เบื้องหลัง "เราชนะ" ที่ใครหลายคนไม่เคยรู้

28 ม.ค. 2564 | 22:00 น.

เปิดเบื้องหลังโครงการ"เราชนะ" คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

โครงการ "เราชนะ" ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการกำหนดสิทธิกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือว่า ไม่ครอบคลุมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งในประเด็นการตัดสิทธิคนทำงานในระบบประกันสังคม ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีรายได้น้อย รวมไปถึงการกำหนดเงื่อนไขให้คนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 300,000 บาท และ มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท เท่านั้นที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ 

 

ผู้เขียนจึงขอนำเบื้องหลัง การพิจารณาโครงการเราชนะ จากรายงานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในประเด็นต่างๆของโครงการเราชนะ ซึ่งใครหลายคนไม่เคยรู้ มานำเสนอ ดังนี้  

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าโครงการเราชนะ ถือเป็นโครงการที่มีความจําเป็นต้องดําเนินการ แต่การให้ความช่วยเหลือประชาชนอาจจะพิจารณากําหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนตามจํานวนผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ ควบคู่กับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตามอาชีพ  

 

นอกจากนี้ ารกําหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการเราชนะ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติที่ไม่ต้องการสนับสนุนออกจากบัญชี (Negative list) จะต้องมีการตรวจสอบว่ากลุ่มเป้าหมายดังกล่าวนั้น มีความครอบคลุมถึงกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะกลุ่ม ผู้มีรายได้น้อย พร้อมทั้งควรพิจารณาความเหมาะสมของเงื่อนไขต่างๆ ที่กําหนดไว้ในการคัดเลือก กลุ่มเป้าหมายของโครงการ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝาก ณ ปี 2562 อาจจะไม่สะท้อนสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

 

ในกรณีที่จะพิจารณากําหนดกลุ่มเป้าหมายของเราชนะ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ อาจจะพิจารณาจากมาตรการควบคุมโรคในการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดของรัฐบาลได้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่สําคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Produc : GPP) ของทั้ง 28 จังหวัด พบว่า เมื่อรวม GPP ของทั้ง 28 จังหวัดจะอยู่ที่ร้อยละ 75 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูง

 

ทั้งในส่วนของพื้นที่เขตอุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ ก็เป็นนัยว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก ใหม่มีผลกระทบทั้งประเทศและจําเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้าตามที่เสนอ 

 

นอกจากนี้ การกําหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการเราชนะ โดยพิจารณาตามความ รุนแรงของจํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในแต่ละพื้นที่ อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการกําหนดมาตรการควบคุมการเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 28 จังหวัดก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่าจังหวัดอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากการจํากัดการเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ และทําให้มีการดําเนินกิจกรรมทาง เศรษฐกิจลดลงเช่นเดียวกัน

 

หากพิจารณากําหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการเราชนะ ตามสาขาอาชีพ เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ผ่านมา ก็จะทําให้หน่วยงานรับผิดชอบประสบปัญหาในรูปแบบต่างๆ และไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ จึงเห็นว่าให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้าตามที่กระทรวงการคลังเสนอเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสม  

 

แต่การกําหนดกลุ่มเป้าหมายของโครงการเราชนะ โดยคัดกรองจาก Negative List ก็จําเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมของเงื่อนไขต่างๆ อย่างรอบด้านด้วย จึงขอให้กระทรวงการคลังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ฐานข้อมูลปี 2562 ด้วย

 

ทั้งนี้ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ต้องใช้ข้อมูล ทางบัญชีเงินฝาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เนื่องจากข้อมูลบัญชีเงินฝาก ณ สิ้นปี 2563 ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมและคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2564 หากต้องรอข้อมูลดังกล่าวจะทําให้การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีการระบาดในวงกว้างในปัจจุบันมีความล่าช้าและไม่ทันต่อสถานการณ์ 

 

เบื้องหลัง "เราชนะ" ที่ใครหลายคนไม่เคยรู้

 

 

ขณะที่การกําหนดเพดานเงินฝากจํานวนไม่เกิน 500,000 บาท เนื่องจากเป็นข้อมูลที่อ้างอิงจากบัญชีเงินฝากในปี 2562 ซึ่งคาด ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคควิด-19 บางส่วน อาทิ ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง ก็จะมีการถอนเงินออกมาใช้จ่ายประมาณ 15,000-17,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทําให้มีเงินฝากคงเหลือ ไม่เกิน 300,000 บาท ในปัจจุบัน 

 

ดังนั้น หากกําหนดเพดานเงินฝากในปี 2562 จํานวนไม่เกิน 300,000 บาท ก็จะตํ่าเกินไป ซึ่งกรรมการฯ ขอให้ สศค.ติดตามและจัดทําฐานข้อมูลบัญชีเงินฝาก ณ สิ้นปี 2563 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา กําหนดนโยบาย หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ในระยะต่อไปด้วย 

 

คณะกรรมการฯ ยังได้อภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ วงเงินให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แล้ว มีความเห็นร่วมกันว่าปัจจุบันภาครัฐได้ให้ ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ค่าไฟฟ้าและนํ้าประปา) และค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ประมาณ 200-300 บาท ตามฐานรายได้ของผู้มีบัตรฯ 

