หมอศิริราชห่วงเศรษฐกิจพังหลังการแพทย์ล่มรุนแรงกว่าล่ม (ชั่วคราว) ก่อนการแพทย์จะพัง

20 เม.ย. 2564 | 13:15 น.

หมอศริราชห่วงเศรษฐกิจพังหลังการแพทย์ล่ม น่าจะรุนแรงกว่าเศรษฐกิจล่ม (ชั่วคราว) ก่อนการแพทย์จะพัง หลังโควิด-19 ระลอกสามระบาด

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล)

หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-17 เม.ย.) น่าจะเป็นนิวไฮของประเทศไทยแล้ว เพราะมีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รวมแล้วราว 12,000 คน (หนึ่งในสามอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล) ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง ลองมาไล่เรียงกัน

เดิมที่ผมเคยประมาณการไว้ว่าเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมดทั่วประเทศ (โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลเฉพาะกิจหรือ hospitel และโรงพยาบาลสนาม) ถ้าเพิ่มแบบเต็มที่ในก๊อกสอง (surge capacity) โดยให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยกับทุกฝ่าย ควรจะอยู่ที่ราว 25,000 เตียง ขณะนี้เราใช้ไปแล้วอย่างน้อยราวครึ่งหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ตกค้างมาจนถึงวันนี้ (ตามตัวเลขข้างต้น) และจะยังถูกใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 5-7 วันสำหรับกลุ่มตกค้างนี้ ตามนโยบายการขยายเวลาอยู่โรงพยาบาลสำหรับการระบาดระลอกนี้จาก 10 เป็น 14 วัน

นั่นหมายความว่าในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ควรจะต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คน เพราะเราจะต้องงัดก๊อกสามมาใช้เมื่อเตียงในเค้าหน้าตักหมดไปถึง 80% มิเช่นนั้นจะเตรียมการใช้งานก๊อกต่างๆ ได้ไม่ทันเมื่อถึงเวลาเข้าจริง (80% ของ 12,500 คือ 10,000) สำหรับในส่วนของยาที่ใช้รักษารายที่ปอดอักเสบชัดเจน (ฟาวิพิราเวียร์ : Favipiravir) ที่หลายคนเป็นห่วง และชุด PPE รวมไปถึงเตียงไอซียูโควิด ในประเทศขณะนี้น่าจะมีเพียงพอรับมือผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ได้อีกอย่างน้อย 20,000 คน

แล้วก๊อกสามคืออะไร ก็น่าจะเป็นการลดเวลาอยู่โรงพยาบาลเหลือ 7-10 วัน และให้รายที่พร้อมไปแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) ต่อจนครบ 14 วัน หรือไม่ก็ต้องใช้การคัดเลือกผู้ป่วยรายใหม่ที่มีความพร้อมและมีความเสี่ยงโรครุนแรงน้อยให้แยกกักตัวที่บ้านโดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเข้าไปเพื่อกระบวนการคัดเลือก รวมถึงอาจต้องให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่มีความพร้อมและมีความเสี่ยงโรครุนแรงน้อยไม่ต้องมาตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล แต่ให้แยกกักตัวสังเกตอาการที่บ้าน (home quarantine) ได้เลย ถ้าอาการมากขึ้นจึงจะรับตัวเข้าเตียงโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยทุกกรณีในก๊อกสามนี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและติดตามของระบบภาคการแพทย์

แต่ถ้าก๊อกสามทำได้ไม่สมบูรณ์หรือหมดก๊อกสามแล้ว ความพร้อมภาคการแพทย์ที่พวกเราหวังไว้อยากให้ผลลัพธ์เป็นเหมือนในสองระลอกที่ผ่านมา น่าจะล่มสลายจนอาจเกิดภาพที่เราไม่อยากเห็นเหมือนในหลายๆ ประเทศ และอาจจะช่วยพิสูจน์ความเชื่อของพวกเราที่ว่า เศรษฐกิจที่พังหลังภาคการแพทย์ล่ม น่าจะรุนแรงกว่าเศรษฐกิจที่ล่ม (ชั่วคราว) ก่อนภาคการแพทย์จะพัง

สัปดาห์หน้านี้ คงจะวัดใจของภาคความมั่นคงผู้ตัดสินนโยบายว่าจะไปทางไหนกันต่อ วัดใจภาคประชาชนว่าจะสามารถร่วมมือหยุดเชื้อเพื่อชาติกันได้สำเร็จหรือไม่ ส่วนภาคการแพทย์นั้นไม่ว่าภาคความมั่นคงหรือภาคประชาชนจะเลือกเดินกันทางไหนก็ตาม พวกเราจะพยายามทำหน้าที่กันสุดฤทธิ์สุดเดช เพื่อไม่ให้เขื่อนแตกก่อนที่จะใช้ศักยภาพจนหมดก๊อกสาม

#เจ็ดวันอันตราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :