เทงบเยียวยาต่อเนื่อง พยุงเศรษฐกิจไทยฟื้น

05 ก.พ. 2564 | 23:00 น.

เทงบเยียวยาต่อเนื่อง พยุงเศรษฐกิจไทยฟื้น : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3651 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 ก.พ.2564

ในที่สุดกลุ่มพนักงานลูกจ้าง 11 ล้านคนในระบบประกันสังคม ก็ได้รับโอกาสเยียวยาผลกระทบการระบาดเชื้อโควิด-19 จากรัฐ เมื่อนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นชอบโครงการ มาตรา 33 เรารักกัน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณารายละเอียดมาตรการ ก่อนบรรจุให้ที่ประชุมครม.พิจารณาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นี้

           

คุณสมบัติผู้ได้รับการเยียวยาคือ เป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33  ไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เป็นลูกจ้างหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่อุดหนุนจะเป็นคนละ 3,500 บาท  4,000 บาท หรือ 4,500 บาท ครม.จะพิจารณาชี้ขาดต่อไป คาดว่าจะมีผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เข้าข่ายได้รับสิทธิเยียวยาประมาณ 9.2-9.5 ล้านคน รวมเม็ดเงินที่จะเยียวยาประมาณ 40,000 ล้านบาท

           

โครงการ มาตรา 33 เรารักกัน นับเป็นการขยายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบการระบาดเชื้อโควิด-19 กลุ่มตกหล่นจากโครงการ เราชนะ ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยอุดหนุนเงินคนละ 3,500 บาท  2 เดือน รวมเป็น 7,000 บาท เป้าหมายจำนวน 31 ล้านคน วงเงินประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ระยะเวลาโครงการระหว่างม.ค.-มิ.ย.ซึ่งนับได้ว่าเป็นมาตรการหลัก ในการดูแลประชาชนฝ่าวิกฤติการระบาดโควิด-19 รอบใหม่นี้ ระยะเวลาโครงการ

           

ทั้งนี้ รัฐจะทยอยโอนเงินเข้าแอฟเป๋าตังของผู้ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการสัปดาห์ละ 1,000 บาท เพื่อใช้นำไปชำระค่าสินค้าและบริการจากผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนร่วมโครงการ พร้อมทั้งขยายให้จ่ายค่าบริการเดินทางขนส่งได้ด้วย กลุ่มที่พร้อมจะทะยอยโอนให้เลย เริ่มจากกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มโอน ก.พ.นี้ กลุ่มที่มีแอปเป๋าตัง และที่ลงทะเบียน เราชนะถ้าผ่านการตรวจสอบสิทธิ์ในวันที่ 5 และ 8 ก.พ. ตามลำดับ  จะเริ่มโอน 18 ก.พ.นี้  

นอกจากนี้ยังมีโครงการ คนละครึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากปลายปี 2563 และเปิดขยายผู้รับสิทธิ์จากเดิม 10 ล้านคน เพิ่มอีก 5 ล้านคน รวมเป็น 15 ล้านคน และปรับวงเงินอุดหนุนเป็นคนละ 3,500 บาท รวมเป็นเม็ดเงินอีก 52,500 ล้านบาท และขยายเวลาโครงการเป็นถึงเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายที่กระจายไปถึงผู้ค้ารายเล็กรายน้อยทั่วประเทศ ซึ่งได้เติมยอดเงินสำหรับการใช้จ่ายให้วันละ 150 บาทอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นสุดโครงการเดือนมี.ค.นี้   

           

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง ชี้ว่า เม็ดเงินจากโครงการเราชนะ 210,000 ล้านบาท โครงการคนละครึ่ง 52,500 ล้านบาท รวมเป็น 262,500 นี้ จะช่วยพยุงจีดีพีประเทศไทยได้ประมาณ 1%  ดังนั้น การขยายวงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในโครงการเรารักกัน จะมีเม็ดเงินอีก 40,000 ล้านบาท และอาจมีกลุ่มตกหล่นหรือผู้เปราะบางอื่นๆ เพิ่มเติมตามมา จะช่วยประคองทั้งผู้คนและเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงยากลำบากจากพิษโควิด-19 นี้ เพื่อรอผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มแล้วในหลายประเทศ ที่จะทำให้เศรษฐกิจค่อยกลับมาเปิดได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับนับแต่ครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไป