รักษาผู้ป่วย “covid-19” ยากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า 

14 เม.ย. 2564 | 09:25 น.

“หมออดุลย์” สะท้อน รักษาผู้ป่วย “covid-19” ยากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ต้องสวมใส่เสื้อตะกั่วซึ่งหนักและกันรังสี แต่ที่ยากกว่าถอดออก ไม่ให้สัมผัสโรคนำทิ้งไปฆ่าเชื้อโรคหรือทำลาย

ศ.คลินิก​ นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดี​ฝ่ายสารสนเทศ​คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune ระบุว่า รักษาผู้ป่วย “covid-19” ยากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ที่ยากไม่ใช่เพราะโรคซับซ้อน หรือ หายยากเท่านั้นหรอกนะ แต่ยากตรงที่ต้องป้องกันไม่ให้ตัวเองและคนรอบข้างติดโรค ไม่พาโรค covid19 จากผู้ป่วยไปติดคนอื่น

 

เรารู้ว่า โรค covid19 ติดต่อง่าย และ เมื่อใกล้ชิด หรือสัมผัส หรือ ไอ จาม หายใจรด จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น... ในการรักษาผู้ป่วย เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่สัมผัส หรือ ใกล้ชิดผู้ป่วย ดังนั้น ความยากจึงอยู่ที่การป้องกัน ไม่ให้โรคแพร่จากผู้ป่วยมาติดที่ตัวผู้รักษา และไม่กระจายไปที่อื่น

 

เราคงได้ยินเรื่อง PPE หน้ากาก N95 และ เครื่องมือ สารพัด  ใช่เป็นของที่ หมอ และ พยาบาล ทุกคนที่จะเข้าไปสัมผัส หรือ พบผู้ป่วยต้องใส่ นอกจาก หน้ากาก(Mask) ซึ่งควรเป็น N95 ซึ่งกรองอย่างละเอียด ซึ่งหมายถึงอากาศผ่านยาก เวลาหายใจก็ยากด้วยเช่นกัน (หลายคนบอกใส่แล้วเวียนหัว) นอกจากหน้ากาก ยังมีชุด ซึ่งกันน้ำ กันอากาศผ่านคลุมทั้งตัว นั่นหมายถึง ร้อนมาก อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้ ถุงมือ และ ถุงเท้า ตามด้วยหน้ากาก หมายถึงปิดทุกส่วน

 

อุปกรณ์ของหมอ

 

“หมอและ พยาบาล จะร้อนมาก ยิ่งถ้าการรักษาผู้ป่วยต้องใช้เวลานาน เช่น ใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่าตัด หรือ สวนหัวใจ เวลาสวนหัวใจ หมอต้องใส่เสื้อตะกั่ว กันรังสี เนื่องจากระหว่างรักษาผู้ป่วยด้วยการสวนหัวใจหรือสวนหลอดเลือดสมอง ต้อง เอ็กซเรย์เป็นระยะๆ และ ไม่สามารถออกมาห่างตัวผู้ป่วยได้ จึงต้องใส่เสื้อตะกั่วซึ่งหนักและกันรังสี... เห็นไหมครับ เครื่องเครา อุปกรณ์มาครบ หนัก และ ร้อน ... ไม่เพียงแต่เท่านั้น เวลา”ใส่” ว่ายากแล้ว เวลา”ถอด”ยากกว่าครับ ต้อง ถอดชุดนี้ออกเมื่อออกมาจากห้องผู้ป่วย ต้องถอดอย่างมีเทคนิค เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ให้ร่างกายสัมผัส กับ ผิวด้านนอกของเสื้อหรือชุด หรืออุปกรณ์ ต้องถอดเสร็จ พร้อมทิ้งไปฆ่าเชื้อโรคหรือทำลายเลย

 

อุปกรณ์อีกอันหนึ่งที่เห็น คือ เครื่องพัดลมเป่าอากาศแรงดันบวก โดย ทำเหมือนเครื่องปรับอากาศ เป่าเอาอากาศ ที่กรองแล้ว เข้าไปในเสื้อ เพื่อให้ หมอที่ใส่ชุดไม่ร้อน แต่ ก็ต้องมีเครื่องติดอยู่กับตัว เหมือน แบกเป้ตลอดเวลา แบกเป้รักษาคนไข้ ตลอดเวลา

 

สำหรับการดูแลป้องกัน ไม่เพียงเท่านี้นะครับ สิ่งแวดล้อมก็ยังสำคัญ อากาศ ที่ออกจากห้องผู้ป่วย ต้องได้รับการกรอง การบำบัด สิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ป่วยใช้ ต้องถูกนำไปฆ่าเชื้อ หรือ ทำลาย ดังนั้น สำหรับผู้ป่วย covid19 ไม่ต้องนำของไปเยี่ยมไข้เลย  ของกิน ของใช้ ไม่สามารถเอาไปให้คนอื่น ได้ ต้องทิ้งอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ทิ้ง ยังต้อง กำจัดแบบขยะติดเชื้ออีกต่างหาก (ต้นทุนและขั้นตอนในการทำลาย สูงกว่าปกติหลายเท่าครับ) น้ำที่ผู้ป่วยใช้ ทั้งอาบน้ำ และ จากห้องน้ำ ต้องได้รับการบำบัด ฆ่าเชื้อโรค ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก

 

“เห็นไหม การป่วยเป็น "covid-19" แค่คนเดียว ก็มีงานที่ทำให้การรักษา ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นมากเพียงไหน และ ยิ่งเยอะคน งานก็ยิ่งยากขึ้นมากเท่านั้นครับ นี่ยังไม่รวมเรื่องค่าใช้จ่ายที่มากมายมหาศาล ป่วยให้น้อยที่สุดดีที่สุด safe คน safe สิ่งแวดล้อม safe ประเทศ ... ช่วยกัน ป้องกันไม่ให้ติดโรค ไม่ให้แพร่โรคกัน”

 

"Covid-19" รอบนี้รุนแรงกว่าทุกรอบ อย่าคิดว่า รอบนี้คนป่วยส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว จะปลอดภัย ไม่เป็นไร สถิติพบปอดอักเสบ ใน covid19 รอบเดือน เมษายน 2564 นี้ ในสัดส่วนที่สูงกว่า ทุกรอบ  ในระยะแรก อาจจะคิดว่าไม่เป็นไร แต่ จากข้อมูลของแพทย์ที่ดูแล พบว่า อาการรุนแรง ปอดอักเสบรุนแรง พบสูงขึ้นกว่า ทุกรอบ ปกติ คนไข้ป่วยหนักจะอยู่ที่ 20% แต่รอบนี้สูงถึง 30%

ไม่ตระหนก แต่ควรจะเลิกความคิดที่ว่า ติด "covid-19" ก็ไม่เป็นไร เพราะเราเป็นคนหนุ่มสาว แข็งแรง  ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ก็ไม่มีอาการ เหมือนคนที่เดินทาง โดยรู้ว่าตัวเองเป็นโรค ถ้าคิดว่า คงไม่เป็นไร แป๊บเดียว นั่นคือ หายนะ

ไม่มีคำว่า แปบเดียว ถอนหน้ากาก แปบเดียว คุยกัน แปบเดียว  เจอพ่อแม่ แปบเดียว ขึ้นรถ แปบเดียว ... ไปกินข้าวด้วยกัน มื้อเดียว ... เราสุขภาพ​แข็งแรง​ ไม่เป็นไรหรอก ... เราคงจะไม่ใช่คนโชคร้าย ... คำว่า “ไม่เป็นไร” คือ หายนะ

รอบนี้รุนแรงจริงครับ ทั้งติดง่าย ติดเร็ว และรุนแรง อย่าประมาท ช่วยกันนะครับ​ อดทน​ อีก​ 2-4 สัปดาห์... การ์ดสูงๆ​