ติดเชื้อโควิด-19 ระดับพันคน หมอธีระห่วงศักยภาพระบบสุขภาพใกล้เกินขีดจำกัด

28 เม.ย. 2564 | 02:25 น.
อัพเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2564 | 09:23 น.

ติดเชื้อโควิด-19 ระดับพันคน หมอธีระห่วงศักยภาพระบบสุขภาพใกล้เกินขีดจำกัด แนะปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางการจัดการให้ทันเงื่อนเวลา

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า สถานการณ์ทั่วโลก 28 เมษายน 2564

ทะลุ 149 ล้านไปแล้ว ในขณะที่อินเดียทำลายสถิติเดิม ติดเพิ่มกว่าสามแสนหกหมื่นคน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันสูงที่สุดในโลก เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มถึง 851,000 คน รวมแล้วตอนนี้ 149,293,514 คน ตายเพิ่มอีก 14,778 คน ยอดตายรวม 3,147,223 คน

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินเดีย บราซิล อเมริกา ตุรกี และฝรั่งเศส

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 47,483 คน รวม 32,922,528 คน ตายเพิ่ม 805 คน ยอดเสียชีวิตรวม 587,304 คน อัตราตาย 1.8%

อินเดียกำลังจะเกิน 18 ล้าน วันเดียวติดเพิ่มมากถึง 362,902 คน รวม 17,988,637 คน ตายเพิ่ม 3,285 คน ยอดเสียชีวิตรวม 201,165 คน อัตราตาย 1.1%

หากจำกันได้ อัตราตายของอินเดียเดิมค่อนข้างน้อยมาก แต่ระลอกนี้แพร่เร็ว จำนวนคนติดเชื้อมากเกินกว่าระบบสุขภาพจะดูแลได้ โรงพยาบาลต่างๆ ขาดทั้งคนเงินของ เตียงไม่พอ หยูกยาไม่พอ ออกซิเจนไม่พอ จำนวนเสียชีวิตจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คงต้องเอาใจช่วยเค้าให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้โดยเร็ว นานาชาติเริ่มทยอยส่งทรัพยากรที่จำเป็นไปช่วยเหลือ

บราซิล ติดเพิ่ม 71,107 คน รวม 14,441,563 คน ตายเพิ่มถึง 2,818 คน ยอดเสียชีวิตรวม 395,022 คน อัตราตาย 2.7%

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 30,317 คน ยอดรวม 5,534,313 คน ตายเพิ่ม 333 คน ยอดเสียชีวิตรวม 103,603 คน อัตราตาย 1.9%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 8,053 คน รวม 4,779,425 คน ตายเพิ่ม 392 คน ยอดเสียชีวิตรวม 108,980 คน อัตราตาย 2.3%

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ตอนนี้ตุรกีติดราวสี่หมื่นคนต่อวัน ตัดสินใจล็อคดาวน์เพื่อคุมการระบาดระลอกสามนี้ ทำให้ผ่านช่วงพีคของการระบาด กำลังอยู่ในขาลง คาดว่าจะใช้เวลาอีก 4 สัปดาห์จะเข้าสู่ช่วงที่กดการระบาดได้คงที่

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

ล่าสุดญี่ปุ่นรายงานว่าตรวจพบสายพันธุ์ของอินเดียจากการตรวจที่สนามบิน 20 คน และในเมืองอีก 1 คน คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่อการควบคุมการระบาดของเค้าหรือไม่ ส่วนมาเลเซียนั้น ตอนนี้เป็นขาขึ้นระลอกสามอย่างชัดเจน

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า

แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง

เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนาม นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

วิเคราะห์ภาพรวมของทั่วโลก ยอตติดเชื้อรายวันสูงสุดของระลอกล่าสุดนี้ สูงกว่าตอนต้นปีที่ผ่านมาถึง 11% โดยที่ยังอยู่ในขาขึ้น มีโอกาสที่จะมากกว่านี้ หากยังไม่สามารถควบคุมได้

ลักษณะสาเหตุของการระบาดค่อนข้างตรงไปตรงมา มีปัจจัยหลักคือ

หนึ่ง ไวรัสที่กลายพันธุ์ แพร่เร็วขึ้น รุนแรงขึ้น ตายมากขึ้น แถมเกิดขึ้นปะทุพร้อมกันหลายประเทศหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ดื้อต่อการรักษา บางสายพันธุ์ดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นโดยวัคซีน

