ขุนนางในระบบฟิวดัล ศักดิ-นา และตำราการเปนอัศวิน

23 ม.ค. 2564 | 01:10 น.

ขุนนางในระบบฟิวดัล ศักดิ-นา และตำราการเปนอัศวิน  (ตอน 3)

 

ควีน เดนมาร์ก ทรงสายสร้อยอัศวินคชาช้าง ถ่ายกับรัชทายาท

 

(ต่อจากตอน 2)

 

การณ์จะขอแทรกไว้ในที่นี้ว่า ควีน หรือพระราชินีนั้น ก็ควีนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกันอีก

  • ควีน คอนสอร์ท Queen Consort นั้นเปนราชินีตามสวามีที่เปนราชา ไม่มีอำนาจในตัวเองนัก 
  • ควีน เรกเนนท์ Queen Regnant ทรงอำนาจในตัวเอง มีสวามีเปน Prince Consort สวามีไม่เปนราชาตามการสมรส 
  • ส่วนควีน รีเจนท์ Queen Regent เปนราชินีนาถ โดยมากเปนสถานการณ์ที่ควีน เช่น ควีนคอนสอร์ท ได้รับหน้าที่สำเร็จราชการว่า ราชอาณาจักรแทนพระราชา ใส่คำว่า นาถ ในคำแปลไทยๆเพราะแปลว่าที่พึ่งได้  และ Queen Dowager เปนราชินีของราชาที่สวรรคตไปแล้ว เรียกลำลองว่า ราชินีม่าย

 

page boy คอยถือหางเสื้อคลุมอัศวิน

 

ท่านสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ เช่น Dame of the British Empire มีฐานะบรรดาศักดิ์ = Sir ท่านเหล่านี้ได้ศักดิ์มาด้วยเอง อนึ่งสตรีภริยาท่านเซอร์ สามารถเรียกนำหน้าว่า Lady เปนกิตติคุณได้ด้วย ส่วน Squire เป็นคนติดสอยห้อยตามอัศวิน พวกนี้มีที่ดินให้คนเพาะปลูก (ลักษณะเป็นคหบดีพวกผู้ดีผู้ใหญ่ตามบ้านนอกที่รู้เรื่องราชสำนักมีความเข้าใจกลไกรัฐการดี) 

ในขณะที่ Page เป็นคนรับใช้งานเบาๆ สวมเครื่องแบบ ทำหน้าที่เดินหนังสือเปิดประตู หรือ ถือของรุงรังเข้าขบวน ถ้าเปนเด็ก เรียก PAGE BOY ทำหน้าที่มหาดเล็กเด็กน้ำชา มีเหรียญตราเล็กๆประดับอก พอให้รู้ว่าเปนคนหลวงมีศักดิ์ติดตัวอยู่บ้าง Page boy นี้โดยมากทรงพระกรุณาเรียกหาเอาพระราชวงศ์เยาว์วัยที่มักยังไม่มียศ แต่มีศักดิ์อยู่ในสายเลือด_blue blooded มาใช้งาน

ดังได้เคยเล่าแล้วว่า เจ้าชายไมเคอล แห่งเคนท์ ตอนเด็กๆยังไม่มียศ ก็ใช้แต่ศักดิ์สายเลือดที่มี ถวายงานเปน page boy ต่อมาเมื่อจำเริญวัยขึ้น เคลื่อนที่ไปรับการศึกษา พัฒนาทักษะแล้วจึงได้มียศประกอบศักดิ์ของตนเองเปนอัศวินได้ต่อไป

ควีนอังกฤษทรงเครื่องลดรูปเข้ารหัส คาดสายรัดอัศวินการ์เตอร์ที่แขนเสื้อซ้าย

 

ทีนี้ว่าเรื่องความเปนเลือดน้ำเงินนั้นหมายอย่างไร?

แต่ก่อนชะร่อนไรมา มนุษย์คอเคซอย ผมทองตัวขาวเปนเจ้าแห่งภาษา ยามไปไหนมาไหนจะใคร่รู้ว่าใครมีสายเลือดเดียวกันก็จะหงายฝ่ามือออกมาดูท่อนแขนข้างในว่าเส้นเลือดที่ปูดๆโปนๆอยู่ใต้ผิวหนังอันขาวว่องนั้นมันเปนเส้น vain เลือดดำ ที่ออกสีน้ำเงิน ยามเมื่อประกอบเข้ากับสีผิวอันจำเพาะนั้น (แน่นอนว่าการมิได้ออกตากแดดตากลมทำงานในท้องไร่นาสวนนั้นส่งผลต่อเม็ดสีแห่งผิวด้วย)

จึงเปนที่มาเรียกขานว่าเปนพวก “blue blood (ed)” พวกเดียวกัน แทนคำเปนนิยายๆว่า เลือดขัตติยา 

 

กษัตริย์สเปญ และกษัตริย์ดัชท์ ทรงเครื่องอัศวินอังกฤษ

 

เลยพาให้คนเชื่อมโยงไปว่าสีน้ำเงินนั้นเปนสีของฐานันดรกษัตริย์ นำไปใช้ต่างๆนานา แต่ทว่า ในอเมริกาซึ่งเปนแหล่งรวมของชนไม่เลือกชาติ กลับใช้และนิยมสีขาวว่าแทนความสูงส่งของชั้นชน และสีน้ำเงินแทนความลำบากและเหงื่อไหลไคลย้อยของฐานันดรแรงงาน ซึ่งแสดงออกมาในลักษณาการแห่งปกคอเสื้อว่า

พวก “white collar” ปกเสื้อขาว นั่งทำงานมือไม่เปื้อนคราบไคล อยู่ในสำนักงานอย่างธนาคาร อัยการ ศาล และนักบวช (โดยมากมีปกข้อมืออีก เรียก double cuffs ซึ่งมักเปนสีขาวเช่นกัน แม้ว่าตัวเสื้อจะไม่ใช่สีขาวก็ตาม)

พวก “blue collar” ปกเสื้อสีน้ำเงิน ยืนสุมทำงานอยู่ตามโรงงาน ใส่เอี๊ยมสีเดียวกันและมือเปรอะเลอะน้ำมันเครื่องจักรเครื่องยนต์อันเปนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ฝ่ายอเมริกันที่ปากว่าไม่มีหรอก ศักดินา คราวสงครามกลางเมืองฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ก็ตีกันให้รึ่มไป ใครเปนผู้ประกอบวีรกรรมกล้าหาญก็ต้องมีกันบ้างหรอกเหรียญตรา เอาไว้เปนเครื่องบ่งฐานะแห่งตน ดูอย่าง ท่าน Robert Powell Scott ทหารอาสาฝ่านสมาพันธรัฐนั่นปะไร  ภายใต้ดวงตาข้างเดียวนั้น ยังมีเหรียญตราติดเต็มสองฝั่งอก 

และดูท่าจะว่าไป ดาราอเมริกันอย่าง เควิน สเปย์ซี่ ก็รับพระราชทานตราฝ่ายอังกฤษเปนอัศวินที่ KBE เหมือนกัน สำแดงความเปนอเมริกันด้วยเข็มหมุดรูปธงชาติมะริกันไขว้กันที่ปกเสื้อนอก 

นายพลห้าดาว แม็คอาร์เธอร์ นั้นก็อย่าให้น้อยหน้าประดับเหรียญเคียนดาราสายสะพายอัศวินอังกฤษฝ่ายบาธเข้าเสียอีก 

 

ขุนนางในระบบฟิวดัล ศักดิ-นา และตำราการเปนอัศวิน

ในขณะที่ Knight Templar ทำหน้าที่ปกป้องคริสต์ศาสนิกชนที่ไปแสวงบุญยังเยรูซาเล็ม [อัศวินของคริสตจักร] อัศวินตระกูลอื่นก็มีอีกเช่น Knight of the Golden Fleece อัศวินแห่งขนแกะทองคำฝ่ายสเปญ, Knight of the Holy Sepulchre อัศวินเยรูซาเล็มแห่งสันตสำนัก, Knight of Seraphim อัศวินสวีเดนแห่งเซราฟีม, Knight of Orange อัศวินสีส้มแห่งเนเธอร์แลนด์ แตกต่างกันไป มีเครื่องยศสำรับและกฎกติกาละเอียดยุบยับ ท่านผู้สนใจสามารถศึกษาได้เอง

 

อัศวินสวีเดน โอรสพระเจ้าคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ทรงเครื่องอัศวินเซราฟีม

 

ข้าง Knight Errant เปนนักรบที่ขี่ม้าท่องไปเพื่อผจญภัยมีนิสัยใจคอกล้าหาญคอยช่วยเหลือผู้อื่น แรกทีเขาอาจทำไปเพื่อนาย (Lord) โดยหวังจะได้ที่ดินมาทำกินเองบ้างตามประสา แต่นานไปเมื่อเข้าใจกฎแห่งธรรมชาติและกาลเวลาว่ายศฐาน์เปนสิ่งอนิจจัง เขาจึงทำภารกิจนั้นๆไปด้วยหัวใจโดยและไม่ต้องการสังกัดหรืออิสริยาอาภรณ์ใดๆมาประดับกาย

(ตอนจบ)

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564