ตะลึงแรงงานต่างด้าวใน “สถานกักตัวของตม.” ติดโควิดเพิ่มถึง 297 ราย

22 มี.ค. 2564 | 08:36 น.

ศบค.แถลงผลประชุมชุดเล็ก พบแรงงานต่างด้าวในสถานกักตัวของตม. 2 แห่ง ติดโควิดเพิ่มอีก 297 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก วันนี้ (22 มี.ค.) ได้รับทราบการ รายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ศูนย์กักสวนพลู และศูนย์กักบางเขน พบผู้ติดเชื้ออีก 297 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ซึ่งตัวเลขอยู่ที่เพียง 98 ราย โดยระหว่างวันที่ 11-20 มี.ค.มีการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 1,888 ราย ทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง สัญชาติที่พบผู้ติดเชื้อมากสุด คือ เมียนมา รองลงมา คือ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง

"ผู้ติดเชื้อได้เดินทางข้ามมาในราชอาณาจักรไทยและถูกจับได้ จึงนำตัวไปที่ศูนย์กักสวนพลู และบางเขน ตอนนี้ทางศูนย์ฯ ได้ตัดสินใจที่จะงดรับผู้ต้องกักรายใหม่ และได้คัดแยกผู้ต้องกักที่ติดเชื้อออกไปจากส่วนใหญ่ มีการตรวจเจ้าหน้าที่-บุคลากรภายในศูนย์ฯทุกราย และเบื้องต้นยังไม่พบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ" พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้อยู่ในพื้นที่สโมสรตำรวจแล้ว โดยเตรียมไว้รองรับทั้งหมด 120 เตียง และยังสามารถขยายเพิ่มได้ถึง 250 เตียง นอกจากนี้ ได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ต้องกัก ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 70 ราย

อย่างไรก็ดี กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการควบคุมและป้องกันโรค โดยมีแผนจะเข้าตรวจผู้ต้องกักทั้ง 2 แห่ง ซ้ำในอีก 7 วัน และ 14 วันถัดไป

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ 6 เขตของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ในพื้นที่ 6 เขตที่อยู่ใกล้เคียงกับ จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย เขตภาษีเจริญ, เขตบางแค, เขตหนองแขม, เขตบางบอน, เขตจอมทอง และเขตบางขุนเทียน ซึ่งถือเป็นเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนั้น ล่าสุดได้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกไปแล้วกว่า  83,000 ราย

โดยในส่วนของการตรวจเชิงรุกในโรงงาน มีการตรวจไปแล้ว 128 แห่ง จำนวนแรงงานที่เข้ารับการตรวจเชิงรุก 21,458 ราย ผลพบติดเชื้อโควิด 77 ราย คิดเป็น 0.36% แบ่งเป็น เขตภาษีเจริญ 46 ราย, เขตบางแค 10 ราย, เขตบางบอน 9 ราย และเขตบางขุนเทียน 12 ราย

การตรวจเชิงรุกในโรงงาน มีการตรวจไปแล้ว 128 แห่ง

ขณะที่การฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ได้รับวัคซีนไปแล้ว 15,737 ราย ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถมาเข้ารับการฉีดวัคซีนได้แล้วตามสถานพยาบาลที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ของ กทม.

พญ.อภิสมัย ย้ำถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ว่า ศบค.มีความเป็นห่วงว่าจากเทศกาลที่กำลังมาถึงนี้ จะมีผลให้เกิดการแพร่ระบาดได้มากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากมีภาวะเครียดและเหนื่อยล้าจากการต้องอยู่ในสถานการณ์ของโรคระบาดมานาน ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ และต้องการจะผ่อนคลาย ซึ่งอาจจะทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดได้มากขึ้น ดังนั้น ศบค.ขอเน้นย้ำว่าไม่ได้มีการห้ามจัดเทศกาลสงกรานต์ เพียงแต่ขอให้อยู่บนมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้

"สงกรานต์จัดได้ ไม่ได้ห้าม แต่ขอให้ปลอดภัย อยู่ในมาตรการที่จังหวัดดูแลได้ และสิ่งสำคัญคือ สาธารณสุขยังมีระบบดูแลที่เพียงพอได้ กิจกรรมทางศาสนาจัดได้ พิธีกรรม งานบุญ งานแห่ การละเล่นตามประเพณีพื้นบ้าน การแสดงออกทางวัฒนธรรม ให้ไปดูไปชมเพื่อมีความสุขได้ ขณะเดียวกันต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการสวม mask เว้นระยะห่าง และทำให้สงกรานต์ปลอดภัย เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ เป็นการบริหารความเสี่ยง และความสุขควบคู่กันได้ ไม่ต้องติดโรค" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิด-19 หมอยงไขปมการกลายพันธุ์ของไวรัส

หมอธีระแนะปฏิรูปธุรกิจค้าขาย-ท่องเที่ยว-เดินทางและบริการรับมือโควิด-19 ระบาด

ยังเพิ่มต่อเนื่อง"สมุทรสาคร" ติดเชื้อโควิดอีก 33 ราย ป่วยสะสม 17,154 ราย

ยอดติดเชื้อโควิด 22 มี.ค.64 รายใหม่ 73 เสียชีวิต 1 คน

เปิดไทม์ไลน์ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายที่ 91 ของไทย เป็นผู้สูงวัยในกทม.