ฝุ่นคลุ้ง “ขุมทรัพย์ครูก้อนโต” ขาใหญ่คุม “คุรุสภา-สกสค.”

07 ต.ค. 2563 | 03:00 น.

ฝุ่นคลุ้ง “ขุมทรัพย์ครูก้อนโต” ขาใหญ่คุม “คุรุสภา-สกสค.” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3616 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

วันนี้ขออนุญาตพาทุกท่านมาดูเรื่องราวใน “คุรุสภา-สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)” องค์กรครู ที่กำลังถูกมรสุมทัวร์ลง ทั้งจากม็อบเยาวชน และครู ครูพี่เลี้ยงโรงเรียนสารสาสน์ราชพฤกษ์ ที่สะท้อนถึงมาตรฐานวิชาชีของครูบาอาจารย์ที่สะท้านปฐพี
 

“คุรุสภา-สกสค.”นั้น ผูกติดกันในเรื่องอำนาจและขุมทรัพย์ผลประโยชน์มหาศาลมิใช่เป็นพันล้าน แต่เป็นหมื่นเป็นแสนล้าน
 

คุรุสภานั้นเป็นองค์กรที่มีอำนาจล้นฟ้าในการออกใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพครู 9 แสนกว่าคน อำนาจอะไรบ้างขอย่อยให้ดู
 

1. กำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
 

2. ควบคุม ความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
 

3. ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพ
 

4. พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
 

5. สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
 

6. ส่งเสริม สนับสนุน ยกย่อง และผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
 

7. รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรของสถาบันต่าง ๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพ
 

8. รับรองความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพฯ
 

9. ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วย (ก) การกำหนดลักษณะต้องห้ามมาตรา 13  (ข) การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการรับรองความรู้ ประสบการณ์ทางวิชาชีพ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ (ค) หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอรับใบอนุญาต  (ง) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต ฯลฯ
 

10. ให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายหรือปัญหาการพัฒนาวิชาชีพ
 

11. ให้คำแนะนำหรือเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ หรือการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และ ประกาศต่าง ๆ
 

12. กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคุรุสภา

ส่วน สกสค.นั้นเป็นองค์กรซ่อนเงื่อน ที่ดูแลเกี่ยวพันไปถึงเงินสวัสดิการครูและหนี้สินในโครงการเงิน ชคพ.ที่มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินกว่า 500,000 ล้านบาท เอาเฉพาะ ชพค.6 มีครู้ค้างหนี้อยู่ 156,000 คน วงเงินรวม 142,000 ล้านบาท โครงการ ชพค.7 อีก 188,614 ราย วงเงิน 230,000 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยในการกู้ยืมเงินคนละ 6แสนบาท-1 ล้านบาท ซึ่งแต่ละคนที่กู้ยืมเงินจะต้องจ่ายสมทบเข้า สกสค.เป็นหลักประกันไว้ให้เลขาธิการ สกสค.และกรรมการบริหารเงินเล่นๆ
 

นี่ไม่นับรวมกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการซื้อประกันชีวิตในการกู้ยืมเงินอีกกว่า 389,000 ราย ที่ต้องต่ออายุการซื้อประกันซึ่งว่ากันว่าค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายประกันนั้นก้อนโตที่ไม่รู้ไปตกอยู่ในมือใคร
 

ถ้าจำกันได้เมื่อตุลาคม 2561 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เคยสั่งอายัดเงินของผู้บริหารกองทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อกองทุนของ สกสค. มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายเกษม กลั่นยิ่ง กับพวก จำนวนหลายรายการ ประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ เงินฝากในบัญชีธนาคาร และหุ้นของบริษัท
 

ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งตามคดีหมายเลขดำ ฟ.96/2558 กรณีการกระทำของ นายเกษม กลั่นยิ่ง กับพวก เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มีทรัพย์สินจำนวน 84 รายการ รวมเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้นำไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ สกสค.
 

และก่อนหน้านี้ ศาลแพ่งได้เคยมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 20 รายการ มูลค่ารวม 123,743,932 บาท พร้อมดอกผล ไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ สกสค. มาแล้ว  
 

คดีนี้เกิดขึ้นจาการที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้ตรวจสอบสกสค.เฉพาะกรณีการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่าง สกสค. และบุคลากรทางการศึกษากับ บริษัท บิลเลี่ยนฯ จำกัด เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า อดีตเลขาธิการ สกสค. ร่วมกับกรรมการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนสมาชิกคุรุสภา (ช.พ.ค.) ได้นำเงินช.พ.ค. ให้บริษัท บิลเลี่ยนฯ จำกัด กู้ยืมเงินผ่านการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ครั้ง โดยได้รับค่าตอบแทน  7% และมีพฤติการณ์ที่ฉ้อโกง ปลอมแปลงเอกสารการฟอกเงิน และอาจเข้าข่ายการทุจริต
 

