คลายข้อสงสัย ความต่าง Rapid test กับ Swab หาเชื้อโควิด

26 ธ.ค. 2563 | 10:43 น.

โฆษกศบค. ชี้แจงความต่างระหว่างการตรวจแบบ Rapid test กับ Swab หลังสังคมสับสนกับผลตรวจ โควิดจาก 6 เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล 

Rapid test กับ Swab วิธีการตรวจแบบไหนดีกว่ากัน เป็นคำถามที่ตามมา แม้ว่าผลตรวจของ 6 เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล จะทำให้สังคมเบาใจได้ว่า เชื้อโควิด-19 ยังไม่ทะลวงมาถึงศูนย์บริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยได้ 

 

แต่ในข่าวผลสุ่มตรวจด้วยวิธี Rapid test ที่มีความเสี่ยงในการตรวจรอบแรก ทำให้ 6 เจ้าหน้าที่ ต้องตรวจซ้ำด้วยวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจทางจมูกและปาก หรือ Swab เพื่อได้ผลยืนยันชัวร์ชัวร์ ก็ทำให้สังคมสงสัยว่า แล้วจะมี Rapid test ทำไม เพราะสุดท้ายก็ต้องไปตรวจแบบ Swab อยู่ดี 

 

เรื่องนี้ถูกคลายข้อสงสัย ในการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบข้อซักถามกรณีการตรวจเชื้อ โควิด-19 เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งการตรวจครั้งแรกผลเป็นบวก จากการตรวจแบบ rapid test เจาะเลือดปลายนิ้วมือ แต่เมื่อตรวจหาเชื้อโดยตรงโดยการตรวจ swab มีผลเป็นลบ จะทำให้การเจาะเลือดตรวจมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ แล้วทำไมจึงไม่ใช้วิธีตรวจหาเชื้อโดยตรงตั้งแต่ครั้งแรก

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

 

นพ.ทวีศิลป์ อธิบายว่า Rapid test การเจาะเลือดตรวจ เป็นการตรวจดูภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะฉะนั้นภูมิคุ้มกันเป็นภาพสะท้อน ไม่ได้เป็นการตรวจหาเชื้อโดยตรง ซึ่งการตรวจหาเชื้อโดยตรงคือ Swab ที่มีการแยงเข้าไปในโพรงจมูก ผ่านจมูก คือการตรวจหาเชื้อโดยตรง

 

“แต่ Swab จะต้องใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมง และเสียค่าใช้จ่ายสูง 2,500-4,000-5,000 บาทต่อคน แต่การเจาะเลือดตรวจนั้นสามารถกระทำได้ในคนจำนวนมากหลักร้อยคน ซึ่งที่ทำเรียบรัฐบาลนั้นดำเนินการตรวจ 700-800 คน”

 

นายแพทย์ทวีศิลป์ อธิบายต่อว่า หากต้องตรวจผ่านการแยงโพรงจมูก จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงดำเนินการตรวจผ่านการเจาะเลือด ซึ่งการเจาะเลือดตรวจนั้นก็ไม่ได้ผล 100% แต่เป็นการตรวจทางอ้อมว่ามีภูมิหรือไม่มีภูมิ ดังนั้น เมื่อสงสัยว่ามีภูมิแสดงว่ามีการติดเชื้อในเร็วๆ นี้หรือไม่ ก็นำคนกลุ่มนี้ออกมาตรวจเพิ่ม ซึ่งขณะที่นำตัวคนเหล่านี้ออกมาตรวจทางโพรงจมูก ก็มีข่าวออกไปว่าติดเชื้อแล้ว แต่ความจริงนั้นยัง แต่เมื่อตรวจหาเชื้อโดยตรง ทั้ง 6 คนก็ไม่มีเชื้อแม้แต่คนเดียว สามารถสร้างความสบายใจได้ ส่วนการที่ไม่ตรวจหาเชื้อโดยตรงตั้งแต่ต้น ก็เป็นเรื่องของงบประมาณ

โฆษก ศบค. บอกอีกว่า วิธีการต่างๆ เหล่านี้จะมีการทบทวนดูเรื่องการจัดการต่างๆ ให้รัดกุมมากขึ้น และขณะเดียวกันเมื่อมีการเรียกตัวมาตรวจ หลายคนก็ตกใจและสงสัยว่ามีคนติดเชื้อจึงเกิดกระแสของความตื่นตัวและตื่นตระหนก จึงทำให้เป็นข่าวออกมา แต่ก็ถือเป็นข่าวดีที่เรามีการเฝ้าระวังอยู่ เพื่อไม่ให้ทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสถานที่ทำงานซึ่งใกล้ชิดผู้บริหารระดับสูง จะได้มีความมั่นใจมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 26 ธ.ค. 63 แบบอัพเดทล่าสุด

ประกาศข้อกำหนดตาม"พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"คุมโควิดระบาด ห้ามชุมนุม -มั่วสุม

ยอดโควิด 26 ธ.ค.63 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 110 ราย จากในประเทศ 64 ราย ต่างประเทศ 16 ราย แรงงานต่างด้าว 30 ราย

เปิดข้อมูล ศบค. พบ 33 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อโควิด