‘หมอบุญ’ เดือด! อัดรัฐบาลห้ามซื้อวัคซีน

10 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

“หมอบุญ” เดือด ซัดรัฐบาลสั่งเบรคห้ามโรงพยาบาลเอกชนซื้อวัคซีน ยํ้าเป็นการปิดกั้นและเป็นความโชคร้ายของคนไทย ขณะที่หลายประเทศทะยอยฉีดแล้ว แม้แต่ “เมียนมา”

หลังจากที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ลงวันที่ 8 ก.พ. 2564 เรื่องการจัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 สรุปใจความว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน วัคซีนป้องกัน COVID-19 มีปริมาณจำกัด เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งให้เกิดความปลอดภัยในระยะแรก ภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนเท่านั้น เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน โดยไม่ให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 กับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลเอกชน ที่ให้ความสนใจและสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่รัฐบาล ออกมาห้ามไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนเพื่อฉีดให้บริการแก่ประชาชนโดยอ้างว่าเป็นการรับรองฉุกเฉินและเพื่อความปลอดภัยจึงให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการเท่านั้น ถือเป็นการปิดกั้นเอกชน เพราะวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้รับวัคซีน และอาจจะต้องรอระยะเวลาถึงเดือนม.ย. และปริมาณวัคซีนที่ได้แค่ 26 ล้านโดส ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งควรจะมีความต้านทานหมู่ที่ระดับ 60-70% หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 45 ล้านคน จึงจะสร้างความมั่นใจและควบคุมการแพร่ระบาดได้

“ถ้ารอรัฐบาล กว่าจะฉีดวัคซีนได้ 60% ต้องใช้เวลา 2 ปี การห้ามโรงพยาบาลเอกชนฉีดวัคซีน ไม่ make sense จะแก้ตัวว่า เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่ได้ เพราะปัจจุบันมี 20-30 ประเทศที่ออกมารับรองและปรู๊ฟแล้วว่า ไม่อันตราย”

วันนี้มีประชาชนจำนวนมากที่มีความพร้อม มีกำลังและรอรับการฉีดวัคซีน ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ บุคลากร และแผนการจัดการ โดยเฉพาะการติดตามผลหลังฉีดต่อเนื่อง 3 เดือนเพื่อจะดูภูมิต้านทาน โรคแทรกซ้อนด้วย

“หากรัฐบาลจะห้ามอปท. เพราะไม่ต้องการให้นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เราไม่อยากยุ่ง แต่มาห้ามโรงพยาบาลเอกชนไม่ถูกต้อง ต้องแยกแยะ เพราะเป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรให้พลเมืองไทยได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานได้เร็วที่สุด เพราะหากยืดเยื้อก็จะมีคลัสเตอร์ใหม่ๆเกิดขึ้น จากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ และหากต้องรออีก 1 ปี ก็เท่ากับว่าเราต้องอยู่กับโควิดต่อไปอีก 2 ปี และไทยก็ยังต้องปิดประเทศต่อไป”

เบื้องต้น จะมีการพูดคุยร่วมกันกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหาทางออก และให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ปลอดภัยกับประชาชนทุกคน เพราะยิ่งมีผู้นำเข้าวัคซีนมาก ราคาก็จะยิ่งถูกลง ทำให้สามารถให้บริการในวงกว้าง สำหรับหน่วยงาน หรือประชาชนที่มีความพร้อมรับการฉีด เช่น สมาคมท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันติดต่อเข้ามาเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันก่อน เป็นต้น

“เมืองไทยมีอะไรแปลกๆ เยอะ หลายประเทศฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว เช่น เมียนมา ก็ฉีดแล้วกว่าล้านคน แต่ไทยยังต้องรอถึงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาถือเป็นความโชคดีของไทยที่ควบคุมโรคได้ดีพอสมควร แต่เป็นความโชคร้าย ที่เราไม่ได้วัคซีน เพราะวัคซีนจะทำให้เราปลอดภัยยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว กลับมาให้บริการได้ เพราะวันนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ยังพึ่งพิงอุตสาหกรรมบริการ (Service Industry) ถึง 20% การช่วยให้โควิดหมดไปเร็วที่สุด ย่อมเป็นผลดีทั้งนั้น หากเราพึ่งพิงอุตสาหกรรม (Industry) เยอะเราก็ไม่เดือนร้อนเท่าไร” 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจงยิบ14คำถามปมกังขา“วัคซีนโควิด-19“ นายกประยุทธ์ตอบทุกข้อ(มีคลิป)

อย.ยัน ขอขึ้นทะเบียน "วัคซีนโควิด-19" เอกสารครบถ้วนใช้เวลาพิจารณา 30 วัน

สถาบันวัคซีนฯ แจงเหตุไม่จองวัคซีนโควิดผ่าน"โคแวกซ์"

‘ท่องเที่ยว’ขอวัคซีนโควิด 5 ล้านโดส

วัคซีนโควิด-19 "หมอยง" ไขข้อสงสัยควรฉีด-ไม่ฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรดีที่สุด