ทิศทางยอดขายรถยนต์ หลังปลดล็อกเงื่อนไขโครงการรถคันแรก

15 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
ในเดือนกันยายนนี้ รถยนต์ภายใต้โครงการรถคันแรก ซึ่งมีจำนวนกว่า 1.1 ล้านคัน จะเริ่มเข้าคิวทยอยปลดล็อกตามเงื่อนไขของโครงการรถคันแรกที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องถือครองรถที่ซื้ออย่างน้อย 5 ปีจึงจะสามารถขายออกได้ ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างมีความหวังว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะเริ่มดีขึ้น เพราะเริ่มจะมีผู้บริโภคที่รอคอยการปลดล็อกการถือครองเพื่อขายออกแล้วเปลี่ยนเป็นรถใหม่ อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่เริ่มกลับมาคงไม่ได้เห็นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และอาจต้องรอไปกลางปีหน้าจึงจะเห็นผล เนื่องจากช่วงแรกของโครงการปลายปี 2554 มีน้ำท่วมใหญ่จึงทำให้มีผู้เข้าร่วมน้อย จากนั้นช่วงกลางปี 2555 จึงค่อยมีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้างต้นมองกันเฉพาะผลกระทบดีมานด์ระยะสั้นที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นเมื่อมีการปลดล็อกโครงการรถคันแรก ประเด็นคำถามที่ชวนคิดต่อไปคือ หลังจากปลดล็อกโครงการรถคันแรกในปีหน้าแล้ว ทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศจะเป็นอย่างไรและยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกหรือไม่ ซึ่งการได้รับคำตอบนี้ สามารถประเมินจากปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศ ดังนี้

ปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ไม่เกิน 3% ซึ่งจะทำให้ยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 7.5 แสนคัน และภายใต้ศักยภาพการเติบโตของจีดีพี 5 ปีข้างหน้า (2559-2653) ที่มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 3.2-3.5%ต่อปี คาดว่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 แสนคันในปี 2563 และหากจะทราบแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในระยะยาว สามารถใช้อัตราการถือครองรถยนต์ (Motorization Rate) เทียบกับรายได้ต่อหัว (GDP per capita) เป็นเครื่องชี้วัด ทั้งนี้ มีงานศึกษาว่าหากรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยูโรโซน ญี่ปุ่น มีอัตราการถือครองรถยนต์ 600-800 คันต่อประชากร 1 พันคน ในขณะที่ประเทศเอเชียที่มีระดับการพัฒนามากกว่าไทย อาทิ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีอัตราการถือครองรถยนต์ประมาณ 400 คันต่อประชากร 1 พันคน ย้อนกลับมาดูประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันมีอัตราการถือครองรถยนต์อยู่ที่ 232 คันต่อประชากร 1 พันคน โดยมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5,889 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี ดังนั้น จากตัวเลขประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่ารายได้ต่อหัวของไทยมีแนวโน้มขยายตัว 5%ต่อปี ณ ระดับการเติบโตนี้ หมายความว่าทิศทางความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างน้อยอีก 1 เท่าตัวจากระดับปัจจุบันเป็น 400 คันต่อประชากรหนึ่งพันคนได้ภายในปี 2573

ปัจจัยพื้นฐานด้านความต้องการรถใหม่ทดแทนรถเก่า การตอบคำถามว่าถึงเวลาที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนรถที่ใช้แล้วหรือยัง โดยทั่วไปจะใช้ตัวเลขอายุรถยนต์เฉลี่ยที่วิ่งบนท้องถนน (Average Car Age) หากตัวเลขอายุเฉลี่ยบนท้องถนนมีแนวโน้มสูงขึ้นจะแสดงถึงโอกาสที่ผู้บริโภคจะซื้อรถใหม่ทดแทนรถเก่า เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบค่าซ่อมบำรุงรักษาแล้ว การซื้อใหม่คุ้มค่ากว่าใช้รถเก่า ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป เราจะเห็นว่าเศรษฐกิจในปี 2558 ยังไม่ฟื้นตัว แต่การที่อายุรถยนต์เฉลี่ยสูงกว่า 11 ปี ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถใหม่ทดแทน ทำให้ยอดขายรถใหม่เพิ่มขึ้น เมื่อมาดูตัวเลขอายุรถยนต์เฉลี่ยบนท้องถนนของไทยพบว่า รถยนต์เชิงพาณิชย์ (ส่วนใหญ่รถปิกอัพ) มีอายุเฉลี่ย 11.6 ปี และรถยนต์นั่งมีอายุเฉลี่ย 8.4 ปี ดังนั้น หากพิจารณาความต้องการซื้อรถใหม่เพื่อทดแทนรถเก่า คาดว่ากลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์จะเริ่มฟื้นตัวก่อนรถยนต์นั่ง เนื่องจากรถที่วิ่งบนท้องถนนส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยมากกว่า นอกจากปัจจัยด้านการทดแทนอันเกิดจากอายุรถที่มากขึ้นแล้ว ความต้องการรถใหม่เพื่อทดแทนรถเก่ายังได้ผลปัจจัยหนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้รถรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สะดวกสบาย ปลอดภัย ประหยัดน้ำมันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เมื่อวิเคราะห์ทั้ง 2 ปัจจัยพื้นฐานร่วมกัน ทำให้เห็นภาพสรุปทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศ ดังนี้ ในระยะสั้น (1-3 ปี) ยอดขายรถยนต์จะยังฟื้นตัวช้าตามการบริโภคในประเทศที่ยังอ่อนแอ รวมถึงการปลดล็อกการถือครองรถในโครงการรถคันแรกในเดือนกันยายนนี้ยังมีผลต่อกำลังซื้อค่อนข้างน้อย ทำให้ยอดขายรถยนต์ในปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 7.5 แสนคัน ส่วนในระยะปานกลาง (3-5 ปี) คาดว่ายอดขายจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 แสนคันในปี 2563 โดยกลุ่มรถยนต์ที่จะฟื้นตัวก่อนคือ กลุ่มรถยนต์เชิงพาณิชย์ เนื่องจากอายุรถยนต์เชิงพาณิชย์บนท้องถนนส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสซื้อรถใหม่ทดแทนรถเก่า สำหรับแนวโน้มในระยะยาว (10-15 ปี) ประเมินว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศยังมีศักยภาพการเติบโตอีกมาก เนื่องจากรายได้ต่อหัวของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายได้ที่สูงขึ้นจะทำให้ความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น คาดว่ารายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีก 1เท่าตัวจากระดับปัจจุบันเป็น 1.56 ล้านคันในปี 2573

เห็นตัวเลขแนวโน้มศักยภาพยอดขายรถยนต์ในประเทศจากพื้นฐานอุตสาหกรรมแล้ว... ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์คงพออุ่นใจได้เปราะหนึ่ง หากคิดจะลงทุนในประเทศไทย แต่จะลงทุนเพิ่มในรถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์ไฟฟ้า นอกเหนือจากการลงทุนในรถปิกอัพและรถอีโคคาร์ที่มีอยู่แล้วนั้น คงต้องรอลุ้นว่านโยบายของภาครัฐจะออกมาสนับสนุนในรูปแบบใด...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559