“ลุงตู่&อนุทิน” ทำงานแบบไหน? ในภาวะไทยเจอ “วิกฤติโควิด”

25 มิ.ย. 2564 | 06:15 น.

“ลุงตู่&อนุทิน” ทำงานแบบไหน? ในภาวะไทยเจอ “วิกฤติโควิด” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3691 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-30 มิ.ย.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า ในแง่ภาพรวมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ ศบค.รายงานในแต่ละวันมีอัตราการติดเชื้อและอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ชนิดที่ผู้คนต้องเฝ้าระวังด้วยความระทึกใจ

22 มิ.ย.2564 พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 4,059 ราย เป็นติดเชื้อใหม่ 3,984 ราย เป็นการติดเชื้อใน กทม. 1,154 ราย สมุทรปราการ 693 ราย ชลบุรี 335 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 75 ราย ผู้ป่วยสะสม 225,365 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,693 ราย มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 35,836 ราย อาการหนัก 1,479 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ  410 ราย

พอวันที่ 23 มิ.ย.2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3,174 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,138 ราย ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 36 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 228,539 ราย มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย

ถึงวันที่ 24 มิ.ย.2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่  4,108 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,879 ราย ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 229 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 232,647 ราย มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย

ส่วนยอดผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ตอนนี้ราว 22,327 ราย เป็นในโรงพยาบาล 17,924 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 4,403 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 418 ราย ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 113 ราย

เอาเฉพาะการระบาดรอบ 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ปรากฏว่า มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 1,681 รายแล้ว ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากโควิด-19 รวม 1,775 ราย... เห็นหรือยังว่ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

และที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันแต่มีความหมายมากคือ กลุ่มคนไข้อาการหนักที่ปอดอักเสบรุนแรงจนน่าวิตกพบว่า มีนับพันรายจากทั่วประเทศ...

สถานการณ์แบบนี้แหละครับที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุว่า คัดกรองโควิด-19 จุฬาฯ ปิด 4 วัน เริ่ม 24-27 มิ.ย.นี้ ไม่มีเตียงรับ แต่คนไข้ก็มาที่ ER อยู่แล้ว เพราะไปที่อื่น ก็ไม่ได้ตรวจ เนื่องจากตรวจแล้วต้องรับก็ไม่มีเตียง ไม่มีคนดู และคนที่มา ER ส่วนใหญ่ล้วนมีอาการปอดบวมแล้ว และอาการหนัก ไม่มีเตียง ทุกโรงพยาบาลน่าจะเหมือนกันหมด...เป็นการบ่งบอกว่าผู้ป่วยมากขึ้นจนไม่มีเตียงจะรักษา

ประเด็นไม่มีเตียงรักษาคนติดโควิด กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ขนาด นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยังออกมายอมรับว่า ตอนนี้ปัญหาเตียงมารองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะเตียงไอซียู ซึ่ง กทม.เป็นคนบริหารจัดการภาพรวม แต่ตอนนี้เตียงไอซียู เตียงสีแดงในภาครัฐเหลือ 20 เตียง จาก 400 กว่าเตียง ตอนนี้ในภาคของการรักษาโรคนั้นหนักมากๆ หนักมากว่า 10 วันแล้ว ก่อนหน้านี้เคยบอกว่า หากมีผู้ป่วยมากวันละ 500-600 คน เตียงไอซียูก็จะตึงแต่ปัจจุบัน เกือบจะ 2 เดือนแล้ว ที่พื้นที่ กทม.มีผู้ป่วยมากกว่าวันละ 1 พันรายขึ้นไป...ชัดมั้ยครับว่าฝีกำลังจะแตก

 “รพ.ราชวิถีการขยายเตียงไอซียูที่โรงจอดรถ 10 เตียง ก็รับผู้ป่วยไป 12 ราย รพ.นพรัตน์ เพิ่งขยายไอซียูเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 9 เตียง เต็มแล้ว รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ ขยายเป็นโคฮอตไอซียู แทบจะเต็มไปเรียบร้อย  ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา พยายามขยายศักยภาพ และรับได้เพิ่มขึ้น แต่ 10 วันนี้ตึงมาก” นพ.สมศักดิ์ ระบุ

นพ.สมศักดิ์ ยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่า “การที่มีผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้นนั้น ตรงไปตรงมาคือเกิดจากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ยังครองการระบาดอยู่ และตอนนี้ก็มีสายพันธ์เดลตา (อินเดีย) ที่กำลังเข้ามาชิงพื้นที่ ทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว ถ้าอาการเป็นสีเหลือง สีแดงเท่าเดิม แต่ผู้ป่วยในแต่ละวันมากขึ้น ก็ส่งผลให้การจัดเตียงสีเหลือง สีแดงมากขึ้นด้วย แต่ทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้อาการมากขึ้นด้วย โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นสีเหลือง สีแดงก็มากขึ้นด้วย ในแง่ความรุนแรง

แล้วในสถานการณ์ความรุนแรงแบบนี้ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ทำอย่างไร