 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติโครงการเพิ่มกําลังซื้อของผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกําหนดฯ เพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า บริโภคอุปโภคที่จําเป็นจากร้านธงฟ้าฯ ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 จํานวน 500 บาทต่อคน ต่อเดือน ดังนั้น จึงเห็นว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐตามสิทธิ์ผ่านช่องทางต่างๆ แล้ว จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการเราชนะ ในช่วง ม.ค.-ก.พ.2564 รวมเป็นไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือน 

 

กรรมการฯ ยังเห็นว่าโครงการเราชนะ ได้กําหนดให้มีการใช้สิทธิ์และชําระค่าสินค้า ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” (สําหรับประชาชน) และ “ถุงเงิน” (สําหรับผู้ประกอบการ/ร้านค้า) ในขณะที่ยังมีประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ไม่มี/ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวได้ จึงเห็นว่า สศค.ควรพิจารณากําหนดรูปแบบการใช้สิทธิ์ภายใต้โครงการฯ ที่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มดัง กล่าวด้วย เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทางสังคม 

 

ขณะที่กรรมการผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นเห็นว่า กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต และไม่มีโทรศัพท์ที่รองรับการใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน ส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ แล้ว แต่อาจจะยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบฯ เช่น กลุ่มชายขอบ เป็นต้น

 

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้พิจารณาแนวทางที่จะทําให้กลุ่มดังกล่าวให้สามารถใช้สิทธิ์ได้ โดยประสานขอความร่วมมือจากสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยอํานวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ และได้รับการยืนยันว่า จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน

 

อย่างไรก็ดี การกําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ของโครงการเราชนะ ยังมีประเด็นที่สําคัญที่จําเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ อาทิ การใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน และผ่านบัญชีเงินฝากของธนาคาร จะต้องไม่เกิดความลักลั่นกัน การกําหนด รูปแบบการใช้จ่ายแบบกระจายตัวโดยการกําหนดเพดานที่จะสามารถใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อสร้างวินัย การใช้จ่ายและสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้มีสิทธิ์ได้  

 

นอกจากนี้ ควรกําหนดให้จ่ายผ่านระบบแอปพลิเคชัน เพื่อให้ภาครัฐใช้เป็นเครื่องมือในการกําหนดมาตรการติดตามและควบคุมการเดินทางได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่มีการจํากัดการเดินทาง 

คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า เห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณากําหนดเงื่อนไขการใช้สิทธ์ของโครงการเราชนะ โดยใช้หลักการเดียวกันกับโครงการ “คนละครึ่ง” (เฉพาะในส่วนของรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายได้ตามโครงการ ไม่รวมถึงหลักการที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องร่วมจ่ายร้อยละ 50) เพื่อให้การดําเนินโครงการฯ นอกจากจะสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน และผู้ประกอบการ รายย่อยด้วย ดังนี้

 

 

 

วงเงินให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ควรกําหนด กรอบวงเงินให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ภายใต้โครงการเราชนะ ในช่วง ม.ค.-ก.พ.2564 เมื่อรวมกับเงินที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือตามสิทธิ์ผ่านช่องทางต่างๆ แล้ว จะได้รับเงินช่วยเหลือจาก โครงการฯ รวมเป็นไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือน

 

การใช้จ่ายเงินที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ จะไม่สามารถเบิกเงินสดได้ โดยต้องนําไปใช้ผ่านระบบเพื่อชําระค่าสินค้า เครื่องดื่ม และอาหาร รวมทั้งบริการต่างๆ แต่ไม่รวมถึง สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาสูบที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น  

 

ทั้งนี้ เพื่อให้การดําเนิน โครงการเราชนะ สามารถช่วยลดภาระครองชีพของประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์ จึงควรกําหนดให้สามารถ ใช้ชําระค่าบริการในสวนของค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (TAX!-METER) และรถตู้โดยสารประจําทางที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยขอให้กระทรวงการคลังทําการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน และรถตู้โดยสารประจําทางดังกล่าวติดตั้งแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” 

 

ผู้ประกอบการ/ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการเราชนะ ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า ที่เป็นนิติบุคคล โดยเป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อยที่มีสถาน ประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้ หรือเป็นร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง ตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือวิสาหกิจชุมชนตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

การกําหนดรูปแบบการสนับสนุน ควรกําหนดกรอบวงเงินการใช้จ่าย ในรูปแบบรายสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลา 

 

การสร้างความเข้าใจและการประชา สัมพันธ์ เนื่องจากการคัดกรอง คุณสมบัติของโครงการเราชนะ เป็นการดําเนินการแบบ Negative list ดังนั้น เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ตามที่กําหนดไว้ เห็นควรให้คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐต่างๆ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับ บุคลากรในสังกัดให้ปฏิบัติตามแนวทางหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกําหนด 

 

ที่มา: คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,649 หน้า 10 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2564

 

ข่าวทีเกี่ยวข้อง

"คลัง"อัพเดทโครงการ"เราชนะ"ย้ำชัดพรุ่งนี้ใครมีสิทธิ์ลงทะเบียน www.เราชนะ.com 

สรุป " เงื่อนไข-คุณสมบัติ " เราชนะ

เปิด 3 แนวทางช่วย"กลุ่มเปราะบาง" ไม่ได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเราชนะ.com

"เราชนะ" เว็บไซต์ www.เราชนะ.com เปิดวันไหน เช็กที่นี่

“ลงทะเบียนเราชนะ” วันแรก 29 ม.ค. เตรียมให้พร้อมรับเงินเยียวยา7,000 บาท