ครั้งที่ 1 นำเงินไปลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ 500 ล้านบาท
 

ครั้งที่ 2 นำเงินไปลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ 2,100 ล้านบาท กะทำโซล่าเซลลส์ที่หนองหญ้าปล้อง
 

ครั้งที่ 3 นำเงินไปลงทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ 400 ล้านบาท รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท

ตอนนี้ทั้ง คุรุสภา-สกสค.ดั๊นมีอะไรในกอไผ่?ให้ข้าราชการครูไทยและลูกจ้าง บุคลากรทางการศึกษาได้ค้นหากันอื้ออึงเชียว เพราะใครคุม 2 องค์กรนี้ เขาว่ากันว่า “มหาศาล” ไหนจะมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายครู-ดูแลเงินและสวัสดิการครู
 

พูดกันหนาหูในวังจันทร์เกษมว่า ใครยืนอยู่ในเส้นทางเหล่านี้อยู่ดีๆรวยเป็นร้อยเป็นพัน
 

แต่ตอนนี้ดันมีไอ้หลามเลื้อยเข้าไปจัดการตั้งคน ตั้งทีม กันอย่างครึกโครม ชนิดที่ “ครูตั้น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อาจคิดไม่ถึง ความร้อนแรงของเรื่องนี้ดุเดือดสุดๆในรอบหลายปีที่คนในวังจันทร์เกษม ต่างอ้าปากค้างกัน
 

แต่ปรากฎมีหมูไม่กลัวน้ำร้อน 1-2 คน รวมพลังกันฟ้องร้องถึงการตั้งคนแบบไม่ชอบมาพากล และยื่นเรื่องให้ “ครูตั้น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” พิจารณาตรวจสอบแก้ไข
 

คนแรก สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) อดีตรองเลขาธิการคุรุสภา และอดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครเข้ารับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณายกเลิกการว่าจ้าง นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เป็นเลขาธิการคุรุสภา และ นายธนพร สมศรี เป็นเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.
 

สมศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการสรรหาทั้ง 2 ตำแหน่งดังกล่าว อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ไม่ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขัดกับกฎหมาย
 

นอกจากนี้ คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา และคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.เป็นข้าราชการระดับรองปลัด ศธ.หรือเทียบเท่า และข้าราชการ ศธ.ที่ดำรงตำแหน่งนักบริหาร ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชา จึงอาจจะสุ่มเสี่ยงเรื่องความเป็นกลางในการให้คะแนนผู้สมัครแต่ละคน
 

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เมื่อปรากฎว่ามีการตั้งกรรมการสรรหา “เลขาธิการคุรุสภา-เลขาธิการ สกสค.” ขึ้นตำแหน่งแบบพรวดพราด ชนิดที่ข้าราชการคนอื่นทำงานมายาวนานได้แต่มองตาปริๆ
 

บางคนขึ้นดำรงตำแหน่งจากรองศึกษาธิการภาค เป็นผู้ตรวจราชการไม่ถึงปีก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการ บางคนเพิ่งได้รับการอนุมัติจากครม.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ให้เป็นศึกษาธิการภาค ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวง และดันมีการแต่งตั้งอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ 4 คน ที่เกษียณมานั่งกินเงินเดือนในสกสค.คนละ 1-2 แสนบาท
 

คนต่อมาที่มีการร้องระงมคือ องค์กร อมรสิรินันท์ อดีตเลขาธิการคุรุสภา และ บุญสอน สามัคคี ประธานชมรมครูผู้กล้า จังหวัดอุบลราชธานี 2 ใน 14 ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา โดยระบุว่า ทุกคนที่มาสมัครต่างมีเจตนาที่ดีที่จะมาร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟู สกสค. และคุรุสภาให้ดีขึ้น เป็นที่พึ่งของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นสมาชิกทั้งประเทศ และเมื่อมาสมัคร ปรากฏว่า ผู้สมัครส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า มีการตกลงกันระหว่างผู้มีอิทธิพลในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าได้มีการล็อคเก้าอี้ทั้ง 2 ตำแหน่งไว้แล้ว
 

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมไม่ว่าใครถูกใครผิด แต่กำลังจะชี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการเพิงได้รับคะแนนความโปร่งใสไปหมาดๆด้วยคะแนนกว่า 90.5 ระดับ A รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องไม่ปล่อยให้ไอ้หลามมาสร้างอาณาจักร เพื่อไปบริหารคนและทรัพย์สินสวัสดิการครูกันจนพุงกางเชียวครับ!