จับตาการจัดอันดับ เมืองดาวรุ่งล่าสุดของจีน

22 ก.ค. 2563 | 08:30 น.

คอลัมน์ลวดลายมังกร "จับตาการจัดอันดับเมืองดาวรุ่งล่าสุดของจีน" โดย...มาณพ เสงี่ยมบุตร

คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3594 วันที่ 23-25 กรกฎาคม 2563

 

ประเทศจีนมีเมืองต่างๆ มากมายกว่า 600 เมือง การบุกตลาดจีนไม่จำเป็นต้องเริ่มที่เมืองปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ หากแต่เมืองที่มีศักยภาพที่อยู่ลึกเข้าไปในภาคต่างๆ ของประเทศ ล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจทั้งสิ้น รายงานการจัดอันดับเมืองชั้นหนึ่งใหม่ล่าสุดของสำนักข่าวชั้นนำ China Business Network ยังคงให้เมืองเฉิงตูครองอันดับหนึ่งในกลุ่มนี้ และมีเมืองฉงชิ่งแซงหน้าเมืองหังโจวขึ้นมาเป็นอันดับสอง ที่น่าจับตามองคือเมืองเหอเฝย และเมืองโฝซันที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ก้าวขึ้นทำเนียบกลุ่มเมืองชั้นหนึ่งใหม่เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเห็นว่ากลุ่มเมืองหลักสามเมืองในภาคกของประเทศจีน ยังมีศักยภาพของการบริโภคที่สูงมาก

กลุ่มเมืองดาวรุ่ง new first-tier cities 

 

สำนักข่าว China Business Network ได้ประกาศการจัดอันดับเมืองหลักในประเทศจีนจำนวน 337 เมือง โดยแบ่งเป็นเมืองชั้นหนึ่ง (first tier) 4 เมือง เมืองชั้นหนึ่งใหม่ (new first-tier) จำนวน 15 เมือง เมืองชั้นสอง 30 เมือง เมืองชั้นสาม 70 เมือง เมืองชั้นสี่ 90 เมือง และเมืองชั้นห้า 128 เมือง ทั้งนี้ เมืองชั้นหนึ่ง 4 เมืองได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา และเซินเจิ้นนั้นเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้วและไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับมากนัก ที่ควรจับตามองคือกลุ่มเมืองชั้นหนึ่งใหม่ที่มีอยู่ 15 เมือง ซึ่งคำศัพท์ “เมืองชั้นหนึ่งใหม่” ก็เพิ่งได้มีการนำมาใช้ไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากว่าแต่ละเมืองเหล่านี้ส่วนมากเป็นเมืองหลวงของมณฑลหลักๆ ในจีน มีประชาการและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมาก จะไปเรียกว่าเป็นเมืองชั้นสองก็อาจจะขัดความรู้สึก

 

เมืองเฉิงตูซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเสฉวน ได้รับการจัดอันดับหนึ่งของกลุ่มเมืองชั้นหนึ่งใหม่มาโดยตลอด เนื่องจากมีภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความก้าวล้ำ สภาพความเป็นอยู่ของเมืองที่ดีมาก ตลอดจนทำเลที่ตั้งที่เป็นประตูไปสู่ภาคตะวันตกของจีน

 

เมืองฉงชิ่ง (Chongqing) แซงหน้าเมืองหังโจว (Hangzhou) - แต่ที่น่าสนใจคือในปีนี้เป็นปีแรกที่เมืองฉงชิ่งแซงหน้าเมืองหังโจวขึ้นมาเป็นอันดับสองของกลุ่ม โดยที่ก่อนหน้านี้เมืองหังโจวครองตำแหน่งอันดับสองมาโดยตลอด เมืองฉงชิ่งมีสถานะพิเศษกว่าเมืองโดยทั่วไป ตรงที่เป็นเขตปกครองตนเองไม่ขึ้นกับมณฑลใดมณฑลหนึ่ง ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ทำให้ได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบาย และตำแหน่งที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญ มีประชากรกว่า 30 ล้านคน (เป็นประชากรเมือง 18 ล้านคน) มี GDP ต่อหัวในปีก่อนประมาณ 11,000 เหรียญสหรัฐ 


จับตาการจัดอันดับ  เมืองดาวรุ่งล่าสุดของจีน

จับตาเมืองเหอเฝย (Hefei) และ โฝซัน (Foshan)

 

เมืองน้องใหม่ที่ถูกจัดให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเมืองชั้นหนึ่งใหม่ได้แก่เมืองเหอเฝยและเมืองโฝซัน ในอันดับที่ 14 และ 15 โดยเบียดเมืองคุนหมิงและเมืองหนิงโปออกไป เมืองเหอเฝยเป็นเมืองหลวงของมณฑลอันฮุย (Anhui) ซึ่งอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก มีประชากรรวม 8 ล้านคน เหตุผลหลักที่ทำให้เมืองเหอเฝยได้รับการจัดอันดับคือบรรยากาศการตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพที่เอื้ออำนวยและทรัยพากรมนุษย์ โดยในปีก่อนมีการระดมทุนของบริษัทสตาร์ทอัพสูงถึง 54 พันล้านหยวน อยู่ในอันดับที่ห้า เป็นรองก็เพียง 4 เมืองชั้นหนึ่ง ตรงนี้เป็นสถิติที่น่าสนใจมาก และมีประชากรย้ายมาจากต่างเมืองในสัดส่วนที่สูงแสดงถึงความดึงดูดของสภาวะธุรกิจ

 

ส่วนเมืองโฝซัน มีประชากรกว่า 8 ล้านคน เป็นเมืองบริวารของเมืองกวางเจามีความได้เปรียบในแง่เป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทของจีน อาทิบริษัท Country Garden บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน บริษัท Midea บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าท่ีใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นต้น มีสัดส่วนประชากรจากต่างเมืองอยู่ในระดับที่สูง

 

ภาคกลางของจีนมีศักยภาพสูงมาก

 

เมืองอื่นๆ ที่น่าสนใจได้แก่เมืองในกลุ่มภาคกลาง ได้แก่ เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) เมืองฉางซา (Changsha) และเมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) เป็นกลุ่มเมืองหลักในภาคกลางที่ผู้เขียนเห็นว่ามีการศักยภาพเรื่องการบริโภคสูงมาก แต่ละเมืองมีประชากรอยู่ในระดับ 10 ล้านคนขึ้นไป เป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำของจีนมากมาย มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ เมืองในกลุ่มนี้เป็นจุดกลางของประวัติศาสตร์จีนและมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน - นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสาระสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา