คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(8)

23 ม.ค. 2564 | 00:00 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี(8) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3647 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 ม.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท

 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่าย ซี.พี.ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ

 

หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า บอกว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาด โดยในตอนที่ 5-6 ได้นำเสนอข้อพิจารณาในเรื่อง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ ผลกระทบต่อคู่แข่ง ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ของคณะกรรมการเสียงข้างน้อยไปแล้ว คราวนี้มาดูข้อพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการเสียงข้างมากกันในหัวข้อ 3. การไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม และข้อห้าม

 

การรวมธุรกิจระหว่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่มีจำนวนสาขามากที่สุดสองอันดับแรก ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สภาพการแข่งขันที่ลดลง เนื่องจากภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดมีจำนวนลดลง  และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่อย่างเซเว่น-อีเลฟเว่น มีจำนวนสาขาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กมากยิ่งขึ้น และครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 83.05 อันเป็นผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่น้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เป็นธุรกิจที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดตํ่า เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรัฐที่เป็นข้อจำกัด อีกทั้งต้นทุนในการประกอบธุรกิจต่ำกว่าร้านค้าปลีก ประเภทอื่น นอกจากนี้ปัจจุบันร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยรองรับประชากรต่อ 1 สาขา มากกว่า ร้านค้าปลีกในประเทศอื่น เช่น มากกว่าเกาหลีและญี่ปุ่นถึง 4 เท่า

ดังนั้น ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยจึงยังคง มีความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสในการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ที่ยังคงมีโอกาสเติบโต ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายสาขาของผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกขนาดเล็กรายอื่นที่สามารถ ขยายสาขาได้ รวมทั้งยังสามารถซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบธุรกิจของร้านค้าปลีกขนาดเล็กพบว่า สินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจำหน่ายไม่แตกต่างกันมาก ทั้งในด้านของตราสินค้าที่จำหน่าย คุณภาพ รวมถึงประโยชน์ใช้สอย การตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคจึงไม่ได้พิจารณาที่ตัวสินค้าเป็นหลัก แต่มักจะพิจารณาจากปัจจัยด้านราคา รวมถึงความสะดวกในการเดินทางไปยังร้านค้าแต่ละแห่ง

 

ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กแต่ละรายจึงเป็นการแข่งขันกันด้านราคา โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในการลดราคาสินค้า และแข่งขันกันในการเข้าถึงผู้บริโภค จึงเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏ การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ลดลง แต่ผู้บริโภค ยังมีทางเลือกในการซื้อสินค้าได้ โดยการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

 

จึงสรุปได้ว่า การรวมธุรกิจมีผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวมเล็กน้อย

 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การรวมธุรกิจครั้งนี้จะเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ที่มีจำนวนสาขามากที่สุด สองอันดับแรก การรวมธุรกิจดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีก สมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เนื่องจากภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดมีจำนวนลดลง ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่น้อยลง

 

อีกทั้งยังส่งผลให้ ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจมีจำนวนสาขาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กมากขึ้น และมีส่วนแบ่งตลาด หลังการรวมธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.05 ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจจะใช้ อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม ในการกำหนดหรือรักษาระดับราคาสินค้าหรือบริการ การกำหนดเงื่อนไข ต่อผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตน การระงับ ลด หรือจำกัดปริมาณสินค้าหรือบริการ และการแทรกแซง การประกอบธุรกิจของผู้อื่น ตลอดจนมีโอกาสที่จะเพิ่มความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันขึ้นราคาสินค้า ภายหลังการรวมธุรกิจ 

 

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากวิเคราะห์แล้ว จึงวินิจฉัยว่า เห็นควรอนุญาตให้รวมธุรกิจ โดยกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการประกอบ การอนุญาตรวมธุรกิจ เพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดหรือใช้อำนาจเหนือตลาดในการบิดเบือนกลไกตลาด หรือลดการแข่งขัน หรือเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายหรือสิทธิประโยชน์ของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้า หรือวัตถุดิบ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

 

และได้พิจารณาเงื่อนไขที่จะกำหนด ในการอนุญาตรวมธุรกิจตามผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ กรณีคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส  (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักเศรษฐศาสตร์ เป็นอนุกรรมการทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรม จำนวน 10 ข้อ ดังนี้

 

1. เงื่อนไขการรวมธุรกิจเชิงโครงสร้าง จำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1.1 การให้ขายกิจการหรือสินทรัพย์บางส่วน 

 

กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะให้ ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจขายกิจการหรือสินทรัพย์บางส่วนของผู้ถูกรวมธุรกิจในตลาดค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งมีการกระจุกตัวก่อนและหลังรวมธุรกิจสูง คือกิจการ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เพื่อลดผลกระทบต่อ การแข่งขันที่เกิดขึ้นทั้งในด้านคู่แข่งขัน คู่ค้า และผู้บริโภค อาจเกิดผลเสียหายต่อผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจ 

 

เนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขให้ขายกิจการนั้นส่วนใหญ่ไม่สามารถกระทำได้หรือเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะอาจจะไม่สามารถขายกิจการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่มีผู้ซื้อรายใหม่ตามราคาที่ผู้ขายต้องการ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ นำมาซึ่งความเสียหายต่อระบบ ตลาดค้าปลีกขนาดเล็ก การเลิกจ้างแรงงาน การลดลงของช่องทางการจำหน่ายสินค้า และส่งผลกระทบต่อ รายได้ของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะ SMEs

นอกจากนี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจ เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขให้ขายธุรกิจหรือสินทรัพย์บางส่วนในบางประเทศ เกิดปัญหาในทางปฏิบัติที่หน่วยงานการแข่งขันทางการค้าจะต้องเป็นผู้กำกับดูแล เช่น ประเทศออสเตรเลีย เกิดปัญหาจากการที่กำหนดเงื่อนไขมีความซับซ้อนประกอบในการขายกิจการ เช่น การกำหนดคุณสมบัติผู้ซื้อ  ระยะเวลาการกำหนดการขาย การกำกับดูแล และสาขากิจการหรือสินทรัพย์ที่ต้องขาย เป็นต้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นเงื่อนไขที่ไม่มีประสิทธิภาพจากกระบวนการการกำหนดเงื่อนไขที่ซับซ้อน

 

ดังนั้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมาก จึงเห็นสอดคล้องกับ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ ว่า การกำหนดเงื่อนไขให้จำหน่ายธุรกิจหรือสินทรัพย์บางส่วน เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ขออนุญาตเกินสมควร ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศ และไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

 

1.2 การห้ามขยายจำนวนสาขาภายในระยะเวลาที่กำหนด  กรรมการเสียงข้างมากพิจารณาแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการ พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ ว่า 

 

(1) อาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๐ ว่าด้วย “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ เพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น” 

 

(2) ซีพีออลล์ผู้ประกอบธุรกิจร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ของบริษัท ในต่างประเทศ ซึ่งมีสัญญาหรือข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่มีการกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจ และการให้สิทธิแฟรนไชส์ในประเทศไทยซึ่งรวมถึงการขยายสาขา และการจำกัดสิทธิอาจก่อให้เกิดผลเสียหาย ต่อการลงทุน รวมทั้งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก และต้องรายงานแผนการดำเนินธุรกิจต่อผู้ถือหุ้นและเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงไม่สามารถจำกัดการขยายสาขาได้ สำหรับ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส หลังการรวมธุรกิจจะเป็นบริษัทที่ซีพีออลล์ถือหุ้นมากถึงร้อยละ 40  ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามแนวทางบริหารของเจ้าของแฟรนไชส์ในต่างประเทศด้วย จึงไม่สามารถจำกัดสิทธิ การขยายสาขาด้วย และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ประมาณร้อยละ 50 ประกอบธุรกิจในลักษณะแฟรนไซส์  อาจไม่เหมาะสมกับการไปบังคับการห้ามขยายสาขา 

 

(3) ผลการศึกษาการขยายสาขา พบว่า ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทย มีอัตราจำนวนประชาชนต่อจำนวนร้านค้าในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ทุกรายทั้งรายเดิมและรายใหม่ยังมีโอกาสในการขยายสาขาได้อีก และกาจำกัดการขยายสาขาจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รวมถึงจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค

 

ดังนั้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมาก จึงเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไข ห้ามขยายสาขาภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นการกระทบสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ และไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

 

ยังมีข้ออห้ามจิปาถะอีกหลายข้อ มาตามต่อกันนะครับ!