โควิด-19 หมอธีระวิเคราะห์การระบาดซ้ำซากในตลาด

15 มี.ค. 2564 | 02:30 น.
อัพเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2564 | 09:33 น.

โควิด-19 หมอธีระวิเคราะห์การระบาดซ้ำซากในตลาด ชี้การควบคุมป้องกันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เป็นเพียงไล่ตามโรค

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า การระบาดซ้ำซากในตลาด...

เราคงต้องยอมรับกันเสียทีว่า การระบาดกลุ่มใหญ่ในตลาดที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เกิดในหลากหลายพื้นที่หลายจังหวัด ด้วยเหตุผลเดิมๆ ที่สุดท้ายแล้วก็วิเคราะห์และอ้างเแบบเดิมตลอดมาว่าเป็นเพราะ ...สภาพแวดล้อมในตลาด กิจกรรมการทำงานค้าขายขนส่งสัมผัสใกล้ชิด และพฤติกรรมการป้องกันตัวที่หละหลวมทั้งคนค้าขายและประชาชนที่มาใช้บริการ...

              แต่สิ่งหนึ่งที่มักมองข้ามไป ไม่วิเคราะห์เจาะลึกว่า เหตุใดจึงมีสาเหตุเช่นเดิมมาตลอด ทั้งๆ ที่มีกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่บังคับใช้มาตลอด?

              1. การกำจัด source ของการติดเชื้อทำได้จริงหรือไม่?

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

              2. การบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หรือมีไว้เพียงเป็นยันต์กันผี?

แนวคิดสากลที่ยอมรับกันทั่วโลกคือ พฤติกรรมของคนเรานั้นไม่ได้ขึ้นกับเรื่องความรู้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่จะเป็นตัวชักจูง บังคับ หรือกำหนดให้มีแบบแผนพฤติกรรมได้

              ดังนั้นเมื่อเห็นเหตุการณ์ระบาดจากสาเหตุเดิมมาตลอด คนขายคนซื้อก็ไม่ป้องกัน กระบวนการทำงานและการใช้ชีวิตก็ยังแบบเดิม จึงอาจต้องทบทวนแล้วว่า ระบบและรูปแบบการดำเนินการของตลาดทั้งหมดทั่วประเทศนั้นอาจจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ปรับเล็ก แต่ต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเกิดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเดิมทั้งหมด

              ผู้ให้เช่าสถานที่ หรือเจ้าของพื้นที่ตลาดนั้น คงไม่สามารถจัดสรรพื้นที่เพื่อให้มีผู้เช่าจำนวนมากเท่าเดิมได้อีกต่อไป และการจัดการสถานที่ตลาดที่มีผลต่อคนในชุมชนทั้งหมดนั้น จำเป็นจะต้องลงทุนปรับใหญ่ หากระบายอากาศไม่ดีเพราะโครงสร้างไม่เอื้อ ก็อาจจำเป็นต้องสร้างใหม่ หรือปรับปรุงให้ระบายอากาศให้ได้ตามมาตรฐาน ไม่ใช่แค่วางที่กั้นระหว่างแผงพอเป็นพิธีแบบที่เราเห็นกันมา

              ผู้เช่าสถานที่ หรือผู้ค้า คงจำเป็นต้องมีระบบตรวจตราสุขภาพทั้งผู้ค้าและลูกจ้างอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบและกำกับพฤติกรรมการค้าขาย กำหนดจำนวนสถานที่ค้าขายไม่ให้เกิดการตะลอนหลากหลายที่โดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม การ "เตือน-ปรับ-จับ-ปิดและยกเลิกสัญญา" จำเป็นต้องทำให้ได้

ในขณะที่ลูกค้าที่ไปใช้บริการในตลาด จำเป็นต้องได้รับการคิดมาตรการที่จะกระตุ้นเตือนให้ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ผู้ค้าในตลาดก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของกิจการตนเองด้วยการงดบริการลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตัวตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค

              การทำการตรวจน้ำเสีย/น้ำทิ้งบริเวณตลาดและสุขาในตลาดเพื่อหาเชื้อโควิด-19 (Covid-19) จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตรทุกสัปดาห์

              สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เห็นกันอยู่นี้ ก็เป็นรูปธรรมที่ย้ำเตือนให้เราทราบว่า การควบคุมป้องกันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เป็นเพียงไล่ตามโรคไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันสิ้นสุด หากไม่หา root cause ให้เจอ ที่ผ่านมาเป็นเพียงกระพี้ ไม่ใช่แก่นของปัญหา

ด้วยรักและปรารถนาดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :