ขี่บนหลังเสือต่อไป หรือ ลงจากอำนาจอย่างสง่างาม

24 มี.ค. 2564 | 00:05 น.

ขี่บนหลังเสือต่อไป หรือ ลงจากอำนาจอย่างสง่างาม : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3664 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-27 มี.ค.2564 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

22 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำ ผบ.เหล่าทัพ ตั้งเป็นคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ ด้วยเหตุผลสำคัญตามประกาศที่ได้แถลงการณ์ แก่ประชาชนว่า "เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชนโดยรวมนั้น เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักสามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย คสช.จึงจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ" นี่คือสาระสำคัญจากประกาศการเข้ายึดอำนาจที่ คสช.ได้ให้ไว้กับประชาชน โดยเป็นที่เข้าใจว่า คสช. คงเข้ามาควบคุมอำนาจบริหารประเทศชั่วคราวเท่าที่จำเป็นสัก 1-2 ปี

บัดนี้เหลืออีกเพียงสองเดือนก็จะครบ 7 ปี แห่งการยึดอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. ที่สามารถควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และจัดให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ จัดการเลือกตั้งทั่วไป จน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยต่อเนื่อง ภายหลังการเลือกตั้งได้อีกครั้งถึงปัจจุบัน

การที่หัวหน้าคณะรัฐประหาร สามารถควบคุมอำนาจการปกครอง และสืบต่ออำนาจของตนมาได้เช่นนี้ โดยมิถูกต่อต้านอย่างรุนแรงในช่วงต้นที่เข้าสู่อำนาจอีกครั้ง นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยุคที่ประเทศมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งคงมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน ประกอบกับพลังประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ ล้วนอ่อนล้ากำลังลง ความกล้าหาญและการตัดสินใจ กล้าอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของ พลเอกประยุทธ์ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เอื้อโอกาสให้กับตนเองนั้นจึงเกิดขึ้น

การตัดสินใจอยู่ยาวและสืบต่ออำนาจจากการรัฐประหาร จึงไม่ต่างอะไรกับการกล้าขี่บนหลังเสือ และยิ่งถ้าคิดจะอยู่ในอำนาจต่อไปให้ยาวนานอีกหนึ่งสมัยต่อจากนี้ จนบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันหมดวาระ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะเท่ากับ พลเอกประยุทธ์ อยู่ในอำนาจมากกว่า 8 ปี เกินวาระสองสมัย ที่สุดจะลงจากหลังเสือได้อย่างไร จึงจะปลอดภัยและสง่างามเยี่ยงรัฐบุรุษ

นี่คือปัญหาและโจทก์ข้อใหญ่ของนายกรัฐมนตรี ที่คงไม่มีใครๆ หรือคนใกล้ชิดกล้าเสนอให้พิจารณา เพราะการขึ้นสู่อำนาจว่ายากแล้ว แต่การลงจากอำนาจนั้นยากยิ่งกว่า เรื่องนี้ท่านจะคิดหรือไม่ ว่าจากนี้ไปควรเตรียมตัวลงจากอำนาจอย่างไร หรือยังต้องการขี่บนหลังเสือต่อไป

การที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาได้ หรือผ่านพ้นการพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยชนะเสียงฝ่ายค้านมาได้ก็ดี หรือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจัดการกับม็อบต่อต้านรัฐบาล ด้วยข้อหาและกฎหมายและใช้กำลังควบคุมก็ดี มิได้หมายความว่า รัฐบาลจะสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปด้วยความราบรื่นและมั่นคง เพราะหนทางแห่งอำนาจจากนี้เป็นต้นไป รัฐบาลจะต้องเผชิญกระแสการต่อต้านการอยู่ในอำนาจของท่าน อย่างหนักหน่วงและรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ

ความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่เหมือนเดิม ด้วยสารพัดปัญหาที่จะตามมาอย่างแน่นอน และมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลก็จะยังมิหยุดการเคลื่อนไหว อาจขยายตัวเพิ่มขึ้น จนกว่านายกรัฐมนตรี ที่พวกเขาเห็นว่ามาจากรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม และด้วยการยึดอำนาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ "ล้วนมาจากกรรมเก่า ผลจากการสืบทอดอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร ที่มิได้ทำตามสัญญาว่าจะขอเวลาอีกไม่นาน และการมิได้ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตามที่ประกาศและให้สัญญากับประชาชน" นั่นเอง

สัญญาณที่บอกให้รู้ว่า ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองอย่างไร ได้สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านผลสำรวจของนิด้าโพลแล้วในหัวข้อเรื่อง "ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่" ที่มีการสำรวจระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2564 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปกระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 1,313 ตัวอย่าง ซึ่งได้แถลงเปิดเผยเมื่อ 21 มีนาคม 2564

โดยพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.49 ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ) มีเพียงร้อยละ 25.13 เท่านั้นที่ไม่ประสงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และยังพบว่าหากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พบว่าร้อยละ59.86 ระบุว่าบุคคลที่ควรเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญคือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยผลสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นเจตนาของประชาชนว่า ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เอื้อประโยชน์การอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ผลสำรวจนี้ในมุมกลับ จึงสะท้อนทัศนะคติของประชาชนต่อรัฐบาลได้เป็นอย่างดีว่า ประชาชนต้องการให้บ้านเมืองก้าวเดินต่อไปอย่างไร นายกรัฐมนตรีควรอยู่ต่อหรือไม่

สถานการณ์การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ยังจะเป็นกระแสสูงเรียกร้องกดดันต่อรัฐบาล ควบคู่ไปกับกระแสต่อต้านการอยู่ในอำนาจต่อไปของนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการยึดอำนาจอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งอยากอยู่ในอำนาจยาวนานเพียงใด พลังต่อต้านก็จะยิ่งมีมากขึ้นโดยลำดับ อันเป็นสัจจธรรมของการเมืองไทย

การที่ พลเอกประยุทธ์ ตัดสินใจเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง และรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาที่บ้านเมืองวิกฤติ และได้ทำหน้าที่คืนความสงบสุขแก่ประชาชน แก้ปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองบนสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือคลี่คลายวิกฤติโควิดมาได้ด้วยดี ทั้งได้มีส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศมาได้ในระดับหนึ่งนั้น นับว่าเป็นคุณูปการอันสมควรแก่การยกย่องเหมาะสมแล้ว ในสถานการณ์แห่งความจำเป็นของช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่การจะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกอย่างยาวนาน โดยไม่มีทีท่าว่าจะลงจากอำนาจอย่างไรนั้น คงลำบากและไม่สง่างามและอาจเกินเวลาที่จำเป็น จึงสมควรแก่เวลาที่ท่านจะคืนความเป็นประชาธิปไตยแก่บ้านเมือง ให้การเมืองได้เกิดการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง และให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเองเสียจะดีกว่า

การลงจากหลังเสือและก้าวลงจากอำนาจอย่างสง่างาม เปิดทางและสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ จึงน่าจะเป็นทางออกของบ้านเมือง และเป็นทางลงที่สง่างามของนายกรัฐมนตรี ที่มีคุณค่าแก่การจดจำของประชาชนในทางที่ดีงามสืบไป

ผู้เขียนไม่ได้โกรธหรือรังเกียจ ไม่ได้ต่อต้านหรือขับไล่ท่าน เพียงแต่เห็นว่าเหมาะสมแก่กาลเวลา ต้องการชี้ทางสว่าง อย่างกัลยาณมิตรต่อท่านเท่านั้นเอง เพราะคนเราเมื่ออยู่ในอำนาจนานๆ อาจเสพติดอำนาจได้ คนแวดล้อมล้วนแต่คอยเชียร์ให้อยู่ต่อ คำว่า "ผมพอแล้ว" ไม่เกิดขึ้น อาจพาให้หลงในอำนาจและเสียคนได้ จึงอยากเสนอเพื่อโปรดพิจารณา ควรมิควรแล้วแต่จะตัดสินใจครับ