สอง การรีบร้อนผ่อนคลายมาตรการของแต่ละประเทศ ทำให้มีคนพบปะกันมากขึ้น กิจกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น สถานที่เสี่ยงมีการประกอบการมากขึ้น ทั้งๆ ที่ยังมีการระบาดภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ประเทศใดมีจำนวนการติดเชื้อรายวันมาก จะหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่น ก็จะมีการระบาดซ้ำได้เร็วขึ้นตามลำดับ ดังที่เคยวิเคราะห์ให้เห็นมาแล้ว

สาม "ความเชื่อที่ไม่เป็นจริง" ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบดั้งเดิม ไปพร้อมกับการที่จะควบคุมการระบาดได้ ทำให้ประเมินความร้ายกาจของโรคระบาดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ทรัพยากรคนเงินของ เตียง หยูกยา หรือความสามารถของระบบที่แต่ละประเทศมีนั้น จะไม่มีทางที่จะรับมือได้หากมีการระบาดเร็วและรุนแรง

นอกจากนี้ ประการสำคัญที่สุดคือ การเข็นเศรษฐกิจภายใต้รูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งค้าขาย บริการ ท่องเที่ยว ฯลฯ แบบเดิมนั้น ไม่สามารถทำไปได้อย่างปลอดภัย หากไม่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการ การทำธุรกรรมต่างๆ ให้ลดคน ลดจำนวนครั้งในการสัมผัส ลดเวลาในการสัมผัสพบปะติดต่อ และไม่ได้ทำให้ทั้งคนทำงานและลูกค้าป้องกันตัวอย่างถาวร สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง

สี่ อาวุธที่แต่ละประเทศมีใช้นั้น หลักๆ คือ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคยังมีจำกัด และมีประสิทธิภาพที่ยังไม่ดีมากนัก บางประเทศมียาที่ได้รับการพิสูจน์วิจัยชัดเจน แต่บางประเทศใช้ยาที่อาจยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์เพียงพอ ทำให้ผลการดูแลรักษาแตกต่างกันไป อัตราตายก็แตกต่างกันไป ในขณะที่วัคซีนที่ใช้ป้องกันนั้น ก็มีแตกต่างกันไปเช่นกัน ทั้งในเรื่องชนิดที่เลือกใช้ จำนวนวัคซีนที่มี ความครอบคลุมที่ฉีดได้ ทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันมาก

สำหรับสถานการณ์ไทยเรานั้น ระบาดกระจายทั่ว ทุกเพศทุกวัย คนติดเชื้อวัยเด็กและวัยทำงานนั้นมากกว่าครั้งก่อนๆ

การดำเนินโรคภายหลังการติดเชื้อ เห็นกันได้ชัดว่า ป่วยกันมากขึ้น รุนแรงขึ้น เร็วขึ้น และตายกันมากขึ้น ควบคู่ไปกับศักยภาพของระบบสุขภาพที่กำลังจะเกินขีดจำกัดหากปล่อยให้ติดเชื้อระดับพันคนแบบนี้ไปอย่างต่อเนื่อง

เรื่องกลไกนโยบายและแนวทางการจัดการนั้น ได้ย้ำเตือนไปหลายครั้งแล้ว และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเงื่อนเวลาที่มีไม่มาก

สิ่งที่ประชาชนอย่างเราจะทำได้คือ การป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเต็มที่ อย่าให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ

สถานที่ทำงาน ร้านอาหาร โรงอาหาร ศูนย์อาหาร ห้าง ขนส่งสาธารณะ รวมถึงที่พักอาศัย ทั้งในรูปแบบบ้านเรือน คอนโด แฟลต อพาร์ตเมนท์ หอพัก และชุมชนแออัดต่างๆ จะเป็นจุดเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดได้

ขอให้ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ ใส่หน้ากากเสมอ ใส่สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า จะช่วยให้ป้องกันได้ดีขึ้น พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ล้างมือบ่อยๆ หลังจับสิ่งของสาธารณะ ระวังเรื่องสุขาสาธารณะ ปิดฝาก่อนชักโครก ล้างมือทุกครั้ง และใส่หน้ากากเสมอ เลี่ยงการกินดื่มในร้านอาหารโรงอาหาร ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า งดท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดงาน แล้วรีบไปตรวจรักษา หากพอมีกำลัง ขอให้ช่วยเหลือแบ่งปันแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ หรือแม้แต่การจ้างงานเล็กๆ น้อยๆ ตามสมควร ศึกนี้ยาว และส่งผลกระทบยาวด้วย แต่หากเราร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน จะผ่านพ้นไปได้

การประหยัด...รัดเข็มขัด...ลดการนำเข้า...เน้นใช้ของไทย จำเป็นที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นวาระสำคัญของประเทศ

ประเทศไทยต้องทำได้ครับ

ด้วยรักและห่วงใยเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :