โควิด-19 บททดสอบครั้งสำคัญ

29 เม.ย. 2563 | 04:10 น.

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาทัศนะ โดย ดร.ศรุตา เบญจานุวัตรา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2563

 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราทุกคนก็ได้เห็นในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ภาวะที่กรุงเทพมหานครเงียบสงบ ถนนโล่ง รถไม่ติด ภาวะที่วันสงกรานต์เป็นวันทำงานธรรมดาอีกวันหนึ่ง ไม่มีการ สาดนํ้าและแทบจะไม่มีอุบัติเหตุทางรถยนต์ ภาวะที่คนใส่หน้ากาก (จริงๆ) เข้าหากัน และภาวะที่เศรษฐกิจหยุดชะงักทั่วประเทศและเกือบทั่วโลก

ภาวะโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ มียอดผู้ติดเชื้อทั้งโลกหลายล้าน คร่าคนไปแล้วนับแสน ผู้คนล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วง และสถานการณ์โลกยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีก เนื่องจากเชื้อได้ลามไปสู่ทวีปแอฟริกาและหลายประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่พร้อมรับมือ

สำหรับประเทศไทย มาตรการล็อกดาวน์และการร่วมแรงร่วมใจ เป็นอย่างมากของคนไทยส่วนใหญ่ ได้ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 อย่างได้ผล ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตไม่พุ่งขึ้นมาก และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มหันตภัยใหญ่หลวงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันที่ตามมาติดๆ และกำลังแซงโค้งกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและหลายๆ ประเทศทั่วโลก คือปัญหาปากท้อง จากการที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก ภาคบริการด้านการท่องเที่ยวหยุดนิ่งสนิท ภาคการผลิตชะลอตัว การค้าขายส่วนใหญ่ฝืดเคือง หลายคนตกงานไม่มีรายได้ และคนอีกมากกำลังจะอดตาย

ถึงแม้ว่าทุกคนได้รับผล กระทบจากโควิด-19 กันทั้งนั้นในรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและเปราะบางมากที่สุดก็คือกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย โควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่คนทำงานประจำที่ค่อนข้างมีความมั่นคง อาจยังพอมีพอกินอยู่รอดได้ในสภาวะแบบนี้ แต่คนรากหญ้า คนหาเช้ากินคํ่า ลูกจ้างรายวัน ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มที่โดนเลิกจ้างจากการที่สถานประกอบการถูกปิดกิจการชั่วคราว ต่างล้มครืนไปตามๆ กัน

หน่วยงานทางเศรษฐกิจหลายแห่งได้เผยแพร่ตัวเลขการคาดการณ์ว่า พิษโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างหนัก เทียบเท่าหรือยิ่งกว่าสมัย Great Depression เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจถดถอยซบเซาไปทั่วโลก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด และตอนนี้หลายประเทศเริ่มมีผู้คนออกมาประท้วงให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ หรือด้วยปัญหาปากท้องก็ตาม

รวมถึงในประเทศไทยที่เราเริ่มเห็นการต่อต้านจากผู้ได้รับผล กระทบบ้างแล้ว ซึ่งถ้าการเยียวยาจากรัฐบาลยังไม่ทั่วถึง ติดปัญหาในทุกขั้นตอนอย่างทุกวันนี้ และผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ อาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง รวมถึงปัญหาอาชญากรรมต่อไปได้

 

โควิด-19 บททดสอบครั้งสำคัญ

 

โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนโลก เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ และเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอย่างชัดเจน และสถานการณ์โควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราไปอีกยาวนาน อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีวัคซีนที่ใช้ได้จริงและปลอดภัยออกมาสู่ตลาด แต่เราไม่สามารถมีมาตรการล็อกดาวน์ได้จน ถึงวันที่โควิด-19 หมดไปจากโลกนี้ หรือว่าจนกว่าจะมีการผลิตวัคซีนออกมา เพราะคนอดตายจะมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างแน่นอน

ในระยะสั้น เพื่อประคองให้ประชาชนยังอยู่รอดได้ รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบและกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการในหลายส่วนไปแล้ว แต่ความช่วยเหลือและการเยียวยายังไม่ทั่วถึง ติดปัญหาในแทบทุกขั้นตอน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด กลับเข้าไม่ถึงเงินเยียวยาและความช่วยเหลือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันและประสานงานกับเครือข่ายท้องถิ่น รวมทั้งภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือไปถึงกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด โดยรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่าย เพื่อชี้เป้าให้ได้ว่ากลุ่มเปราะบางที่สุดอยู่ที่ไหน มีจำนวนเท่าไหร่ และจะเข้าถึงได้อย่างไร


 

 

ที่ผ่านมา การจัดการที่ผ่านหน่วยงานหรือเครือข่ายท้องถิ่นในหลายๆ ด้าน ถือว่าประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองประชาชนที่เดินทางระหว่างจังหวัด การตรวจสอบผู้ป่วยติดเชื้อ การตรวจสอบการลักลอบชุมนุม และการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เป็นต้น ในส่วนนี้ หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือและประสานงานกับเครือข่ายท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ก็น่าจะประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน โดยต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุดก่อนที่กลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดจะอยู่ไม่ไหว

นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาส่งเสริมการจ้างงานแรงงานเพิ่มเติมเข้าไปในภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังขาดแคลน และเน้นในส่วนสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ นอกเหนือจากการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาเป็นหลักด้วย

สำหรับระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญของภาคส่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับ ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และบางประเทศในเอเชีย อีกทั้งมีความเสี่ยงของการระบาดรอบ 2 อีกด้วย แต่ประเทศไทยยังไม่หมดหวัง เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่ได้เปรียบประเทศอื่นๆ และมีศักยภาพที่อาจเป็นครัวโลกได้

แต่การที่เกษตรกรหลายคนกลับเป็นหนี้เป็นสิน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ไม่มีงานทำ ไม่มีผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการประสบปัญหาภัยแล้งที่ปีนี้ดูจะรุนแรงยิ่งกว่าปีอื่นๆ เหล่านี้ได้แสดงถึงความไม่จริง จังของรัฐบาลหลายๆ ชุด ในการแก้ปัญหาสำหรับประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศ

จากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรอย่างจริงจัง ทั้งเกษตรกร และปัจจัยที่จำเป็นในการทำเกษตรกรรมและกสิกรรม โดยเฉพาะการจัดการนํ้าเพื่อการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและให้เกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรต่อไปได้ อีกทั้งเป็นการประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชนทั้งประเทศอีกด้วย วันนี้เราทุกคนอาจยังมีอาหารเพียงพอ แต่ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นก็อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านการขาดแคลนอาหารในอนาคตอันใกล้ได้ ยิ่งจะเป็นการซํ้าเติมประชาชนเข้าไปอีก

 

 

นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการจัดจำหน่าย อีกทั้งตั้งเครือข่ายการค้าผ่านระบบออนไลน์เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้โดยตรงและลดจำนวนพ่อค้าคนกลาง หากประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนในภูมิลำเนาของตนเอง ก็จะช่วยให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถอยู่รอดได้ พึ่งพาตัวเองได้ และเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมลํ้า โดยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีผู้ขายและผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยมากขึ้น เงินในระบบก็จะหมุนเวียนไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน โดยอาจรวมถึงการปรับโครงสร้างภาษี การลด ขั้นตอนและกฎระเบียบในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้

#เราจะผ่านมันไปด้วยกัน