AEC หุ้น 1000% เจาะประวัติผู้ถือหุ้นใหญ่

18 มิ.ย. 2564 | 00:50 น.

AEC หุ้น 1000% เจาะประวัติผู้ถือหุ้นใหญ่ : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3689 หน้า 13 ระหว่างวันที่ 20-23 มิ.ย.2564 By...เจ๊เมาธ์

@@@ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่ (FED) ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเอาไว้ที่ 0.00-0.25% และจะยังคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณด้วยวงเงินซื้อพันธบัตรในอัตรา 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน แม้จะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้แต่ดัชนีหุ้นสหรัฐ ก็ปรับตัวลงมา เนื่องจากมีการส่งสัญญาณว่า จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2023 ซึ่งเป็นการร่นระยะเวลาเข้ามาหลังจากที่ FED เคยคาดหมายว่าจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2024 แม้ว่านี่จะเป็นเพียงช่วงกลางของปี 2021 ซึ่งกว่าจะถึงเวลาที่ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 ก็เป็นเวลาอีกปีกว่าๆ แต่เรื่องของการเงินในระดับโลกเวลาแค่เพียงปีกว่าๆ ถือว่ายังน้อยเกินไปอยู่ดี 

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้น ทำให้มีแรงขายในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนต่ำและแรงซื้อสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนสูง โดยในส่วนของผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศไทย เป็นในเรื่องของค่าเงินบาทที่อาจจะอ่อนค่าลง ส่งผลให้ธุรกิจนำเข้าสินค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็จะเป็นผลดีกับธุรกิจส่งออกที่จะได้เม็ดเงินเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น เมื่อนักลงทุนต่างชาตเค้ามีการเตรียมตัว นักลงทุนไทยก็ควรมีการเตรียมตัวเอาไว้เช่นเดียวกันเจ้าค่ะ

@@@ หุ้นตัวร้อนอย่าง AEC ยังคงเป็นบริษัทที่มีเรื่องเล่าและความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ล่าสุด มีชื่อ โฟน สุ่นสวัสดิ์ ขยับขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 936 ล้านหุ้น หรือ  21.84% จากการซื้อขายกันโดยตรงกับ ประพล มิลินทจินดา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564 และก่อนหน้านี้ก็มี กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 หลังจากที่เข้ามาในช่วงปลายเดือน พ.ค.  

คำถาม “โฟน สุ่นสวัสดิ์” และ “กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา” คือใครกัน  

สำหรับ “โฟน สุ่นสวัสดิ์”  อดีตที่ปรึกษาทางการเงินอิสระจากบริษัทหลักทรัพย์ ฟาร์อีสท์ ก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่ง กรรมการ (มีอำนาจจัดการ) ของ ACE เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564  

ขณะที่ “กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา” เป็นประธานบริษัท เค.บิวเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, ผู้บริหารบริษัท ดับเบิล พีแลนด์ จำกัด และผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทค ซิตี้ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไทยสไมล์ บัส  ได้เข้ามาถือหุ้นของ AEC เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ด้วยหุ้นจำนวน 700 ล้านหุ้น (16.34%) 

การเข้ามาบริหารและถือหุ้นครั้งนี้ ของทั้ง 2 คน ช่างน่าคิดซะจริง ๆ ส่วนใครจะคิดอะไร ก็มีสิทธิ์คิดได้ เจ๊เมาธ์ ไม่อยากชี้ทางค่ะ   

นอกจาก ประพล มิลินทจินดา ก็ยังมีชื่อของผู้ถือหุ้นรายอื่นใน AEC ที่มีจำนวนหุ้นลดลง เพียงแต่ไม่รู้ว่าขายหุ้นไปให้ใคร ซึ่งประกอบไปด้วย วิมลวรรณ มิลินทจินดา ที่เดิมถือหุ้นอยู่ 527 ล้านหุ้น ก็เหลือหุ้นในมือเพียง 108 ล้านหุ้น ในขณะที่ พิมพ์สุดา สุทธิสงค์ เดิมถือหุ้นอยู่ 217 ล้านหุ้น และ นฤมล แมงทับ ที่เดิมถือหุ้นอยู่ 148 ล้านหุ้น ชื่อของทั้งสองก็หายไปจากรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ใน AEC เช่นกัน 

นอกจาก “โฟน-กุลพรภัสร์” ที่โผล่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ยังมีชื่อที่น่าตื่นเต้นอีกคนคือ ธีรพล นพรัมภา พร้อมลูกสาว พลอยส่องแสง นพรัมภา โดยเฉพาะ ธีรพล  ผู้มากบารมี เส้นสายการเมือง บิ๊กคอนเน็กชั่น ที่ดึงการเมืองเข้าสู่เส้นทางธุรกิจ เขาคนนี้เคยถือหุ้น EA, ปัจจุบันถือ AEC, 7UP

หลังจากนี้เราก็ต้องมาตามดูกันอีกว่า AEC ยังจะมีการปรับเปลี่ยนอื่นใดตามมาอีกบ้าง แต่ดูตามทรงแล้ว เจ๊เมาธ์คิดว่าน่าจะไม่หยุดความเปลี่ยนแปลงอยู่เท่านี้แน่นอนค่ะ 

