"หมอธีระ" ลั่น ควรลด-ละ-เลิก-นโยบายที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำ

30 ธ.ค. 2563 | 23:15 น.

"หมอธีระ"เผย ยังไม่ใช่เวลาที่จะเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจ ในช่วงที่"โควิด"ทั่วโลกยังรุนแรง พร้อมยืนยันแนวคิดหากไทยดำเนินมาตรการเข้มข้นภายในสัปดาห์หน้าการระบาดซ้ำจะใช้เวลาต่อสู้ 88 วัน มีผู้ติดเชื้อต่อวันประมาณ 940 คน แต่หากไม่รีบยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุแน่

วันที่ 30 ธันวาคม 2563 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า 


วันนี้ 250 คน ถือว่าเยอะสุดเท่าที่ไทยเคยมีมาตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย


เป็นหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่า "เอาอยู่"นั้นเป็นวาทกรรมที่ไม่เป็นจริง


สิ่งที่จะต้องรอดูเพื่อพิสูจน์ลำดับถัดไปคือ "มีเยอะเพียงพอ จัดการดูแลได้ โรคนี้กระจอกไม่ตายหรอก" ว่าจะเป็นวาทกรรมที่เป็นจริงหรือไม่จริง อย่างน้อยตอนนี้ก็มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นไปแล้ว ในขณะที่เรื่องเยอะเพียงพอ กับจัดการดูแลได้นั้น อีก 6-8 สัปดาห์จะเห็นกัน


ตั้งแต่ระลอกแรกเป็นต้นมา มีปรากฏการณ์มากมายที่เราเห็น ตั้งแต่การปิดกั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติช้ากว่าที่ควร การสนับสนุนให้มีการแข่งขันรถท่ามกลางการระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น หวัดธรรมดา หน้ากากล่องหน หักหัวคิวโรงแรม การ์ดประชาชนอย่าตกแต่ฉันและพวกตกได้


ต่อด้วยการผลักดันให้ปลดล็อคคลายล็อค เพื่อจะตะลุยเอานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยอะๆ ทุ่มหินกรุยทางเรื่องลดวันกักตัว ไปจนถึงไม่กักตัว จนแยกไม่ออกระหว่างเรื่องสุขภาพกับเรื่องพาณิชย์ว่ามีเส้นอะไรกั้นไว้บ้างไหม


จนมาถึงเอาอยู่ กระจอก สบายมาก เที่ยวได้ปลอดภัยภายใต้สิ่งที่เห็นคือการมีเคสติดเชื้อทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ โดยออกมาหลายครั้งหลายหนทำนองว่าจะไม่ล็อคดาวน์เด็ดขาด


ลองดูครับ ว่าจะเป็นเช่นไร
 


1. สถานการณ์ระบาดรุนแรงในปัจจุบัน เห็นชัดแล้วว่าระบบการติดตามสอบสวนโรคนั้นแบกรับภาระหนักหนาสาหัส เพราะจำนวนเคสมากมายเกินกว่าจะรับได้ จึงทำให้เห็นประกาศออกมารัวๆ ว่าขอให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงและมารายงานตัวกับรัฐหรือมาตรวจเอง ในขณะเดียวกันประวัติที่ได้ก็มีหลายต่อหลายเคสที่จับต้นชนปลายไม่ถูก 


สิ่งที่เผชิญอยู่นี้สอดคล้องกับที่หลายประเทศที่เคยระบาดซ้ำเคยโชว์ให้เราเห็นมาก่อน ดังนั้นจึงหวังว่าจะไม่โฆษณามายาคติในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกในอนาคต


2. สมรรถนะของระบบการตรวจคัดกรองโรคที่จำกัด และไม่ครอบคลุม ทำให้ยากต่อการเข้าถึงบริการ นี่ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้รับมือการระบาดซ้ำได้ยาก 


บทเรียนครั้งนี้จึงควรนำไปลงทุนพัฒนาระบบให้เข้มแข็งมากขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมรับมือกับระลอกถัดๆ ไป


3. เห็นอยู่แล้วล่วงหน้าตั้งแต่กลางเดือนว่ารุนแรง แต่สุดท้ายเราก็เห็นการดื้อดึงที่จะโปรโมทท่องเที่ยวไปทั่ว การันตีความปลอดภัย ทั้งๆ ที่ภาพของสถานการณ์ที่เห็นนั้นมีความเสี่ยง ทำให้เราเห็นการกลับลำมาให้เลี่ยงเดินทางในช่วงท้ายปีเช่นนี้ช้าเกินกว่าที่ประชาชนจำนวนมากจะกลับลำได้ทัน การเดินทางจำนวนมากจึงเกิดขึ้นและมีโอกาสที่จะทำให้อัตราการติดเชื้อสูงขึ้นได้


นี่จึงดูจะเป็นการก้าวช้าจนเสี่ยงที่จะตกเหว โดยต้องรอลุ้นกันว่าจะลดละเลี่ยงกันได้ทันแค่ไหน


คงไม่เป็นไร หากสิ่งที่ทำกัน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่กระทบต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของคนอื่นในสังคม แต่นี่เป็นเรื่องที่กระทบทั้งประเทศ จึงหวังว่าจะได้หัดเรียนรู้ และยอมรับความจริงว่า ศึกนี้เกินความสามารถที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแบกรับไปจัดการได้ 

 

นับจากระลอกสองนี้เป็นต้นไป หากผมเป็นคนตัดสินใจ การบริหารจัดการเพื่อสู้ศึกโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในรอบ 102 ปีนี้ จำเป็นจะต้องได้รับการสั่งการดูแลจากหน่วยงานกลางแบบรวมศูนย์ไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นศึก ไม่สามารถกระจายให้หน่วยใดหน่วยหนึ่งรับชีวิตทุกคนไปดูแลแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะศึกนี้ต้องอาศัยอาวุธหลายประเภท และต้องมีการถ่วงดุลอำนาจการตัดสินใจเชิงนโยบายครับ


คาดการณ์การระบาดจากประสบการณ์ 75 ประเทศทั่วโลก ผมประเมินว่าหากเราดำเนินมาตรการเข้มข้นได้ทันเวลาภายในต้นสัปดาห์หน้า การระบาดซ้ำครั้งนี้จะเป็นไปตามเส้นสีส้ม ในกราฟ Thailand second wave โดยจะมีจำนวนการติดเชื้อสูงสุดต่อวันประมาณ 940 คน และจะต้องสู้ราว 88 วัน

"หมอธีระ" ลั่น ควรลด-ละ-เลิก-นโยบายที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำ

 

 

"หมอธีระ" ลั่น ควรลด-ละ-เลิก-นโยบายที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำ

 

แต่หากดำเนินการสะเปะสะปะ ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน หรือไม่สอดคล้องต่อสถานการณ์การระบาด หรือมีปัจจัยหนุนเสริมให้ระบาดแบบเละเทะ เช่น ไม่ยอมป้องกันตัว หรือมีกิจกรรมหมู่มากเกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีการระบาดหนักอยู่ ก็มีโอกาสที่จะหนักกว่าเดิม ตามเส้นสีเขียว ซึ่งอาจสูงสุดราว 4,000 คนต่อวัน แต่โอกาสนี้น้อยมาก มีน้อยประเทศมากที่ประสบปัญหานี้ 


ธรรมชาติของการระบาดซ้ำของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น ต่างจากระลอกแรกตรงที่ทุกประเทศนั้นล้วนมีมาตรการที่เคยทำมาแล้ว ผลของการควบคุมโรคจะแตกต่างกันได้ตรงที่"เงื่อนเวลาในการตัดสินใจทำ"ครับ


อยากให้ทำในสิ่งที่ควรทำ


อยากให้เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ


ไม่หลงไปเสียเวลากับการสร้างวาทกรรมมายา


แต่ควรใช้ความรู้ที่ถูกต้องมาสร้างนโยบายและมาตรการ


ลดละเลิกนโยบายและมาตรการที่นำความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำในอนาคต


ตราบใดที่โรคระบาดทั่วโลกยังรุนแรง...ก็จะยังไม่ใช่เวลาที่จะเหยียบคันเร่งเศรษฐกิจอย่างหน้ามืดตามัว แต่ควรดำรงตนด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประคับประคองให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัย

 

อดทน อดกลั้น อดออม ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพา


ธุรกิจใดที่ยืนบนความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำ ต้องไม่เปิดให้ทำ แต่รัฐจำเป็นต้องสั่งการและสนับสนุนสิ่งจำเป็นต่างๆ เพื่อให้มีการปรับรูปแบบใหม่เพื่อลดความเสี่ยงลงให้ได้ ไม่ใช่ยึดติดกับการหาเงินจากรูปแบบการทำงานในอดีตที่คุ้นชิน แต่เกิดความเสี่ยงต่อคนทั้งหมดในสังคมครับ
พอเรามองสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่นี้อย่างลึกซึ้ง และทำความเข้าใจได้ ผมเชื่อว่าเราทุกคนก็พร้อมที่จะรับมือกับมันไปด้วยกัน 
ผ่านระลอกแรกมาด้วยแรงของทุกคน ครั้งนี้ก็เช่นกัน


ปีใหม่นี้...อยู่บ้านกันนะครับ ถ้าทำได้อย่างพร้อมเพรียง จะช่วยบรรเทาการระบาดซ้ำนี้ลงได้ไม่มากก็น้อย ด้วยรักต่อทุกคน