นายอนุทิน บอกว่า ในพื้นที่ กทม. ทางกรุงเทพมหานครรับหน้าที่จัดการพื้นที่ของตัวเอง กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ให้การสนับสนุน อาทิเช่น การให้โรงพยาบาลบุษราคัมเข้ามาแบ่งเบางานหนัก รับผู้ป่วยต่างชาติระดับสีเหลืองแล้ว และสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งดำเนินการคือ จะต้องเปิดเตียงและห้องไอซียูโรงพยาบาลหลักให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลสนาม ให้ใกล้เคียงกับที่โรงพยาบาลบุษราคัมมี เพื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยที่แสดงอาการในระดับเกณฑ์สีเหลือง ซึ่งจะช่วยลดอัตราการสูญเสียได้

ขณะเดียวกัน ต้องพัฒนาเรื่องศูนย์แรกรับ จากที่ปัจจุบันจัดตั้งศูนย์แรกรับส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 อาคารนิมิบุตร ซึ่งถือว่าน่าพอใจ ก็อาจจะต้องเพิ่มเติม 1 แห่ง เช่น อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองด้วย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ มีแผนว่าจะสับเปลี่ยนจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาในพื้นที่...แปลว่าขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโควิดของกทม.กำลังโคม่า..

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ที่เป็นผู้อำนวยการ ศบค.ทำอย่างไร ผมพาไปดูข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีที่สั่งตรงไปยังคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2564

1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) และโฆษก ศบค. สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลการฉีดวัคซีน จํานวนผู้ติดเชื้อสะสม และผู้ติด เชื้อที่รักษาหายแล้ว เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขที่มีแนวโน้มอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้

2. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กรุงเทพมหานคร กระทรวงแรงงาน และกระทรวงยุติธรรม เร่งดําเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่กทม.และพื้นที่กลุ่มเสี่ยงอื่นที่เป็นคลัสเตอร์ ทั้งในพื้นที่ชุมชนและแคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อป้องกันและ ควบคุมไม่ให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น ให้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ในเรือนจํา/สถานกักกันด้วย

3. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ดําเนินการใน การบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้

3.1 กําหนดหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดการจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดตามกลุ่มเป้าหมายที่กําหนดไว้ โดยจัดสรรให้กับผู้ที่ขึ้นทะเบียนการฉีดวัคซีนไว้แล้ว และให้พิจารณาการจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น กลุ่มเรือนจําและผู้ต้องขัง กลุ่มครูและโรงเรียนกลุ่มนักบินและลูกเรือ พื้นที่จังหวัดชายแดน พื้นที่เศรษฐกิจที่สําคัญ พื้นที่การท่องเที่ยว พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น โดย พิจารณาตามความจําเป็นเร่งด่วน และความเป็นธรรมให้กับทุกกลุ่ม รวมทั้ง คํานึงถึงการกระจายวัคซีนอย่าง ทั่วถึงในภาพรวมของประเทศด้วย

3.2 จัดทํารายละเอียดเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดและพื้นที่ให้มีความชัดเจน พร้อมนําเสนอจํานวนการจัดส่งวัคซีน และการฉีดวัคซีนโดยให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ (อําเภอ/เขต) และระดับกลุ่มเป้าหมาย

3.3 ให้กระทรวงแรงงาน จัดทําข้อมูลจํานวนแรงงานทั้งในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 และผู้ใช้แรงงานนอกระบบประกันสังคม เพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี โรคติดเชื้อโควิด-19 สามารถดําเนินการบริหารจัดการวัคซีนได้อย่างเหมาะสมต่อไป

4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นัดหมายฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยให้หน่วยบริการฉีดวัคซีน กําหนดเวลานัดหมายผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามจํานวนที่ได้รับการจัดสรรหรือตามความพร้อมของหน่วยให้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา กรณีประชาชนไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามที่ได้นัดหมายล่วงหน้า

5.ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงกรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้

5.1 ให้เน้นย้ำหลักการของรัฐบาลที่ไม่ปิดกั้นภาคเอกชนในการจัดหาวัคซีน แต่เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนได้รับการอนุญาตขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ประเทศผู้ผลิตวัคซีน จึงกําหนดเงื่อนไขให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อวัคซีน เป็นผู้ดําเนินการจัดซื้อ สําหรับการกระจายวัคซีนได้มีการพิจารณาจากจํานวนประชากร สถานการณ์การแพร่ ระบาด กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ตามนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงมีการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้สามารถกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง และให้จัดสรรงบประมาณในการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีน เพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน

5.2 ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลเอกชน และภาคเอกชน ที่ประสงค์จะจัดหา สั่ง หรือ นําเข้าวัคซีน ทราบถึงขั้นตอน ระเบียบและวิธีการ การจัดสรร และการจัดหางบประมาณ เพื่อดําเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้งบประมาณของตนเอง รวมถึงความรับผิดชอบ หากผู้รับบริการฉีดวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น การจัดทําประกันที่คุ้มครอง กรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน (อาการแพ้วัคซีน หรือเสียชีวิต) 

6. ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ศูนย์ปฏิบัติ แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง (ศปม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบมาตรการในแต่ละ จังหวัดเพื่อให้สอดคล้องมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค และขอให้เน้นย้ำการป้องกันการทุจริตในทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค การผ่อนคลายมาตรการ การบริหารจัดการวัคซีน รวมทั้งเข้มงวดการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และการเปิดให้บริการของร้านอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น

ทำงานแบบไหน ใช้ปัญญา พิจารณากันเองนะครับ