กทม.-ปริมณฑลติดเชื้อใหม่ทะลัก ยอดพุ่งแซงทุกจังหวัดรวมกัน

04 พ.ค. 2564 | 07:00 น.

แต่งตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล” นายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์เอง เพื่อบูรณาการงานโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ที่มีการติดเชื้อเกินกว่าครึ่งของประเทศ

4 พ.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) หรือ ศบค. ยอมรับพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ( 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี) เป็นพื้นที่มีการติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่พุ่งแรงที่สุด โดยจากสถิติที่รวบรวมรายวันตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.มานี้ พบว่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในพื้นที่กทม.และปริมณฑล นั้นสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆอีก 73 จังหวัดรวมกัน มาอย่างต่อเนื่อง เช่น

  • วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา กรุงเทพฯและปริมณฑล มียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 989 ราย ขณะที่ 73 จังหวัดรวมกัน มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 895 ราย 
  • วันที่ 2 พ.ค. 2564 กทม.และปริมณฑลมียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,022 ราย ขณะที่ 73 จังหวัดรวมกัน มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 908 ราย
  • วันที่ 3 พ.ค. 2564 กทม. และปริมณฑลมียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,164 ราย ขณะที่ 73 จังหวัดรวมกัน มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 876 ราย 
  • วันที่ 4 พ.ค. 2564  กทม. และปริมณฑลมียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 956 ราย ขณะที่ 73 จังหวัดรวมกัน มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 794 ราย

กทม.-ปริมณฑลติดเชื้อใหม่ทะลัก ยอดพุ่งแซงทุกจังหวัดรวมกัน

โดยส่วนหนึ่งยอดที่พุ่งแรงมาจากคลัสเตอร์ใหม่ ๆในกทม.และปริมณฑล ซึ่งรวมถึงพื้นที่ “ชุมชนแออัด” ในกทม. หลายพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเน้นการป้องกันในเชิงรุกตามชุมชนแออัดพื้นที่ต่าง ๆ และขอความร่วมมือประชาชนในชุมชนมาเข้ารับการตรวจหาเชื้อซึ่งหากพบผู้ติดเชื้อก็จะได้ประสานงานในการรับตัวผู้ป่วยมารักษาได้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างการติดเชื้อในเขตชุมชนแออัด 6 แห่งของแขวงลุมพินี กทม.

นอกจากนี้ โฆษกศบค. ยังกล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดในกทม.และเขตปริมณฑล ในการประชุมศบค. นัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. ยังได้นัดประชุมพิเศษเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เข้ามาหารืออย่างเร่งด่วน โดยมี 2 ประเด็นใหญ่ ดังนี้ คือ

1. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อบูรณาการงานโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็นงานใหญ่เพราะติดเชื้อเกินกว่าครึ่ง(ของประเทศ) และยกระดับมาตรการ โดยได้ตั้งชื่อว่า “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล” โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้ด้วยตัวเอง และ

2.มีการหารือถึงโครงสร้างของศูนย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ 50 เขต ซึ่งจะต้องมี “ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระดับเขต” โดยมีผอ.เขตเป็นผู้อำนวยการศูนย์ จะเหมือนกับจังหวัดต่างๆ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและมีนายอำเภอ เป็นต้น

ทั้งนี้ จะมีการแบ่งปฏิบัติการเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายตรวจปฏิบัติการเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายจัดการพื้นที่ ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน เป็นต้น “นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะกทม.มีประชากร รวมประชากรแฝงอีก 10 ล้านคน จึงต้องมีการวางแผนทั้งหมด” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง