“ตลาด-ชุมชนรอบตลาด” แบบไหน เสี่ยงภัยโควิด

29 มี.ค. 2564 | 06:51 น.

ตลาดและชุมชนรอบตลาดในเขตกทม. หลายแห่ง อาจกลายเป็นจุดแพร่ระบาด หรือคลัสเตอร์การติดเชื้อโควิด-19 ที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป สธ. และกทม. ได้ร่วมมือกันลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 29 มี.ค.64 เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ตลาดและชุมชนรอบตลาด ในเขตกรุงเทพมหานครบางแห่งได้กลายเป็น จุดเสี่ยงที่มีการกระจายของโรคระบาดโควิด-19 เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับย่านตลาดบางแค ตลาดย่านปทุมธานี และตลาดเขตสะพานสูง เป็นต้น

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค.

เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อการป้องกันและวางแผนควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทางสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ทำการสัมภาษณ์ผู้ดูแลตลาด ร้านขายของชำ และตัวแทนชุมชน พบข้อมูลน่าสนใจ ที่อาจเป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่นำไปสู่สภาวะความเสี่ยงที่ตลาดและชุมชนรอบตลาดจะกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

สำหรับปัจจัยก่อให้เกิด ความเสี่ยงในตลาด ประมวลได้ ดังนี้

  • แผงขายอาหารแต่ละชนิดอยู่ปะปนกัน ไม่ได้จัดหมวดหมู่ ลูกค้าและคนส่งของเข้า-ออกตลาดได้หลายช่องทาง
  • คนไทยเป็นเจ้าของแผงค้า ลูกจ้างเป็นเมียนมา โดย 1 คนรับจ้างส่งของหลายแผง บางรายขายเสร็จเที่ยงวัน ก็ให้พ่อค้าแม่ค้าเมียนมาเช่าแผงค้าต่อ
  • ลูกจ้างเมียนมาใช้รถเข็นส่งของตามแผงค้าต่าง ๆ รวมทั้งตามที่พักของลูกจ้างเมียนมา ซึ่งส่วนมากพักอยู่ห้องแถวหลังตลาด และตามหอพักต่าง ๆ
  • เจ้าของแผงค้าคนไทยบางราย พักอาศัยร่วมห้องแถวหลังตลาดกับแรงงานชาวเมียนมาที่ติดเชื้อ
  • พนักงานเก็บเงินห้องน้ำ พนักงานตลาด พนักงานรักษาความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสและติดเชื้อ
  • บางโซนไม่พบผู้ติดเชื้อเนื่องจากเจ้าของแผงรายเดิมที่ขายมานาน ไม่มีลูกจ้างเมียนมา ดูแลความสะอาดและไม่ได้ให้แรงงานเมียนมาเช่าแผงค้าต่อ อีกทั้งไม่ได้พักอาศัยร่วมกับชาวเมียนมา
  • นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมเสี่ยงทั่วไปในตลาด คือการใส่แมสก์ (หน้ากากอนามัย) ไว้ใต้คาง พูดคุยใกล้ชิดกัน มีร้องเรียกตะโกน สัมผัสใกล้ชิดกัน ถ่มน้ำลายและบ้วนน้ำหมาก ลูกจ้างเมียนมาอยู่กันเป็นกลุ่ม ใช้ห้องพักร่วมกัน

ส่วนข้อมูลที่ค้นพบจากการสำรวจ ชุมชนรอบตลาด พบว่า

  • ที่พักในซอยบางแค 1 ลักษณะเป็นทาวน์โฮมติดกันหลายซอย หนึ่งหลังมีหลายห้อง 3-4 ชั้น มีห้องน้ำรวม มีจำนวนชาวต่างชาติพักอาศัยเป็นจำนวนมาก
  • ในตึกที่พักมีทั้งคนไทย และต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว เกือบทั้งหมด ทำงานในตลาด
  • สถานที่ ไม่ถูกสุขลักษณะ มีขยะ และการบ้วนน้ำลาย ตลอดทางเดินเข้าตึกที่พัก
  • มีชุมชนคนไทย พักอาศัยอยู่โดยรอบ

อย่างไรก็ตามในส่วนของ มาตรการ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และแผนการที่จะดำเนินงานต่อไป เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยจากโควิด-19 ในตลาดและชุมชนรอบตลาดนั้น ได้แก่

  • การปิดตลาด ปรับปรุงสุขาภิบาล โดยความร่วมมือของเจ้าของ ตามมาตรการกรมอนามัย
  • การฉีดวัคซีนโควิด-19 เสริมภูมิคุมกันให้กับพ่อค้าแม่ค้า ผู้ใช้แรงงานทั้งไทยและต่างด้าว และผู้ที่อยู่ในชุมชนรอบตลาด
  • มาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
  • การออกบัตรรับรองผล การตรวจโควิดก่อนอนุญาตให้เข้าขายของในตลาด มีการติดตามตรวจซ้ำ 1 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดไทม์ไลน์ “กาฬสินธุ์ไข่แตก” พบผู้ติดเชื้อหญิงรายแรกของจังหวัด

ยอดติดเชื้อโควิด 29 มี.ค.64 รายใหม่ 39 สะสม 28,773 ราย

กทม.พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 48 ราย จากบางแค 33 ราย

ภูเก็ตระดมฉีดวัคซีน"ทุกคน"รับเปิดเกาะ

ยอดโควิด 29 มี.ค.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 4.69 แสนราย สะสม 127.74 ล้านราย