จีนเป็นผู้นำโลกในวันนี้แล้ว

03 ก.พ. 2564 | 03:55 น.

จีนเป็นผู้นำโลกในวันนี้แล้ว : ​​​​​​​คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,650 หน้า 5 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ 2564

17 มกราคม 2560 หรือสี่ปีที่แล้ว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ 25 มกราคม 2564 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็ได้มีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีเดียวกัน

 

ความแตกต่างคือเมื่อสี่ปีที่แล้วท่านไปปรากฏตัวในเวทีระดับโลกอย่างโดดเด่น ส่วนในปีนี้ท่านได้ปรากฎตัวผ่านระบบออนไลน์ เพราะการระบาดของโควิด-19 ท่านผู้นำจีนมี ความโดดเด่นกว่าเดิมและสะท้อนถึงความเป็นผู้นำโลกที่แท้จริง

 

เมื่อท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกที่เปรียบ เหมือนเป็นการต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ในเวลานั้นแต่เป็นอดีตในวันนี้ คือรับ โดนัลด์ ทรัมป์ สู่สนามการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก ในเวลานั้นรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน เป็นตัวแทนประเทศ มายังดาวอส วันนี้ โจ ไบเดน ได้รับฟังสุนทรพจน์ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา

 

ในปี 2560 ผู้นำจีนได้ระบุว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและอัตราการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลงเป็นอย่างมาก แนวนโยบายที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่นานาชาติมีการพัฒนามีเทคโนโลยีใหม่ๆมาก็ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะรูปแบบธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามนวัตกรรมแต่กฎระเบียบ การค้าการลงทุนมิได้เปลี่ยนไปตาม

 

ปัญหาที่สำคัญของโลก คือการพัฒนาอย่างไม่สมดุล ขาดความเสมอภาคในการกระจายรายได้และการพัฒนาประเทศ  ความไม่เสมอภาคนั้นก่อให้เกิดความไม่สงบทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โลกจึงเต็มไปด้วยความ ขัดแย้งและเผชิญกับสิ่งที่ไม่แน่นอนมากขึ้น สุนทรพจน์ของท่านผู้นำได้ระบุชัดเจนว่า ปัญหาของโลกในหลายด้าน “ไม่ได้เกิดมาจากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ (Globalization)” แต่ปัญหาเกิดมาจาก ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ

 

อาทิ ผู้ลี้ภัยในภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลก แม้ว่าความเชื่อมโยงของโลกผ่านกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจอาจจะเป็นดาบ สองคมต่อเศรษฐกิจโลก ในส่วนของจีน ท่านผู้นำจีนมีความเชื่อว่าหากจีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี จีนต้องเข้าสู่ตลาดโลกและยอมรับความท้าทายความเสี่ยง และต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ได้
 

ในปี 2560 ผู้นำจีนได้เสนอแนะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกไว้ 4 ด้าน (1)  เศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ต้องมีการใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน (2) นานาชาติต้องมีความร่วมมือกันในลักษณะของ win-win เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน โดยยึดมั่นกับหลักการค้าเสรี ไม่ปกป้องทางการค้า และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้เน้นยํ้าว่า “จะไม่มีใครเป็นผู้ชนะจากสงครามทางการค้า” (3) การกำกับดูแลเศรษฐกิจโลกต้องมีความเป็นธรรม ประเทศรวยและประเทศจนจะต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน และปฏิบัติตามข้อผูกพันเช่นเดียวกัน และ (4) การพัฒนาที่มีความสมดุล เท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ

 

 

 

สัปดาห์ที่สามของปี 2564 ผู้นำของจีนได้กล่าวสุนทรพจน์อีกครั้งหนึ่งที่ดาวอส ได้เรียกร้องให้ นานาชาติจับมือร่วมกัน แก้ปัญหาภัยพิบัติจากโรคโควิด-19 และยังให้ความมั่นใจว่ามนุษยชาติจะสามารถเอาชนะโรคร้ายนี้ได้ และร่วมกันพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าร่วมกันในอนาคต ผู้นำจีนได้เสนอการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 4 ด้าน คือ

 

(1) การส่งเสริมการประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระหว่างประเทศและร่วมมือกันส่งเสริมให้เศรษฐกิจโลกเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน สมดุล และเปิดกว้างอย่างครอบคลุม (to setup macroeconomic policy coordination and jointly promote strong, sustainable, balanced, and inclusive growth of the world economy)

 

(2) เลิกการยึดถืออุดมการณ์อคติ และมาร่วมมือกันด้วยวิถีของการอยู่ร่วมอย่างสันติ และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน (to abandon ideological prejudiced and jointly follow a path of peace co-existence, mutual benefit, and win-win cooperation)

 

(3) ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยการร่วมกันส่งเสริมพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ (to close the divide between developed and developing country and jointly bring about growth and prosperity for all)

 

และ (4) ให้นานาประเทศร่วมมือกัน รับความท้า ทายระดับโลก และร่วมกันสร้างอนาคตที่ ดีกว่าสำหรับมนุษยชาติ (to come together against global challenges and jointly create a better future for humanity)

 

จีนเป็นผู้นำโลกในวันนี้แล้ว

 

 

ผู้นำจีน ยํ้าในเรื่องของความร่วมมือกันระหว่างประเทศผ่านกระบวนการพหุภาคี และสร้างประชาคมของโลก เสนอว่านานาประเทศในโลกต้องมุ่งมั่นที่จะเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้ทุกชาติมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของโลก หากแต่ประเชิญหน้าจะนำไปสู่จุดจบที่ไม่งดงาม นานาประเทศต้องมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎและระเบียบนานาชาติแทนที่จะมุ่งหวังทำให้ชาติตัวเองเป็นใหญ่ (seeking one’s supremacy)

 

การแก้ปัญหาของโลกต้องมีการร่วมมือแก้ไขปัญหา ผ่านการหารือซึ่งกันและกัน มีความร่วมมือที่จะลดข้อขัดแย้ง และทุกประเทศจะต้องมุ่งมั่นที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเวลาและพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยความร่วมมือแบบพหุภาคี (Multilateralism) ผู้นำจีนยังหยอดท้ายด้วยข้อความที่กล่าวถึง ความเป็นหนึ่งเดียวกันของโลก การแก้ปัญหาร่วมกัน การเจริญเติบโตไปด้วยกัน และการประสานประโยชน์เพื่ออนาคตของมนุษยชาติ 

 

 

 

จากการที่ได้ทบทวนสิ่งที่ผู้นำจีนได้นำเสนอไว้เมื่อสี่ปีก่อนและวันนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ด้วยความเป็นผู้นำที่จะเข้ามาดูแลความร่วมมือของนานาประเทศในโลก ลดความขัดแย้ง ลดอำนาจของชาติใดชาติหนึ่งโดยเฉพาะชาติตะวันตก

 

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความสมดุล เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาความไม่ยุติธรรม และความไม่ทัดเทียม ให้แก่ชาติกำลังพัฒนาให้มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกันกับชาติที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งจีนยังมีวิทยาการที่ก้าวหน้าในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ในการบริหารจัดการกิจการบ้านเมือง การสื่อสาร ด้านข้อมูลประชากร ด้านการเงิน และการตลาดยุคดิจิตัล อีกไม่นานคงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า “ทำอย่างไรให้โลกตะวันตกซึ่งยังถูกครอบงำโดยอุดมการณ์เก่าๆ ที่ชาติตัวเองต้องเป็นใหญ่ ให้เจริญทัดเทียมกับจีน (และอินเดีย)” ทั้งนี้คำถามดังกล่าวต้องตอบทั้งเชิงเศรษฐกิจและการจัดการทางการเมือง

 

“There is only one Earth and one shared future for humanity. As we cope with the current crisis and endeavor to make a better day for everyone, we need to stand united and work together. We have been shown time and again that to beggar thy neighbor, to go it alone, and to slip into arrogant isolation will always fail. Let us all join hands and let multilateralism light our way toward a community with a shared future for mankind.” President Xi Jinping (25th Jan 2021) at World Economic Forum in Davos