สิทธิฟ้องคดี : กรณีครม.มีมติให้ขยายเวลาสัมปทานทางด่วน!

07 มี.ค. 2564 | 04:50 น.

สิทธิฟ้องคดี : กรณีครม.มีมติ ให้ขยายเวลาสัมปทานทางด่วน! : คอลัมน์อุทาหรณ์คดีปกครอง โดย...นายปกครอง หน้า 6 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

สิทธิในการฟ้องคดี... เป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดการใช้สิทธิจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเมื่อกฎหมายกำหนดให้มีสิทธิแล้วจะใช้ หรือ ไม่ใช้ก็ย่อมได้ แต่หากกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ละก็...ต้องปฏิบัตินะครับ!

มาต่อกันที่...เรื่องสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งก่อนการใช้สิทธิควรสำรวจตรวจสอบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง เป็นต้นว่า...ต้องเป็นคดีปกครอง  ต้องฟ้องคดีภายในระยะเวลา ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และต้องเป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ได้ เป็นต้น  

วันนี้...นายปกครองได้นำเอาคดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ในการฟ้องขอให้เพิกถอนมติ ครม. ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเพิ่งมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยคดีดังกล่าวประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเพราะผู้ใช้ทางด่วนได้รับผลกระทบโดยตรง นั่นก็คือคดีที่ ครม. มีมติเห็นชอบให้ “แก้ไขสัญญาสัมปทานทางด่วนศรีรัช-อุดรรัถยา” ที่ให้ขยายเวลาสัมปทานต่อไปอีกนั่นเองครับ  

คดีนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชนผู้ใช้ทางด่วน ได้ฟ้องคณะรัฐ มนตรีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เนื่องจากมีผลให้โครงการทางด่วนที่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้ว ต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก ทำให้ประชาชนผู้ใช้ทางยังต้องเสียค่าทางด่วนในราคาที่สูงต่อไป 

 

 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามติ ครม.ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการรับฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ไม่มีการศึกษาถึงผลเสียหรือผลกระทบที่มีต่อประชาชนหรือผู้บริโภค จึงขอให้ศาลเพิกถอนมติ ครม.ดังกล่าว  

คดีมีประเด็นพิจารณาในเบื้องต้นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนมติครม. ดังกล่าวต่อศาลปกครองหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการแก้ไขสัญญาพิพาททั้งสองโครงการได้เริ่มดำเนินการในขณะที่พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556  ยังมีผลใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 47 วรรคสาม ให้อำนาจ ครม. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอ

การมีมติที่พิพาทจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของ ครม. อันมีผลบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขสัญญาตามร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ มติ ครม.ดังกล่าว จึงมิใช่การกำหนดแนวทางปฏิบัติงานภายในหน่วยงานทางปกครองแต่อย่างใด สิทธิฟ้องคดี : กรณีครม.มีมติให้ขยายเวลาสัมปทานทางด่วน!

เมื่อมติที่พิพาทมีผลทำให้โครงการทางด่วน ที่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาซึ่งจะต้องตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน จึงมิได้มีผลกระทบต่อคู่สัญญาเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการทางด่วน รวมถึงค่า ใช้บริการที่ผู้บริโภคต้องชำระ อันย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงและกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมด้วย  

ผู้ฟ้องคดีที่ 1 คือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และผู้ฟ้องคดีที่ ๒ เป็นประชาชนผู้ใช้ทางซึ่งอ้างว่าหากทางด่วนตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิได้ใช้โดยไม่ถูกเรียกเก็บค่าผ่านทาง หรือเรียกเก็บค่าผ่านทางในราคาถูกลง จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการมีมติของคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 406/2563) 

คดีนี้สรุปได้ว่า มติ ครม.ที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันมีผลให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม และมติดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้ทางด่วนและกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม จึงทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากมติดังกล่าว เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติ ครม. ดังกล่าวได้ครับ

เป็นอันว่าศาลปกครองได้รับฟ้องแล้ว ส่วนผลการพิจารณาว่ามติ ครม. ดังกล่าวนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปครับ 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและการทำสัญญาใหม่นั้น มาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อไป

(9 มีนาคม 2564 “20 ปี ศาลปกครอง ยืนหยัดความเป็นธรรม ก้าวลํ้าเทคโนโลยี”)