วัคซีนอย่างเดียวไม่ใช่ทางรอด ตัดสินใจแบบพิเศษคือทางรอด!

09 มิ.ย. 2564 | 00:00 น.

วัคซีนอย่างเดียวไม่ใช่ทางรอด ตัดสินใจแบบพิเศษคือทางรอด! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3686 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ในขณะที่ทุกคนกำลังมีความคาดหวังว่า วัคซีนคือทางรอดของประเทศไทย ผมนั่งพินิจพิจารณาในสภาวะความจริงจากแผนปฏิบัติการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศของรัฐบาลแล้ว ผมเห็นว่า การฉีดวัคซีนแบบที่เป็นอยู่อาจไม่ใช่คำตอบในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย”!

ทำไมเป็นเช่นนั้นนะหรือครับ ประเด็นแรก ผมว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสวายร้ายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา การระบาดของ COVID-19 มีการกระจายตัวออกไปหลากหลายพื้นที่อย่างรุนแรงและกว้างขวางมากขึ้น

ลองไปติดตามการประกาศพื้นที่เสี่ยงของศบค.ได้เลยครับว่า ในระยะ 2 เดือนก่อนนั้น เราจะพบเป็นรายจังหวัด ตอนนี้เราพบว่า ใน 1 จังหวัดมีพื้นที่เสี่ยง 10-30 พื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ไข่แดงอย่าง กทม.

ประการที่สอง เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์บาดไม่หยุดจากสายพันธุ์อังกฤษย่านทองหล่อที่แก้กันยังไม่ตก มาเป็นในสายพันธุ์อินเดียที่มีการเดินตามตัวมนุษย์ผู้ลักลอบเข้าเมืองมานั้น เริ่มมีจำนวนที่น่าขนลุกขนพอง เพราะเข้ามาเดินเล่นในกทม.แล้ว 206 คน

ประการที่สาม การฉีดวัคซีนที่กำลังเป็นวาระแห่งชาติของไทยในตอนนี้โดยหวังว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) อันนำไปสู่การเปิดประเทศทำให้การค้าการขายเข้าสู่ภาวะปกติ จีดีพีของไทยจะได้ขยายตัวขึ้น...

ผมประเมินว่า เจ้าสำนักเศรษฐกิจของรัฐทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง อาจทำนายผิด

หลายสำนักเศรษฐกิจคาดว่า ถ้าฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วมากขนาด 70-100 ล้านโดสในปีนี้ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในไตรมาส 1 ของปี2565 จีดีพีไทยน่าจะขยายตัวได้ 2% และจีดีพีน่าจะขยายตัว 4.5-4.7% ในปี 2565

ทว่า หากพิจารณาจากการจัดหาและการปูพรหมฉีดวัคซีน ผู้มาไม่ตามนัด ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ทำงานเต็มที่มือระวิงแล้ว ในปีนี้ผมว่า ถ้าจัดหาวัคซีนได้กระปริบกระปรอย ฉีดวันเว้นวันและโฟกัสลงไปในพื้นที่จังหวัดใหญ่แบบนี้ ลำพังจะฉีดวัคซีนได้ 65 ล้านโดสในปีนี้ก็บุญโขแล้วครับ

และถ้าเป็นเช่นนี้แล้วไซร้ จีดีพีของไทยคงจะขยายตัวได้แค่ 1-2% ก็บุญโขแล้วครับพี่น้อง สถานการณ์แบบนี้ “นายกรัฐมนตรี” จึงต้องกล้าตัดสินใจ จัดงบประมาณลงไปในกลุ่มที่มีศักยภาพเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่รอด ก่อนจะจอดไม่ต้องแจวกันทั้งประเทศ...อะไรที่เราจะรอด ถมใส่อันนั้น อะไรที่เราจะพังต้องยอมเมินหน้าหนี แต่ไม่ใช่ทำงานแบบเดิมๆเหมือนข้าราชการ คือทำตามขั้นตอนและทุกอย่างสำคัญหมด...

ยิ่งตอนนี้พระเอกตัวจริงไปอิงอยู่กับการส่งออก ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มเกิดติดเชื้อโคตวิดแบบคลัสเตอร์เข้าไปอีก ขอยืมคำพูด โคว้ ตง หมง อดีตประธานรัฐสภามาบอกรัฐบาลไว้เลยว่า ....ยุ่งตายห่ะ...ละครับพี่น้อง

เพราะตอนนี้การท่องเที่ยวตายอย่างเขียด บรรดาเอสเอ็มอีจนบัดป่านนี้นอนสลบคาเตียงอยู่กว่า 3-4 แสนราย ร้านอาหารปิดตายกันถ้วนหน้า...

การจะหวังผลเลิศเหมือนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2564 น่าจะขยายตัวในช่วง 2.5-3.5% ฝันกลางวันละครับคุณลุง

เช่นเดียวกัน การที่ สำนักงบประมาณ & สภาพัฒน์ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 น่าจะเติบโตได้ 4-5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์จากต่างประเทศ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน….