@@@ เมื่อ “ความซวย” มาเยือนหุ้นกลุ่มการเงินอย่างธนาคาร และไฟแนนซ์แบบไม่ให้โอกาสได้ตั้งตัว เพราะแค่นายกฯ สั่ง ธปท.ทบทวนอัตราดอกเบี้ย บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน ราคาหุ้นเหล่านี้ก็ร่วงกันระนาว และหากเป็นกลุ่มธนาคารตัวที่โดนหนักที่สุดก็น่าจะเป็นทาง KTB เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมากกว่าใคร ในขณะที่หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ตัวที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ TIDLOR เนื่องจากทุกๆ 1% ของการปรับลดดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของ TIDLOR ลง 18.3% ขณะที่ทาง MTC ลง 12.8% AEONTS ลง9.2% และ SAWAD ลง 7.0% 

นี่เอาแค่นายกฯ สั่งให้ทบทวนเท่านั้น ตลาดหุ้นในส่วนของธนาคารและไฟแนนซ์ยังวุ่นวายวานกันขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นนายกฯ สั่งให้ลดดอกเบี้ย...คราวนี้ก็น่าจะถึงขึ้นหน้ามืดกันทั้งตัวบริษัทและนักลงทุนแน่นอนหละเจ้าค่ะ

@@@ หลังจากมีนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ออกมา ราคาหุ้นในกลุ่มของสายการบินที่เหลือเพียง 2 แห่ง คือ AAV และ BA ต่างก็วิ่งแรงขึ้นมา เพียงแต่น่าเสียดายอยู่บ้างว่า การบินไทย (THAI) ไม่ได้ร่วมวงด้วย เพราะโดนระงับการซื้อขาย เนื่องจากต้องเข้าไปอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่เจ๊เมาธ์ก็อยากจะบอกเอาไว้ก่อนว่า...ถึงแม้ทั้ง AAV และ BA จะไม่ถึงขนาดต้องเข้าแผนฟื้นฟูเหมือนกับการบินไทย เพียงแต่ด้วยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนต่อเนื่องมา 2-3 ปีของ AAV และผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาปีกว่าของ BA รวมถึงภาวการณ์เดินทางด้วยเครื่องบินในปัจจุบันดูแล้วไม่น่าไว้วางใจเท่าใดนัก เจ๊คิดว่าราคาหุ้นของทั้งคู่น่าจะยังอยู่ในระดับนี้ไปอีกสักระยะ หรือถ้าหากจะเล่นรอบ...ก็เห็นว่าต้องจับจังหวะให้ดีและคงต้องหาจังหวะที่ราคาต่ำกว่านี้บ้าง เจ๊มองว่าโอกาสสำหรับหุ้นสายคู่นี้คือต้องถือยาว ยาว...ไปจนถึงยาวมากเท่านั้น และอย่าลืมว่าต้องเป็นเงินใช้ลงทุนต้องงเป็นเงินที่เย็นจริง ๆ เท่านั้น ไม่งั้นอาจจะทนไม่ไหวเจ้าค่ะ

@@@ ราคาหุ้นของ PJW ขยับขึ้นมาพร้อมๆ กับเสียงเชียร์จากนักวิเคราะห์ที่บอกว่าผลการดำเนินของ PJW เริ่มเข้าตามากขึ้น แต่ถ้าหากเป็นในมุมของเจ๊เมาธ์ เจ๊กลับให้ความสนใจไปที่โครงการในอนาคตของ PJW ที่กำลังจะรุกเข้าไปที่ตลาดเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นเมกะเทรนด์ของตลาดโลกซะมากกว่า ซึ่งมีการประเมินว่าน่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดจาก 300 ล้าน ขึ้นไปถึง 1,000 บาทได้ในเวลา 3 ปีนับจากนี้ เอาเป็นว่ามาลองตามดูกันว่าหุ้นตัวนี้จะไปได้อีกไกลแค่ไหน ลองมาตามดูกันนะคะ ...คิดถึงอนาคตเป็นหลักเจ้าค่ะ

@@@ ตามที่คอลัมน์ “เมาธ์ทุกอําเภอ by เจ๊เมาธ์” ของหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3671 ประจํา วันที่ 18-21 เม.ย. 2564 ได้ลงข่าวกล่าวอ้างถึงผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จํากัด (มหาชน) นั้น ทางบริษัทขอเรียนชี้แจงว่า นายทิพย์ ดาลาล ประธานกรรมการจัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิได้ติดเชื้อโควิดแต่อย่างใด และได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมกับสั่งการให้ฝ่ายบุคคลดูแลทําความสะอาดอาคารสํานักงานเป็นประจํา เพื่อรักษาสุขอนามัยของ พนักงานบริษัท ที่จําเป็นต้องเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงนี้ และให้พนักงานส่วนใหญ่ทํางานอยู่ที่บ้าน (work from home) ตามประกาศของกรุงเทพมหานคร