เมื่อการเมืองและเศรษฐกิจ สปป.ลาว กำลังจะมาถึงทางตัน

08 เม.ย. 2564 | 03:30 น.

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,668 หน้า 5 วันที่ 8 - 10 เมษายน 2564

 

ในขณะที่หลายๆ คนกำลังจับจ้องมองไปยังเพื่อนบ้านของไทย ทางฝั่งตะวันตก และกังวลเรื่องปัญหาการเมืองขั้นวิกฤติิของเมียนมา แต่หากมองไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มรสุมการเมือง และเศรษฐกิจก็กำลังก่อตัว ใน สปป.ลาว

เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา การประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 9 ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดย ท่านทองลุน สีสุลิด ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานประเทศ และเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พรรคคอมมิวนิสต์ลาว) และให้ ท่านพันคำ วิพาวัน อดีตรองประธานประเทศ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่หัวหน้าคณะบริการกิจการต่างๆ ของประเทศ

และหากเราพิจารณาคำ ปราศรัยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีท่านที่ 9 ของสปป.ลาว ที่พึ่งเข้ารับตำแหน่ง จะเห็นได้ชัดเจนว่า สปป.ลาวกำลังจะเดินหน้าใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบรัดเข็มขัด (Austerity Economic Policy) โดย ท่านพันคำประกาศจะลดการขาดดุลงบประมาณแผ่นดิน (รายจ่ายภาครัฐ เหนือรายรับภาครัฐ) ให้ลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ของ GDP ภายในปี 2025 ขณะที่ในความเป็นจริง ภาวการณ์ ขาดดุลงบประมาณของ สปป.ลาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.3% ของ GDP ในปี 2019 เป็น 6.5% ของ GDP ในปี 2021 

นายกรัฐมนตรีพันคำ ยังประกาศจะลดสัดส่วนของเงินเดือนพนักงานของรัฐจาก 52% ของงบประมาณแผ่นดิน เหลือเพียง 42% ในขณะที่เศรษฐกิจ สปป.ลาว ไม่ได้เจริญเติบโตในอัตราเฉลี่ย 7% เหมือนเดิมอีกต่อไป หากแต่ในปี 2019 ก่อนวิกฤติิโควิด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาวลดลงมาอยู่ที่ 5.5% และมีอัตราการขยายตัวติดลบ (เศรษฐกิจหดตัว) ที่ 0.6% ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีวิกฤติิโควิด-19

แน่นอนว่าท่ามกลางวิกฤติิเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่มีผลกระทบมาจากสภาวะแวดล้อมภายนอก กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในภาวะวิกฤติิโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ การใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ที่ต้องเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ ลดภาระภาษีที่จัดเก็บกับประชาชน เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากแต่ก็เป็นแรงกดดันให้รัฐต้องยอมมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เพื่อเข้ามาชดเชยรายรับของรัฐ ที่ลดลง และรายจ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้น 

 

แต่สำหรับ สปป.ลาว เรื่องไม่ได้ง่ายดังที่ควรจะเป็น เพราะนอกจากนายกฯ ท่านใหม่จะประกาศลดเพดานการก่อหนี้ ลดการขาดดุลงบประมาณแล้ว สถานะทางการคลังของ สปป.ลาว ที่มีหนี้สาธารณะเดิมในมูลค่าที่สูง (52.6% ของ  GDP ณ ปี 2019) ก็ทำให้รัฐบาลเข้าใกล้เพดานการก่อหนี้ และในขณะเดียวกันต้นทุนการก่อหนี้สาธารณะเพื่อมาบริหารจัดการประเทศก็มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เนื่องจากเครดิตของประเทศ ซึ่งพึ่งจะถูก Fitch ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ CCC ตํ่าที่สุดเพียงประเทศเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับ 21 เขตเศรษฐกิจของภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ในปี 2020

 

เมื่อการเมืองและเศรษฐกิจ  สปป.ลาว กำลังจะมาถึงทางตัน

 

ดูเหมือนเศรษฐกิจ สปป.ลาว จะเข้าใกล้ขีดจำกัด และแน่นอนว่า เหตุการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ เพราะต้องอย่าลืมว่า สปป.ลาวมีระบบการเมืองการปกครองแบบเดียวกับ จีน และ เวียดนาม นั่นคือระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบ Unitary Marxist–Leninist one-party socialist republic ซึ่งมีพรรคการเมืองเดียว คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว 

แน่นอนว่าระบบดังกล่าวมีความเป็นอำนาจนิยมอยู่ในระดับที่สูง แต่ในกรณีของจีน และ เวียดนาม ประชาชนยอมสูญเสียอิสรภาพในบางระดับ เพราะพรรคการเมืองที่บริหารประเทศหยิบยื่นโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวให้กับประชาชน ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี มีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น ปี 2021 จีนประกาศว่าไม่ มีคนยากจนขั้นรุนแรงที่ใช้ชีวิตตํ่ากว่าเส้นขีดความยากจนอีกต่อไป 

 

 

ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2020 ที่มีวิกฤติิโควิด-19 ก็อยู่ที่ 2.3% เช่นเดียวกับเวียดนามที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2020 อยู่ที่ 2.9% ซึ่งขยายตัวสูงกว่าจีนด้วยซํ้า และมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนเวียดนามโดยเฉลี่ยก็ปรับตัวดีขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

หากแต่ สปป.ลาว เหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจยังคงตกตํ่า ประกอบกับรัฐที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะรัดเข็มขัด ไม่สามารถจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้อย่างที่ควรจะเป็น ในขณะที่เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ใช้โมเดลเศรษฐกิจและการเมืองแบบเดียวกัน เขาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2021 อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องจับตามองการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของ สปป.ลาว เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับไทยมากที่สุด