วอนรัฐปรับน้ำหนัก ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

02 มิ.ย. 2564 | 05:00 น.

วอนรัฐปรับน้ำหนัก ฟื้นฟูเศรษฐกิจ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3684 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-5 มิ.ย.2564

 โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงอยู่ในเวลานี้ ในมุมผู้ว่าการธปท.นับเป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและได้ทดสอบความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจ พร้อมกับประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนหน้าโควิดระบาดได้ในไตรมาสแรกปี 2566 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ทอดยาว จากผลกระทบของการระบาดในหลายระลอก ที่ทางการต้องออกมาตรการควบคุม ส่งผลให้เศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วงๆ โดยเศรษฐกิจในปี 2563 ของไทยหดตัวมากสุด เมื่อเปรียบเทียบกับในภูมิภาค

สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสามและการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบกับกำลังซื้อและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ธุรกิจในภาคการค้าและบริการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้รับผลซ้ำเติมต่อเนื่อง ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบและความทนทานของธุรกิจ วัดกันที่สายป่านในการดำเนินธุรกิจ บางธุรกิจสายป่านสั้น ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว ขาดรายได้ กระทบสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกตินี้ ธุรกิจ เอสเอ็มอีจำต้องการความช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน

ก่อนหน้านี้ภาครัฐ และ ธปท.ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเน้นการเยียวยารายได้และกระตุ้นรายจ่ายของประชาชน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ของผู้ประกอบการ พร้อมกับเร่งออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้แบบครบวงจร เพื่อให้ลูกหนี้มีทางเลือก ตัวช่วยที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ ตั้งแต่การพักหรือชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ และช่วยเหลือสภาพคล่อง ที่อาจมีข้อจำกัดในแง่สินเชื่อตามพ.ร.ก.ซอท์ฟโลนเดิม โดยพยายามปลดล็อกด้วยการปรับสู่สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อให้เข้าถึงได้มากขึ้น

ธปท.เริ่มมองเห็นว่าปัญหาสภาพคล่องเอสเอ็มอีสำคัญที่สุดในขณะนี้ โดยต้องทำให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้รับสภาพคล่องอย่างทันการณ์ ซึ่งต้องผนึกกับรัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ เอสเอ็มอีที่ต้องร่วมมือกัน รัฐและ ธปท. ช่วยลดความเสี่ยงภาพรวม เตรียมความพร้อมและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการฟื้นฟู สถาบันการเงินประสานเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และปรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ประสานความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงินกับคู่ค้ารายย่อย ส่วนเอสเอ็มอีต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้อยู่รอดยกระดับการจัดการธุรกิจ จัดการเรื่องการเงินและบัญชีให้ได้มาตรฐาน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดโควิดที่เกิดขึ้น ลงลึกในทุกอณูหรือทุกภาคส่วน ที่ธปท.เองมองเห็นชัดเจนและพยายามเข้าช่วยในการสกัด ยับยั้ง ช่วยเหลือ ขณะที่ภาครัฐ หน่วยงานของรัฐโดยรวมพิจารณาจากการจัดงบประมาณปี 2565 หรือ พ.ร.ก.กู้เงินก้อนใหม่ 5 แสนล้าน หรือ มาตรการที่ผ่านครม.ออกมา ยังมุ่งไปที่การเยียวยาเป็นรายบุคคล เราเห็นว่าภาครัฐต้องปรับทิศทางและน้ำหนักการใช้จ่ายงบปประมาณ หรือ หันเหทิศทางนโยบายไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวโดยเร็วก่อนประมาณการณ์ในปี 2566