เงินโควิด 3.9 แสนล้าน ต้องไม่หมุน เข้ากระเป๋าเจ้าสัว

01 พ.ค. 2563 | 11:29 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ 3571 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-6 พ.ค.2563 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังต่อสู้กับพิษภัยโควิด-19 อย่างหนักหน่วงทั้งในด้านสาธารณสุข ที่ต้องรักษา ป้องกันชีวิตคนไม่ให้ติดเชื้อโรคระบาดครั้งร้ายแรงในรอบ 100 ปีนี้

 มาตรการที่รัฐบาลดำเนินการป้องกันโรคทำได้ดีพอสมควร โดยมีจำนวนผู้ป่วยสะสม 2,954 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านได้มากกว่าพันราย เสียชีวิต 54 ราย และมีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 รายต่อเนื่องเป็นเวลา 4 วันจนถึง 30 เมษายน

 การล็อกดาวน์ รณรงค์อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ การออกมาตรการเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกับปิดแหล่งชุมนุมสังสรรค์ของผู้คนได้เห็นผลชัดเจนสะท้อนจากยอดผู้ป่วย แต่น่ากังวลเมื่อเริ่มผ่อนคลายและผู้คนขาดความตระหนัก

 “การ์ดต้องไม่ตก” หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ย้ำทุกครั้งในการแถลงจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 นั่นหมายถึงทีมแพทย์ที่กำหนดทิศทางยังคงไม่วางใจกับสถานการณ์

 ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจ ปากท้องก็เป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลเช่นเดียวกัน เมื่อวงจรเศรษฐกิจหยุดชะงัก การค้า การขายทำไม่ได้ตามปกติ “คนเริ่มตกงานมากขึ้น คนเริ่มมีปัญหาความอดอยากหิวโหย เห็นได้จากการเข้าแถวรอรับการบริจาคอาหารหรือถุงยังชีพที่ยาวมากขึ้นในแต่ละแห่ง”

 เป็นที่หน้าที่ของรัฐที่ต้องประเมินสถานการณ์การควบคุมโรคและการผ่อนคลายด้านเศรษฐกิจการทำมาหากิน ซึ่งต้องรักษาความสมดุลให้ได้ “อย่าให้ไม่ตายด้วยโควิด แต่ต้องอดตายเพราะไม่มีกิน ซึ่งรัฐบาล ราชการทุกหน่วยงานต้องตรึงพื้นที่อย่างเต็มกำลังและควานหาผู้ที่สุ่มเสี่ยงจากพิษภัยโควิดและสุ่มเสี่ยงด้านเศรษฐกิจปากท้องจากพิษภัยโควิด และเข้าเทกแอ็กชันให้เร็วก่อนนำไปสู่สถานการณ์ที่ต้องสูญเสีย”

 พล.อ.ประยุทธ์ เองดูเหมือนเดิมพันหมดหน้าตักทั้งการคุมโรคและการเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลยืนยันเยียวยาทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกร ลูกจ้างในระบบประกันสังคม อาชีพอิสระ จนยอดจากเดิม 3 ล้านคน เพิ่มมาเป็น 8 ล้านคน 10 ล้านคนและรัฐบาลขยายเป็น 16 ล้านคนสำหรับ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่จ่ายเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท 3 เดือน และยังอนุมัติจ่ายเยียวยากลุ่มเกษตรกรอีก 10 ล้านคน 5,000 บาท 3 เดือน

 “ผมเคยเรียนไปแล้วว่า ท่านลำบาก ผมก็ลำบาก ผมเข้าใจดีถึงผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการหลายอย่างช่วยเหลือเยียวยา ต้องทยอยดำเนินการไปตามสัดส่วนงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของเงินรายจ่ายประจำ งบฯกลางที่เหลืออยู่ รวมถึงในส่วนที่เป็นพ.ร.ก.กู้เงิน ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันเยียวยาประชาชน ดังนั้นขอให้รอสักนิด รอให้การดำเนินการให้ครบขั้นตอนก่อน ซึ่งต้องมีคณะกรรมการดำเนินการอีกขั้นหนึ่ง แต่ยืนยันว่าผมจะดูแลให้ดีที่สุดในทุกภาคส่วน” นายกฯระบุ

 เงินอย่างน้อย 3.9 แสนล้านบาท กำลังลงและกำลังหมุนไปหล่อเลี้ยงในระบบ แม้จะมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจ

 เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่ต้องรับลูกนายกฯ ไปดำเนินการต่อที่จะให้เงินที่ลงไปหมุนในระบบหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ เยียวยาชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 จุรินทร์ ต้องเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในการฟื้นภาคการผลิตพร้อมกับการตลาดให้เกิดการหมุนเวียน โดยเฉพาะการดึงผู้ผลิตมาลดราคาสินค้าเป็นเบื้องแรกก่อน ซึ่งขณะนี้มี 6 กลุ่มสินค้ากว่า 3,025 รายการที่ร่วมโปรแกรมลดราคาสินค้าให้ประชาชนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย

 “มีรายการสินค้าที่เข้าร่วมมากกว่าล็อต 1 หลายเท่าตัว โดยมีมากถึง 3,025 รายการ โดยลดราคาสูงสุดถึง 68% มีผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเข้าร่วมโครงการล็อต 2 รวมกันถึง 51 องค์กร เป็นข้าวสารถุง 18 บริษัท สินค้าอุปโภคบริโภค 20 บริษัท และห้างสรรพสินค้าต่างๆ 13 ห้างทั่วประเทศถึง 30 มิถุนายน 2563 คาดว่าลดราคาได้มากกว่าพันล้านบาท”

 แต่ที่สำคัญที่สุดอย่าให้เงินก้อนสุดท้ายนี้หมุนไปสู่วงจรค้าปลีกใหญ่ ต้องหาทางให้หมุนที่ฐานราก มีการซื้อขายหมุนเวียนภายในหมู่บ้านชุมชนให้มากที่สุด ต้องสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าในชุมชนมีโอกาสขาย และชุมชนมีโอกาสซื้อมากกว่าได้เงินเยียวยามาแล้วมุ่งไปร้านสะดวกซื้อ

 นั่นอาจหมายถึงเงินหมุนไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัวแทนชาวบ้าน

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสเกษตรกรฐานราก ได้มีโอกาสมีช่องทางนำสินค้าและบริการ ผลิตภัณฑ์ของตัวเองขาย

 ต้องใช้ประโยชน์จากเงิน 3.9 แสนล้านบาทก้อนนี้ให้หมุนเวียนในระบบให้มากที่สุด ตรึงฐานรากให้ได้

 ต้องขยับรับกันเป็นลูกระนาด ไม่นิ่งดูดายเป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือมุ่งไปที่คะแนนเสียงทางการเมือง

 ร่วมกันนำพาประเทศชาติให้รอดปลอดภัยก่อน การเมืองไว้ทีหลัง

 #โควิด-19 เราต้องรอด