้ 

แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส

  • สถานะ ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว จัดหา 61 ล้านโดส
  • ทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564 
  • ผู้ดำเนินการ คือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค 

ซิโนแวค 10-15 ล้านโดส

  • ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว และได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน 1 ล้านโดส
  • ทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน ก.พ. 64 
  • ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ที่เหลือทยอยส่งมอบเดือนละ 3 ล้านโดส ตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นไป  
  • องค์การเภสัชกรรม และกรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการ

ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

  • อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญา
  • กำหนดส่งมอบ คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 
  • สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการ

จอห์สัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส

  • อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญา 
  • กำหนดส่งมอบ คาดว่าภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 
  • สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนยี่ห่อ Moderna SINOPHARM-BEIJING และ Sputnik V สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

Timeline "แผนวัคซีนโควิด" 100 ล้านโดส ทุกยี่ห้ออัพเดทล่าสุดที่นี่ 

นพ.นคร กล่าวว่า ที่ผ่านมา การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย สถาบันวัคซีนฯ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกันจัดหาวัคซีนซิโนแวค โดยกระจายไปตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา และมีการเจรจาสั่งซื้อเพิ่มเติมต่อไปอีกตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ในวันนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก็ได้ส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้น จะมีวัคซีนแอสตร้าฯ ทยอยเข้ามา และกระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ ตามแผน

ทั้งนี้ วัคซีนแอสตร้าฯ ที่สั่งซื้อไว้ราว 61 ล้านโดส ขึ้นอยู่กับบริษัทจะจัดการส่งมอบให้ แต่เชื่อว่าเกือบทั้งหมดมาจากไซต์การผลิตในประเทศไทย เพราะข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับแอสตร้าฯ ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อความยืดหยุ่นในการรับวัคซีนจากทุกแหล่งผลิตของบริษัท แอสตร้าฯ เพราะเราเจาะจงจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ขาดความยืดหยุ่น ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนก็จะไม่เป็นผลดี

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

สำหรับการจัดหาวัคซีนชนิดอื่นๆ ตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่หารือร่วมกับคณะกรรมการวิชาการ สธ.เพื่อจัดหาวัคซีนในเป้าหมายปี 2564 รวม 100 ล้านโดส โดยขณะนี้จัดหาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ วัคซีนซิโนแวค ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนก.พ.-พ.ค.และจะมีเป้าหมายอีก 10-15 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยส่งมอบเดือนละ 2-3 ล้านโดส ในเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป

ขณะที่วัคซีนแอสตร้าฯ อีก 61 ล้านโดส ที่จะทยอยส่งมอบเช่นกัน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ กับ วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนเดียวกันคือ การเจรจาเงื่อนไขสัญญา แต่จำนวนที่สั่งซื้อวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้ผลิตจะจัดหาวัคซีนให้ได้

“ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เราอยากไป แต่เป็นตัวเลขมากที่สุดที่เขาจะจัดการให้เราได้ในปี 2564 โดยไฟเซอร์ จะสามารถส่งให้เราได้ในไตรมาส 3 ราว 20 ล้านโดส และ จอห์นสันฯ จะส่งให้เราช่วงปลายไตรมาส 3 หรือ 4 ราว 5 ล้านโดส ขณะนี้รวมที่เรามีวัคซีนแล้ว คือ วัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคอีก 6 ล้านโดสที่ส่งมอบแล้ว และที่จัดหาจากผู้ผลิตอื่น คือ วัคซีนซิโนแวค 15 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส วัคซีนจอห์นสันฯ อีก 5 ล้านโดส ดังนั้นปี 2564 ก็จะมีวัคซีนราวๆ 100 ล้านโดส” นพ.นคร กล่าว