เกาหลีใต้ไต่เส้นวิกฤติ

16 มิ.ย. 2559 | 14:00 น.
เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีปัญหามาได้ 2-3 ปีแล้ว ซึ่งเป้าหมายของเกาหลีใต้ก็ต่างจากไทยในช่วงระยะเดียวกัน เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคการส่งออก เพราะช่วง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2543-2554 เกาหลีใต้พึ่งพาภาคบริการ หรือเกือบร้อยละ 68-70 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขึ้นอยู่กับภาคบริการ อาทิ ค้าปลีก-ค้าส่ง,บริการทางการเงิน และอสังหาริมทรัพ์ เป็นสำคัญ ขณะที่ประเทศไทยร่วม 20 ปีมาแล้วพึ่งพาการส่งออกร้อยละ 70 โดยประมาณ แต่ภายหลังมานี้เกาหลีหันมาเน้นด้านการส่งออก และเน้นภาคอุตสาหกรรมวัฒนธรรมบันเทิง ซึ่งตอนหลังมานี้เกาหลีใต้พึ่งพาการส่งออกมีสัดส่วนร้อยละ 50 โดยประมาณ

การส่งออกสินค้านั้นเกาหลีใต้มีคู่ค้าที่สำคัญก็คือ จีน ญี่ปุ่น และกลุ่มสหภาพยุโรป เมื่อยุโรปเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้แน่นอน และโดนจากทั้ง 3 กลุ่มใหญ่ด้วย โดนทั้งญี่ปุ่น โดนทั้งสหภาพยุโรป และล่าสุดดูท่าประเทศจีนก็มีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าจีนจะมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุด และมีหนี้สินต่อจีดีพีมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นที่ผ่านมาจีนเติบโตด้านอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก และสิ่งที่ขับเคลื่อนจีนให้เติบโตไปได้ดีส่วนใหญ่เครื่องจักรนำเข้าจากเกาหลีใต้นี่เอง เรียกว่าเครื่องจักรเกือบทุกชนิดมักใช้เครื่องจากจากเกาหลีใต้เป็นสำคัญ

ขณะนี้ก็ทราบกันแจ้งชัดแล้วว่าเศรษฐกิจจีนอย่างเก่ง (ปั้น)ตัวเลขเศรษฐกิจจีนปี 2559 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.5 ซึ่งนับว่าถดถอยไปมาก ตากต่างจากก่อนหน้านี้เคยเติบโตระดับตัวเลข 2 ตัว ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้จีนได้เริ่มทยอยปิดงานงดจ้างบ้างแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหมืองถ่านหิน รวมทั้งอุตสาหกรรมหนัก ถ้าเอาไม่อยู่จริงๆ การชะลอตัวจะลามไปถึงอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกด้วยก็ไม่พ้น

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญลำดับรองจากประเทศจีนก็เผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง จนรัฐบาลต้องออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ออกมา ซึ่งการออกมาตรการใหม่ทำให้ค่าเงินเยนปรับเปลี่ยนค่าไปด้วย แต่ยังดีที่มีแรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่กล้าพอที่จะแทรกแซงค่าเงินเยนเพื่อกดดันให้ค่าเงินเยนอ่อนตัว แตกต่างจากไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นระยะตามความจำเป็น และหนี้ไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศไม่ใช่กู้หนี้เมืองนอกเขามาเหมือนอย่างในอดีตและเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เรียกว่า "คนไทยรู้จักสรุปบทเรียน" เป็นอย่างดี

ส่วนหนึ่งที่แตกต่างจากไทยในด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็คือ ประเทศไทยเปิดการค้าการลงทุนตามแบบฉบับเสรีนิยม ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า แต่เกาหลีใต้ก่อร่างสร้างประเทศรอบใหม่ทางระบบเศรษฐกิจด้วยแชโบล (chaebol) โดยมีตัวนำอย่างซัมซุงและฮุนได ภายใต้การอุดหนุนทางด้านการเงินและอื่นๆ อย่างเต็มที่จากรัฐบาล ซึ่ง 2 ระบบนี้แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยคนที่ทำธุรกิจและยืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้นับว่า "สุดยอด" เพราะมีขีดความสามารถในการแข่งสูง จนยืนหยัดด้วยตนเองได้ แต่เกาหลีใต้อยู่ได้เพราะมีหัวหอกเป็นตัวออกหน้า แต่ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและลากยาวต่อไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า อาจทำให้แชโบลก็ยากจะเอาอยู่ ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองฝ่ายค้านเกาหลีจึงเสนอตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า เกาหลีใต้น่าจะออกมาตรการ QE แต่แล้วฝ่ายค้านก็แพ้การเลือกตั้ง แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่สนใจมาตรการ QE เลย เพราะประธานาธิบดีปาร์ก กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ ระบุว่า มาตรการ QE มีความจำเป็นสำหรับนำไปใช้จัดสรรทุนเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรที่รัฐบาลบริหาร ขณะเดียวกันธนาคารกลางเกาหลีใต้บอกว่าจะต้องผ่านการออกเสียงประชามติออกมาเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 1.25 (เดิม 1.50) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งผิดไปจากที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าแบงก์ชาติจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ และเชื่อว่าก่อนสิ้นปีนี้คงจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก….ดูท่าเกาหลีใต้เจอปัญหาหนักอกเอาเรื่องอยู่เช่นกัน ครับ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559