‘สิทธิฟ้องคดี’ เมื่อหน่วยงานไม่พิจารณาคำขอค่าสินไหมทดแทนในระยะเวลา

08 ก.ย. 2563 | 23:00 น.

‘สิทธิฟ้องคดี’ เมื่อหน่วยงานไม่พิจารณาคำขอค่าสินไหมทดแทนในระยะเวลา คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,606 หน้า 5 วันที่ 3 - 5 กันยายน 2563

 

ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว...การเดินทางก็จะยากลำบากมากขึ้น ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เดินทางโดยใช้ยานพาหนะของตัวเอง ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติ และถึงแม้จะไม่ใช่หน้าฝนก็ควรจะขับขี่ด้วยความระมัดระวังไม่ประมาท คอยดูสัญญาณไฟจราจร ป้ายเตือนต่างๆ ให้ดีว่าเส้นทางข้างหน้าชำรุด หรือมีการซ่อมแซมอยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ และเดินทางปลอดภัยถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ ในขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องคอยดูแลตรวจตราถนนและจัดทำป้าย หรือ สัญญาณเตือนต่างๆ เพื่อให้ใช้ทางได้อย่างปลอดภัย 

 

อุทาหรณ์คดีปกครองที่จะนำมาเล่าในวันนี้ เป็นเรื่องที่กรมทางหลวงไม่ติดตั้งสัญญาณ  หรือเครื่องหมายเตือนให้ผู้ใช้ทางทราบล่วงหน้าว่า ถนนชำรุดเป็นหลุมขนาดใหญ่ เป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้ฟ้องคดีประสบอุบัติเหตุตกหลุมดังกล่าวได้รับความเสียหาย ซึ่งถือเป็นกรณีที่กรมทางหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาถนน แต่ละเลยต่อหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี 

 

อันเป็นการกระทำละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล หรือจะยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ก็ได้

 

ผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิโดยวิธียื่นคำขอต่อกรมทางหลวงตามมาตรา 11 ดังกล่าว แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีการแจ้งผลการพิจารณาเสียที... จนล่วงเลยกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จ จึงยื่นฟ้องกรมทาง หลวงต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทด แทนแก่ตน

 

โดยบทบัญญัติมาตรา 11 วรรคสอง ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคำขอไว้ว่า “หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ หากไม่อาจพิจารณาได้ทันในกำหนดดังกล่าว สามารถขอขยายระยะเวลาจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือกำกับหรือควบคุมดูแลให้อนุมัติขยายระยะเวลาออกไป โดยรัฐมนตรีจะอนุมัติให้ขยายเวลาอีกได้ไม่เกิน 180 วัน”

 

คดีนี้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา โดยมีประเด็นน่าสนใจว่า กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่พิจารณาคำขอภายในกำหนดระยะเวลา ผู้เสียหายจะสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้เมื่อใด? เพื่อไม่ให้พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี

 

 

 

ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในกรณีดังกล่าวว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

 

เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือขอให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเมื่อใด แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 แจ้งว่าได้รับเรื่องของผู้ฟ้องคดีไว้แล้ว ถือได้ว่าได้รับคำขอของผู้ฟ้องคดีในวันดังกล่าว 

 

‘สิทธิฟ้องคดี’ เมื่อหน่วยงานไม่พิจารณาคำขอค่าสินไหมทดแทนในระยะเวลา

 

ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหน้าที่พิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอของผู้ฟ้องคดี คือ ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้พิจารณาคำขอและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบภายในระยะเวลาดังกล่าว 

 

อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีการอนุมัติขยายเวลาออกไป ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับคำขอของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา คือ ยื่นฟ้องคดีภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 

 

เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ทางไปรษณีย์ ลงทะเบียนต่อศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560  จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 11 ประกอบกับมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 อีกทั้งการฟ้องคดีนี้มิใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสูดที่ คผ. 51/2562)

 

 

 

สรุปได้ว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดให้กรณีผู้เสียหายใช้สิทธิยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 11 ให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จะต้องพิจารณาคำขอและแจ้งผลภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ 

 

• กรณีหากผู้เสียหายไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐ สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา

 

• กรณีหากครบกำหนดระยะเวลา 180 วัน ดังกล่าวแล้ว ยังไม่มีการแจ้งผลการพิจารณา และไม่ได้มีการแจ้งขยายระยะเวลาในการพิจารณาออกไป ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลา 180 วัน ดังกล่าว 

 

• กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่อาจพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 180 วัน และรัฐมนตรีได้อนุมัติขยายระยะเวลาการพิจารณาคำขอออกไปตามที่หน่วยงานของรัฐขอขยาย หากขยายให้สูงสุด 180 วัน ซึ่งระยะเวลาที่หน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาคำขอรวมทั้งหมด คือ 360 วัน กรณีที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่ผู้ยื่นคำขอไม่พอใจ ก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา 

 

• กรณีที่พ้นกำหนด 360 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ แต่ยังไม่มีการแจ้งผลการพิจารณา เช่นนี้สามารถยื่นฟ้องได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่รัฐมนตรีอนุมัติให้ขยายได้ดังกล่าว