คนเดินตรอกอย่างผมขอเห็นต่างขอรับนายท่าน ผมไม่เชื่อว่า เศรษฐกิจในปี 2564 จะโตได้ 3.5% และผมไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 2565 จะเติบโตได้ 4-5% หากการจัดการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีการทำงานแบบเด็ดขาดหรือดำเนินการไปในทางเดียวกัน

ตราบใดที่ยังไม่มีการจัดสรรวัคซีนลงไปถึงมือ โรงพยาบาลสุขภาพระดับตำบล-รพ.สต. ที่สามารถประสานมือกับบรรดา อสม. ซึ่งมีอยู่ร่วม 1.5 ล้านคน จูงมือชาวบ้านที่ตัวเองรับผิดชอบ 1 คน/10 ครัวเรือนมาฉีดวัคซีนกันตาม รพ.สต.ในหมู่บ้านกันคนละ 3-4 คน/วันเมื่อไหร่.... เมื่อนั้นไม่มีทางจะทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่และผลักดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้

รัฐบาลลุงตู่จะต้องกล้าพลิกเกมเร่งจัดสรรวัคซีนลงไปให้ถึงมือ คนวัยทำงาน ในพื้นที่ระดับอำเภอ ระดับตำบลโดยเร็ว มิใช่จัดวงคนเสี่ยงจากโรคภัยก่อน แต่กลับปล่อยให้คนหมู่มากที่ต้องเดินทางไปทำงานทุกวัน ต้องเดินมาหาวัคซีนในพื้นที่ชุมชนที่มีคนจำนวนมากเช่นปัจจุบัน ความขลังของ ภูมิคุ้มกันหมู่ จึงบังเกิด

ประการต่อมา ผมเห็นว่าสภาพปัจจุบันนั้น แรงกดดันทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องกล้าตัดสินใจจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเร็ว คือ สัดส่วหนี้ของ 2 กลุ่มที่จะลากเศรษฐกิจประเทศเข้ารกเข้าพงไปอีกยาว...

กลุ่มแรกที่ผมเห็นว่า จะเป็นปัญหาคือ หนี้ครัวเรือนของกลุ่มคนทำงาน ก่อนโควิด-19 จะระบาดนั้น หนี้ครัวเรือนไทยตกประมาณ 79% ของจีดีพี และในช่วงปลายปี2563 ขึ้นมายืนที่ระดับ 86.3% ของจีดีพี อันนี้เป็นข้อมูลของสภาพัฒน์ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตอนนี้ผมว่าน่าจะลากขึ้นไปทะลุ 90% แล้ว

ล่าสุด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินหนี้ครัวเรือนของคนทำงานพบว่า เพิ่มขึ้นจากครัวเรือนละ 158,856 บาท ในปี 2562 ก่อนเกิดระบาดของโควิด-19 ทะลุขึ้นมาพรวดพราดถึง  205,810 บาทต่อครัวเรือนในงวดเดือน เม.ย.2564

อันนี้ อ.ต.ร.ครับนายกฯครับ เพราะหนี้ครัวเรือนของคนวัยทำงานนั้นบี้รายได้ต่อหัวของไทยแบบหายใจรดต้นคอ โดยรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีในตอนนี้เหลือแค่ราว 233,200 บาทเท่านั้น เพราะรายได้ลดลงจากพิษโควิดเฉลี่ยประมาณ 10-12%

กลุ่มที่สองที่เป็นปัญหาหนักหน่วงคือ บรรดาผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีอยู่ราว 3-4 ล้านราย ผมว่าถึงตอนนี้ยังมีลมหายใจแบบรวยรินอยู่ไม่ถึง 1.5-2 ล้านราย ส่วนกลุ่มคนที่เหลือ นอนเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่ก็ต้องจำใจปิดกิจการเพราะรายได้ไม่มี แต่รายจ่ายดอกเบี้ย ค่าเช่า ค่าพนักงานเดินทุกวันจนไม่มีเงินที่ไหนจะควักมาจ่าย

ผมมีโอกาสไปพบนายธนาคารกลุ่มหนึ่ง เราพูดคุยกันในเรื่องหนี้เอสเอ็ม อี พบว่าตอนนี้น่าห่วงมาก แม้จะยืดหนี้ให้ ลดดอกเบี้ยให้ ขยายระยะเวลาในการจ่ายออกเบี้ย ลดการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระตามกติกาธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เชื่อหรือไม่ สินเชื่อในกลุ่มเอสเอ็มอีไม่มีการขยายตัวเอาเลย หดตัวลงมาอย่างต่อเนื่องจนสินเชื่อจริงๆ เหลือเพียงแค่ 3 ล้านล้านบาทเศษเท่านั้น จากยอดทั้งหมดที่เคยทำได้ของระบบธนาคารราว 6 ล้านล้านบาท

ที่ยังน่าเป็นห่วงคือสินเชื่อในกลุ่มที่เขาเรียกว่า สินเชื่อที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Special  Mantoin) พุ่งขึ้นมาอย่างน่าตกใจทะลุขึ้นมาถึง 15%  จากเดิมที่อยู่ในระดับไม่เกิน 6-7%

ยอดหนี้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ กลุ่มสินเชื่อประเภท สามวันดีสี่วันไข้ จ่ายดอกเบี้ยเดือนเว้นเดือนพร้อมที่จะสวมบทซามูไรชักดาบออกมาฮาราคีรีตัวเองได้ทุกเมื่อนั้น ยอดสินเชื่อกลุ่มนี้คุณคิดว่าเท่าไหร่ .....

