โควิด-19 ลามไม่หยุด ติดเชื้อเพิ่มเป็น 45 จังหวัด

29 ธ.ค. 2563 | 07:54 น.

สถานการณ์โควิด-19 ในไทย วันนี้(29 ธ.ค.) ศบค.แถลงพบติดเชื้อเพิ่ม 155 ราย ขยายวงจาก 6 จังหวัด เมื่อช่วง 18-20 ธ.ค. เพิ่มมาเป็น 45 จังหวัด

29 ธ.ค.63  ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสรุปสถานการณ์ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 155 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 134 ราย แรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุก 11 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (Quarantine Facilities) 10 ราย ประกอบด้วย เยอรมนี 1 ราย, เวียดนาม 1 ราย, อินเดีย 1 ราย, สวีเดน 1 ราย, สหรัฐอเมริกา 1 ราย, ตุรกี 1 ราย และบาห์เรน 4 ราย
          

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 6,440 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 4,447 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 1,381 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,993 ราย
          

ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้ว เพิ่มขึ้น 4 ราย รวมเป็น 4,184 ราย โดยยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,195 ราย พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเป็นสะสม 61 ราย
          

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดนี้ ได้รับรายงานจากกรมควบคุมโรคว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตที่ รพ.ระยอง เป็นเพศชาย อายุ 45 ปี มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และหัวใจขาดเลือด ซึ่งผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีประวัติเสี่ยง คือเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องติดตามมาตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.63 และพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยวันที่ 28 ธ.ค. มีอาการหอบเหนื่อย ต้องนำส่งโรงพยาบาล และระหว่างทางได้หยุดหายใจ แพทย์ช่วยชีวิตด้วยการปั๊มหัวใจ 30 นาที แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ อย่างไรก็ดี สาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างชันสูตรทางพยาธิวิทยา
          

การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศขณะนี้แพร่กระจายไปยัง 45 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับเคสที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.ระยอง 

 

โควิด-19 ลามไม่หยุด ติดเชื้อเพิ่มเป็น 45 จังหวัด

 

จำนวนจังหวัดเพิ่มขึ้นมาเป็น 45 จังหวัด จะเห็นว่าแต่ละช่วงเวลา วันที่ 18-20 ธันวาคม มี 6 จังหวัด  วันที่ 21-23 ธันวาคม เพิ่มเป็น 26 จังหวัด วันที่ 24-26 ธันวาคม เพิ่มมาเป็น 37 จังหวัด และวันที่ 27-29 ธันวาคม เพิ่มมาเป็น 45 จังหวัด

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทดลองทำฉากทัศน์การระบาดระลอกใหม่ในประเทศขึ้น แบ่งเป็น 3 กรณี โดยกรณีที่ 1 หากไม่มีมาตรการใดๆ ในการควบคุมดูแลเลย คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 18,000 ราย/วัน ในช่วงกลางเดือน ม.ค.64  ส่วนกรณีที่ 2 หากมีมาตรการดูแลในระดับกลางๆ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4,000 ราย/วัน ในช่วงสิ้นเดือนม.ค.64 และกรณีที่ 3 หากมีมาตรการดูแลในระดับเข้มข้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1,000 ราย/วัน ในช่วงสิ้นเดือนม.ค.64  ซึ่งหากในปัจจุบันมีการทำความเข้าใจและทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ก็จะไม่เห็นตัวเลขในลักษณะเช่นนั้น

 

โควิด-19 ลามไม่หยุด ติดเชื้อเพิ่มเป็น 45 จังหวัด
 

 

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงและวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดในประเทศ โดยเห็นว่าการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการติดเชื้อมาจาก 2 ลักษณะ คือ 1.การติดเชื้อจากบุคคลสู่บุคคล ซึ่งมีทั้งกรณีที่ทราบว่าตนเองเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือกิจกรรมที่เสี่ยง และอีกส่วนที่ไม่ระมัดระวัง หรือไม่ทราบว่าได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ 2.การติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน ซึ่งมีสาเหตุจากการเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการถูกต้อง เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ การประชุม หรือกิจกรรมที่ลักลอบดำเนินการ เช่น การพนัน การมั่วสุม
         

อย่างไรก็ดี จากที่ ศบค.ชุดใหญ่ ได้ออกแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการของแต่ละพื้นที่ ซึ่งกำหนดไว้เป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1.พื้นที่ควบคุมสูงสุด 2.พื้นที่ควบคุม 3.พื้นที่เฝ้าระวังสูง และ 4.พื้นที่เฝ้าระวังนั้น ล่าสุด ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รับผิดชอบกำหนดระดับสถานการณ์ ลงรายละเอียดในระดับตำบล รืออำเภอ เพื่อจะได้มีมาตรการดูแลที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากที่สุด โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ ก่อนประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ
         

"เรายังใช้มาตรการเดิมที่ ผอ.ศบค. (นายกรัฐมนตรี) ประกาศไว้คือ 4 พื้นที่เสี่ยง แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดวันนี้ คือ รมว.มหาดไทย ได้ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ให้แบ่งส่วนพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ ภายในวันพรุ่งนี้ต้องประกาศออกมา ให้เห็นในระดับอำเภอ และตำบลให้ได้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มีความอิสระในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมกับระดับความรุนแรงของการระบาดในพื้นที่" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
         

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ขอให้มีกลไกการเฝ้าระวังในระดับตำบล โดยใช้กลไกทางการปกครองและกลไกสาธารณสุข (อสม. และอสส.) ในลักษณะโครงข่ายเฝ้าระวังรังผึ้ง รวมถึงการจัดกำลังชุดตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพื่อให้มีการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ ศบค.กำหนด โดยเน้นความเข้มข้นตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
         

ที่ประชุมฯ ยังเน้นย้ำสำหรับทุกพื้นที่สถานการณ์ด้วยว่า ในกรณีที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ ขอให้กักกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่นเป็นระยะเวลา 14 วัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติขอให้ไปพบแพทย์ และต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์ หลังจากนี้ประมาณ 7 วัน จะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น ก็จะพิจารณาขออนุมัติจาก ศบค.เพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้นต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดโควิด 29 ธ.ค.63 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 4.35 แสนราย รวม 81.60 ล้านราย

"หมอธีระ" ชี้ สิ้นปีนี้หากโควิดในไทยยังไม่ดีขึ้นจะมีผู้ติดเชื้อใหม่ 3.3หมื่นคน

"หมอยง"ชี้ยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ของอังกฤษในไทย