ประชาธิปัตย์ จุดยืนและอนาคตใหม่ ที่ต้องเลือก

09 มี.ค. 2564 | 11:26 น.

ประชาธิปัตย์ จุดยืนและอนาคตใหม่ ที่ต้องเลือก : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3660 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-13 มี.ค.2564 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งซ่อม มิใช่การเลือกตั้งโดยทั่วไป แต่ก็มีความหมายความสำคัญต่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเลือกตั้งซ่อมแทน ส.ส.เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการเลือกตั้งที่มีเดิมพันสูงต่อพรรคเจ้าถิ่น ที่ต้องพยายามเอาชนะให้ได้ เพื่อรักษาพื้นที่ทางการเมืองของตน เหตุเพราะนครศรีธรรมราช เป็นฐานที่มั่นสำคัญทางการเมือง เปรียบเสมือนเมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ก็ว่าได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่ประชาธิปัตย์เคยครองชัยชนะเด็ดขาดเหนือทุกพรรคการเมืองมาก่อน โดยมี ส.ส.ทุกเขตยกจังหวัด จนยากที่พรรคการเมืองอื่นจะเข้ามาเบียดแทรกได้

ในการเลือกตั้งโดยทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2562 พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้งที่นครศรีธรรมราชให้กับพรรคประชารัฐไป 3 ที่นั่ง แต่นั่นมาจากการเลือกตั้งโดยทั่วไป ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องเคารพเสียงประชาชน และเป็นที่เข้าใจได้ในทางการเมือง แต่ในคราวการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ กับ พลังประชารัฐ เป็พรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน และการที่พรรคพลังประชารัฐ จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ต้องอาศัยเสียงยกมือสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น จึงจะมีความชอบธรรม เพราะมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เกินครึ่งจากจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในสภาฯ โดยมิใช่อาศัยเพียงเสียงของ ส.ว.ที่ คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง

การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนั้น จึงต้องแลกมาด้วยรอยร้าวและความแตกแยกครั้งสำคัญในพรรค เพราะเสียง ส.ส.ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นรัฐบาลทหารเผด็จการ เพื่อการสืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร ขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ มีผลทำให้อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค และ ส.ส. และยังมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ บางคน ไม่ยอมโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นปัญหาคลื่นใต้น้ำในพรรคประชาธิปัตย์มาจนปัจจุบัน แต่หัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่ ก็ตัดสินใจและมีมติให้ร่วมรัฐบาล

การที่พรรคประชาธิปัตย์ยอมร่วมรัฐบาล ตัดสินใจอุ้ม พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนแคะจากสังคมย่อมหักเสียงคัดค้านภายในพรรค และเสี่ยงต่อผลกระทบที่จะตามมากับพรรคเช่นนี้ คนที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ พรรคพลังประชารัฐ ที่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สมใจ ตัดหน้าฝ่ายค้านที่ประกาศรวมเสียงข้างมาก ประกาศการจัดตั้งรัฐบาลไปก่อน กล่าวโดยสรุปคือ "หากปราศจากเสียงสนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่มีรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา " นั่นเอง

เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมารยาททางการเมืองแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลมักจะเปิดพื้นที่ หลีกเลี่ยงการแข่งขันกันเอง โดยเฉพาะพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มักจะไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ดังปรากฎในการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครปฐม พรรคพลังประชารัฐ ก็หลีกทางให้กับพรรคชาติไทยพัฒนา แต่กับพื้นที่ นครศรีธรรมราช พลังประชารัฐกลับไม่ยอมหลีกทางแก่พรรคประชาธิปัตย์ มิหนำซ้ำยังขนขบวนหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคระดับรองนายกฯ และรัฐมนตรีจำนวนมาก ไปช่วยหาเสียงอีกด้วย

การอาศัยฐานะความเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และมีคณะรัฐมนตรีจำนวนมากลงไปช่วยหาเสียงเช่นนี้ ย่อมได้เปรียบพรรคคู่แข่ง ส่งผลต่อชัยชนะจากการเลือกตั้ง มีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ในการวางตัวและสนับสนุนการเลือกตั้ง ไม่นับถึงอิทธิพลและอำนาจแฝงอื่นๆ ที่เกื้อหนุนต่อคะแนนเสียง ท่าทีและท่วงทำนองทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐดังกล่าว ภาษาชาวบ้านคือ ไม่เห็นหัวไม่ไว้หน้าพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เกรงใจพรรคเจ้าถิ่นที่อุ้มชูแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลนั่นเอง

ผลแพ้ชนะของการเลือกตั้ง อาจมีเหตุปัจจัยหลายประการมาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะการการแข่งขันกับพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล ที่สามารถออกนโยบายหว่านเงินหาเสียง ย่อมทำให้พรรคอื่นๆ เสียเปรียบ นั่นคือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสรุปบทเรียน ศึกษาและวิเคราะห์หาสาเหตุให้พบ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตนเอง

แต่สิ่งสำคัญที่ประชาธิปัตย์จำเป็นต้องทบทวนคือ จุดยืนในการเข้าร่วมรัฐบาลของตน ภายใต้สถานะที่เป็นลูกไล่หามวอให้คนอื่นนั่งนั้น ใช่การตัดสินใจและเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง ณ สถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ การยอมเป็นเบี้ยล่างอุ้มชูรัฐบาลต่อไป บนความสัมพันธ์อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ จะทำให้อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ จากจำนวน ส.ส. ต่ำร้อยไปสู่พรรคต่ำสิบหรือไม่ หรือจะมีอนาคตทางการเมืองของพรรคอย่างไร

นี่คือปัญหาใหญ่ของพรรค ภายใต้การร่วมรัฐบาลต่อไป การดำรงสถานะของพรรคอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สามารถเรียกความนิยมศรัทธาจากประชาชน ให้ฟื้นคืนกลับมาได้ดั่งเดิม สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับพรรคเหมือนในอดีตที่เคยรุ่งเรืองได้หรือไม่ นี่คือโจทก์ใหญ่ของประชาธิปัตย์

ผลจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช จึงมิได้มีความหมายเพียงแค่จำนวน ส.ส.สูญเสียไปหนึ่งที่นั่งเท่านั้น แต่ฉากทางการเมืองบทนี้ ยังสั่นสะเทือนถึงไปทั่วทั้งพรรคประชาธิปัตย์ สั่นคลอนต่อตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน เขย่าต่อเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ประชาธิปัตย์ยังจะสบายใจในการอยู่ใต้ร่มเงารัฐบาล ที่ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า เป็นผลิตผลมาจากการรัฐประหารต่อไปอีกหรือไม่ นี่จึงเป็นโจทก์ที่ท้าทายต่อผู้นำพรรค เป็นจุดยืนและอนาคต ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเลือกและตัดสินใจ ว่า "จะเลือกประชาชน ยึดมั่นประชาธิปไตย เลือกอนาคตใหม่ของตนอย่างไร หรือจะอยู่ไปวันๆ โดยไม่มีสิ่งใหม่ๆ ให้กับบ้านเมือง"