ทายไม่ถูกแน่นอน ....ยอดสินเชื่อกลุ่มนี้ทะลุไปยืนบนฟ้าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 1.1 ล้านล้านบาท อันนี้ตัวเลขสิ้นไตรมาส 1/2564

ตัวเลขนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนนะครับ ปกติตัวเลขสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษนี้ หากทะลุ 5 แสนล้านบาทนี่ถือว่าอันตราย บรรดานายธนาคารต้องกุมขมับ ประชุมกันแล้วประชุมกันอีก แต่นี่ทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท โอวแม่เจ้า...

การที่สินเชื่อกลุ่มนี้มีปัญหานี่แหละ ผมถึงบอกว่าอันตราย เพราะถ้าคนตัวเล็กล้มหายตายจาก ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจทั้งหมดสลบจะขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปยากมาก ในสถานการณ์พิเศษแบบนี้ ผมถึงบอกว่าต้องกล้าตัดสินใจใช้วิธีพิเศษมาทำหน้าที่ให้ทุกคนอยู่ได้ไม่ใช่ยืนตายซาก...คิดไม่ออกไปรื้อวิธีการตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยออกมาใช้ก็ได้ แต่ต้องให้คนขายทรัพย์ออกไปสามารถหาเงินมาซื้อได้ในราคาทุนในอนาคต...

เพราะทุกประเทศไม่สามารถยืนหยัดสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับผู้คนได้ด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่ราย แต่ทุกประเทศยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการกระจายการสร้างงาน การประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้คนตัวเล็กจำนวนมากรายให้ยืนอยู่ได้ และกระจายตัวออกไปในแทบทุกอณูของประบบเศรษฐกิจ

ทฤษฎีใครไม่ไหว ต้องปล่อยให้ตายใช้ไม่ได้ในสงครามของโรคระบาดครับ อาจใช้ได้สำหรับการแข่งขันอย่างเสรีเพื่อเพื่มประสิทธิภาพ แต่การระบาดของโรคห่าซาตานที่เกิดขึ้นนั้น ผู้นำรัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดในการใช้วิธีการมาดูแลผู้คนในประเทศให้อยู่รอดให้ได้ครับ

ดำริทางนโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยทธ์ จันทร์โอชา ข้อเสนอของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง การผลักดันของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในการจัดสรรเงินกู้จากพรก. 5 แสนล้านบาท ออกไปดูแลบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจของคนตัวเล็ก ผ่านกระบวนการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน ลูกจ้าง 40-50% เป็นเวลา 6-9 เดือน เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนอย่างยิ่งครับ

ยิงเงินกู้ตรงลงไปให้คนตัวเล็กที่ต้องการลมหายใจ มีประโยชน์ ดีกว่าปล่อยให้หน่วยงานของรัฐแต่ละกระทรวงจัดโครงการลงทุนขึ้นมา แล้วปล่อยให้บรรดาเสือโหย บรรดานักการเมือง ขาใหญ่ผู้มากด้วยบารมีจัดลูกทีมไปรอกินหัวคิวจากโครงการลงทุนคนละร้อยสองร้อยล้าน....เป็นไหนๆ

ส่วนแนวทางจะออกมาในรูปแบบใด จะมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการว่า ต้องเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องและยังคงประกอบกิจการอยู่

ต้องเป็นกิจการและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือจะต้องเป็นกิจการที่เมื่อได้รับการช่วยเหลือแล้ว สามารถปรับตัวให้อยู่รอดและไปต่อได้ ก็อยู่ที่การกำหนดกฎเกณฑ์ออกมา แต่ต้องทำเร็ว ทำจริง ทำให้เห็นผล

ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นวิกฤติ เป็นสถานการณ์พิเศษ การกำหนดกฏของการช่วยเหลือต้องไม่ใช่ “กด” จนเอกชนหายใจไม่ได้และสุดท้ายกลายเป็นการใช้ดุลยพินิจ

โปรดจำไว้ นี่คือสถานการณ์พิเศษ ต้องกล้าจัดการด้วยวิธีพิเศษ แล้วสิ่งที่พิเศษจะหวนกลับมาเป็นรางวัลให้กับการตัดสินของรัฐบาลในภายภาคหน้าครับ