ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (จบ) 

24 ต.ค. 2563 | 03:55 น.

ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3620 วันที่ 22-24 ตุลาคม 2563

 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยัง “สร้างสรรค์” ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายรัฐวิสาหกิจของตนเองในการทดสอบและพัฒนาระบบดังกล่าว 

 

ในด้านผู้ใช้บริการ 4 ธนาคารหลักของจีนได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรของจีน (Agricultural Bank of China) ธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของจีน (Industrial and Commercial Bank of China) ธนาคารเพื่อการก่อสร้างของจีน (China Construction Bank) และแบ้งค์ออฟไชน่า (Bank of China) ได้เปิดให้พนักงานของตนเองเป็นกลุ่มแรกที่ได้ทดลองใช้ระบบ เพื่อทดสอบการรับโอนเงินระหว่างกัน 

 

หลังจากนั้นไม่นาน สถาบันการเงินเหล่านั้นก็ยังเริ่มติดตั้งบริการ “กระเป๋าดิจิทัล” (Digital Wallet) ในแอ็พของตนเอง เพื่อเปิดให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนเข้าสู่ระบบได้  

 

ผลการทดสอบพบว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นมีความสะดวกในการใช้งาน กล่าวคือ เพียงผู้โอนและผู้รับโอนเงินเปิดกระเป๋าดิจิทัลกับธนาคารพาณิชย์ที่มีบัญชีอยู่ และดาวน์โหลดแอ็พเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งใช้ข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชนประกอบเพื่อให้สองส่วนนี้ถูกเชื่อมต่อเข้าหากัน 

 

หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถโอนเงินระหว่างกันได้แค่ปลายนิ้วสัมผัส แม้กระทั่งในยามที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ตาม อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า การเปิดบริการดังกล่าวเป็นการทดสอบระบบภายในเท่านั้น แต่ก็มีอีกหลายธนาคารพาณิชย์ของรัฐรอคิวเข้าร่วมโครงการ

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสังเกตเห็นร้านรวงในพื้นที่จำนวนมากต่างทยอยเข้าสู่ระบบ และนำเอาสติ๊กเกอร์เงินหยวนดิจิทัล มาติดบริเวณหน้าร้านและจุดชำระเงินเพื่อเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการกันแล้ว

 

ในชั้นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ ระยะเวลา และแผนดำเนินการในระยะที่ 3 ทำให้หลายฝ่ายคาดเดาแผนระยะต่อไปกันไปต่างๆ นานา แต่ผมเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีนจะเดินหน้าเพิ่มระดับการใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างไม่ย่อท้อ 

 

จากการประเมินแผนงานในระยะที่ 3 ก็คาดว่า ในเชิงภูมิศาสตร์ รัฐบาลจีนจะขยายการดำเนินโครงการนี้ไปยังพื้นที่ตอนกลางและด้านซีกตะวันตกของจีน ซึ่งก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจะเห็นการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกระจายตัวจากด้านตะวันออกสู่ด้านตะวันตกของจีน ดังเช่นที่เคยเห็นในหลายโครงการก่อนหน้านี้ 

ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (จบ) 

นอกจากนี้ ยังคาดว่ารัฐบาลจีนจะเพิ่มธุรกรรมการใช้เงินหยวนดิจิทัลในชีวิตประจำวันของผู้คนด้วยการขยายธุรกรรมไปยังภาคการขนส่ง การศึกษา บริการทางการแพทย์ และด้านอื่นๆ อีกด้วย

 

ขณะที่นักวิชาการจำนวนมากเห็นว่า เงินหยวนดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพราะเพียงใช้ในจีนก็หมายถึงผู้ใช้นับพันล้านคน หากเงินหยวนดิจิทัลถูกกระจายออกไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลกก็อาจหมายถึงจำนวนผู้ใช้หลายพันล้านคน

 

หลายคนจึงกังวลใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบการเงินโลก อย่างไรก็ดี โดยที่ระบบเงินหยวนดิจิทัลยังไม่เปิดให้บริการแก่ธุรกรรมระหว่างธุรกิจ-ธุรกิจ และอาจจำกัดอยู่เฉพาะกับธนาคารพาณิชย์ของจีนเท่านั้น รวมทั้งคาดว่าจะทดลองใช้ในประเทศอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อย หรืออาจลากยาวต่อไปจนถึงปี 2023 ก่อนที่จะขยายออกสู่ต่างประเทศ ผมจึงไม่เป็นห่วงในเรื่องผลกระทบต่อเวทีการเงินระหว่างระหว่างประเทศในระยะสั้น 

 

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายอาจมองว่า คนจีนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศราว 40 ล้านคนที่มีธุรกรรมกับจีนและต้องการใช้เงินดังกล่าว อาจเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่รัฐบาลจีนใช้ในการทดสอบระบบ “เชิงรับ” ในต่างประเทศ แต่ในระยะแรกก็อาจจำกัดอยู่เฉพาะธุรกรรมการโอนเงินดิจิทัลระหว่างกันเป็นสำคัญ  

ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (จบ) 

ในส่วนของการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ก็อาจมีบริการเงินหยวนดิจิทัล “กระเซ็นกระสาย” ออกไปใช้ในต่างประเทศได้บ้าง เพราะหากมีร้านค้าใดเปิดบัญชีและกระเป๋าดิจิทัลไว้กับธนาคารพาณิชย์ในจีน และดาวน์โหลดแอ็พดิจิทัลหยวนเอาไว้ ก็อาจรับชำระเงินจากชาวจีนที่อยู่ในระบบและเดินทางไปต่างประเทศได้ อย่างไรก็ดี ผู้รับโอนเงินอาจต้องเก็บเงินเพื่อนำไปใช้ในจีนในอนาคต ซึ่งนั่นหมายว่า เงินดิจิทัลหยวนมีอุปสงค์แฝงจำนวนหนึ่งอยู่ในต่างประเทศ

อ่านประกอบ: ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (1) 

 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังคิดการใหญ่ในการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางไปเยือนจีนได้ “สัมผัส” เงินหยวนดิจิทัลอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมสำคัญอย่างการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว และเอเชี่ยนเกมส์ในปี 2022 รวมทั้งการประชุมนานาชาติและงานแสดงสินค้าที่จีนจะเป็นเจ้าภาพอีกมากมายในอนาคต แต่กว่าที่ประเทศอื่นจะได้ใช้เงินหยวนดิจิทัลกันอย่างแพร่หลายก็น่าจะราวปี 2024 เป็นอย่างเร็ว 

 

ในด้านผลกระทบในวงกว้าง อาจไม่เกิดขึ้นเช่นกันเพราะในชั้นนี้ ท่าทีของรัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเปิดให้กิจการภายนอกเข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของผู้ใช้ อาทิ หมายเลขโทรศัพท์ (ราว 83% ของการชำระเงินในจีนกระทำผ่านโทรศัพท์มือถือ) หรือข้อมูลการจดจำใบหน้า (Facial Recognition)

 

ลองจินตนาการดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากระบบดังกล่าวเปิดให้หน่วยงานภาครัฐ ธนาคารพาณิชย์ และกิจการที่เกี่ยวข้องของจีนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของผู้ใช้ดังกล่าว และต่อยอดด้วยการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) 

 

การวัดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และอัตราเงินเฟ้อสามารถกระทำได้แบบเป็นปัจจุบัน ขณะที่การวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคเชิงลึกจะกระทำได้อีกหลายส่วน ซึ่งจะช่วยให้กิจการภาครัฐและเอกชนสามารถวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

 

แน่นอนว่า จีนจะไม่หยุดแค่นี้แน่ เพราะการใช้เงินหยวนดิจิทัลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามในการพัฒนาจีนสู่สังคมไร้เงินสด และลดระดับการพึ่งพาและอุปสงค์เทียมของเงินเหรียญสหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เงินหยวนขยับขึ้นเป็นสกุลเงินหลักในตระกร้าเงินและเป็นสกุลเงินสากลได้ในระยะยาว

 

ยังไงก็ขอให้ท่านผู้อ่านอดใจรอติดตามภาคต่อไปของเงินหยวนดิจิทัลกันนะครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน