4 ปัจจัยหลักโควิด-19 ระบาดซ้ำ หมอธีระชี้ทุกประเทศต้องวิเคราะห์ทบทวนเพื่อขันน็อต

20 เม.ย. 2564 | 03:15 น.

4 ปัจจัยโควิด-19 ระบาดซ้ำ หมอธีระชี้ทุกประเทศจำเป็นต้องวิเคราะห์ทบทวนเพื่อหาทางขันน็อต

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า สถานการณ์ทั่วโลก 20 เมษายน 2564

อินเดียมีจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันสูงที่สุด ก่อนหน้านี้เป็นบราซิล ล่าสุดกรุงนิวเดลีล็อคดาวน์เพราะระบบสาธารณสุขเริ่มจะรับไม่ไหว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 691,320 คน รวมแล้วตอนนี้ 142,676,814 คน ตายเพิ่มอีก 10,163 คน ยอดตายรวม 3,042,348 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 47,020 คน รวม 32,468,277 คน ตายเพิ่ม 442 คน ยอดเสียชีวิตรวม 581,522 คน อัตราตาย 1.8%

อินเดีย ติดเพิ่มมากถึง 256,947 คน รวม 15,314,714 คน ตายเพิ่ม 1,757 คน ยอดเสียชีวิตรวม 180,550 คน อัตราตาย 1.2%

บราซิล ติดเพิ่ม 34,642 คน รวม 13,977,713 คน ตายเพิ่มถึง 1,607 คน ยอดเสียชีวิตรวม 375,049 คน อัตราตาย 2.7%

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 6,696 คน ยอดรวม 5,296,222 คน ตายเพิ่ม 447 คน ยอดเสียชีวิตรวม 101,180 คน อัตราตาย 1.9%

รัสเซีย ติดเพิ่ม 8,589 คน รวม 4,710,690 คน ตายเพิ่ม 346 คน ยอดเสียชีวิตรวม 105,928 คน อัตราตาย 2.2%

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า

แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง

เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนาม และนิวซีแลนด์ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

หากเราตามสถานการณ์ทั่วโลกจะพบว่า การระบาดซ้ำของประเทศต่างๆ ที่รุนแรงและก่อให้เกิดผลกระทบมากมายนั้น มักเกิดจากปัจจัยหลักที่คล้ายคลึงกัน จะมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปในแต่ละที่ ได้แก่

หนึ่ง การนำเข้าโดยระบบที่อาจมีช่องโหว่

สอง การผ่อนคลายให้มีการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยไม่สามารถติดตาม ตรวจตรา กำกับ ให้คนมีพฤติกรรมป้องกันตัวอย่างเข้มแข็งเพียงพอ หรือไม่สามารถควบคุมกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเกิดพฤติกรรมเสี่ยงสูงได้ กว่าจะรู้ตัวก็ลุกลามไปมาก

สาม รูปแบบการประกอบกิจการด้านต่างๆ มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แม้จะมีระเบียบก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพียงพอ

สี่ ศักยภาพของระบบการตรวจโรคที่มีไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการจริงในสถานการณ์ระบาดรุนแรง ควบคู่ไปกับข้อจำกัดของคนเงินของหยูกยาและอุปกรณ์ต่างๆ

ทั้งนี้ แต่ละที่แต่ละประเทศก็จำเป็นจะต้องไปวิเคราะห์ทบทวน เพื่อหาทางขันน็อต เสริมสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตามบริบทของตนเอง การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น น่าจะลุล่วงไปได้ หากใช้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้สึก ใช้หลักฐานที่โปร่งใส...ชัดเจน...พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ความเชื่อ การทำในแนวทางดังกล่าว จะช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จ และลดโอกาสผิดพลาดเพลี่ยงพล้ำ

สำหรับประชาชนอย่างพวกเรา การใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่นๆ ดังที่แนะนำนั้น เป็นความรู้ที่ชัดเจน และควรนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว

ด้วยรักและห่วงใย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :