‘เจ้าสัวธนินท์’ไม่ทิ้งลูก! กู้ก้อนมหึมาซื้อ‘เทสโก้’ ขึ้นเจ้าพ่อค้าปลีก?

12 มี.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3556 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์  ตอบคำถามของนักข่าวเมื่อถามว่า..หากเทสโก้ โลตัส ขายกิจการจริง กลุ่มซีพีมีความสนใจหรือไม่?
          เจ้าสัวธนินท์บอกว่า “พร้อมพิจารณา เพราะเทสโก้ โลตัส ประเทศไทย เปรียบเหมือนลูกของ ซีพี”
          เจ้าสัวบอกว่า ซีพี ได้ขายกิจการไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยนโยบายทำธุรกิจของ ซีพีคือ ตลาดในโลกนี้เป็นของซีพี วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของ ซีพี คนเก่งในโลกนี้เป็นของ ซีพี และเงินในโลกนี้เป็นของ ซีพี แต่อยู่ที่ ซีพีจะใช้เป็นหรือไม่...
          ผ่านมา 6 ปี เจ้าสัวธนินท์ ซึ่งปัจจุบันก้าวขึ้นเป็นประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศชัดอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 กับ THE STANDARD ว่า ต้องซื้อ เพราะเป็นประโยชน์กับคนไทย มั่นใจว่าจะทำได้ดีกว่าเดิมเท่าตัว เปรียบธุรกิจเหมือนลูกที่เคยให้คนอื่นไปช่วยเลี้ยง  
          เจ้าสัวธนินท์บอกว่า “ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ ผมตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศไทยได้ดีขึ้น...
          ผมเชื่อว่า ผมมีความสามารถซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงลูกให้ดีกว่าเดิม เอาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามา แล้วก็พัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0”
          วันที่ 9 มีนาคม 2563 คำประกาศของเจ้าสัวธนินท์ ผู้ปลุกปั้นห้างสรรพสินค้าโลตัสคืนกลับมาจากกลุ่มเทสโก้ ที่ยาวนานกว่า 23 ปี ก็เป็นความจริง!
​​​​​​​          เมื่อกลุ่มซีพี-CPALL ประกาศคว้าชัยชนะในการประมูลซื้อห้าง “เทสโก้โลตัส” ในไทย-มาเลเซีย ในเวลา 13.32 น. ในการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซีย ภายใต้ชื่อกลุ่มเทสโก้เอเชีย มูลค่า 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 338,445 ล้านบาท 
​​​​​​​          การซื้อขายจะเสร็จสิ้นภายในครึ่งปีหลัง เนื่องจากต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและกระทรวงการค้าของมาเลเซีย และผู้ถือหุ้นของเทสโก้

          สำหรับแหล่งเงินในการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะมาจากเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศเต็มจำนวน โดยเป็นการกู้เงินเพื่อใส่ในส่วนของทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น ประกอบด้วย CPALL 40% จำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (95,981 ล้านบาท) ,บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง  40% จำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (95,981 ล้านบาท) CPF สัดส่วน 20% จำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (47,991 ล้านบาท) รวม 3 บริษัท เป็นวงเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 240,000 ล้านบาท ) 
          ส่วนเงินลงทุนอีก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นการกู้โดยบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด
          พลันที่มีการแจ้งว่า กลุ่มซีพีชนะ หุ้นของกลุ่ม CPALL ร่วงทันทีมูลค่าตลาดหายไปกว่า 55,000 ล้านบาท เพราะนักลงทุนกลัวเรื่องภาระหนี้ เพราะก่อนหน้านี้เคยกู้เงินมาซื้อหุ้นแม็คโครมารอบหนึ่งกว่า 145,000 ล้านบาท ต้องแบกดอกเบี้ยปีละกว่า 6,500 ล้านบาท 
          เมื่อนักลงทุนเห็นประกาศการซื้อรอบนี้อีกกว่า 3.38 แสนล้านบาท เท่ากับว่าต้องกู้เงินก้อนโต แม้ว่าจะได้ทรัพย์สินก้อนโต มาต่อยอดทางธุรกิจ!
          การซื้อเทสโก้โลตัสในเมืองไทยและมาเลเซียครั้งนี้ เจ้าสัวธนินท์ใช้เงินราว 10,576 ล้านดอล่าร์สหรัฐฯ จากที่ขายออกไปเมื่อปี 2540-2541 ให้กับเทสโก้อังกฤษในราคา 365 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำเงินไปลงทุนกับธุรกิจ 7-Eleven ที่สร้างผลกำไรได้มากกว่าในตอนนั้น 
          เงิน 3.38 แสนล้านบาทนั้น ทางกลุ่มซี.พี. จะได้เทสโก้โลตัส ที่มีสาขาในไทย 2,100 แห่ง และในมาเลเซียอีก 74 แห่ง มีพนักงานกว่า 60,000 คน และในปีที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ทำรายได้มากถึง 4,900 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 195,541 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 286 ล้านปอนด์ หรือ 11,413 ล้านบาท เท่ากับ 1 ใน 5 ของผลกำไรรวมทั้งหมด
​​​​​​​          การชนะการประมูลของกลุ่มซีพีรอบนี้ถือว่า สู้กันแบบมันหยด แบบว่า เจ้าสัวไม่มีใครยอมใคร เพราะ 3 เจ้าสัวพร้อมใจกันเสนอราคาแข่งกันสูสีคู่คี่มากๆ
​​​​​​​          Financial Times รายงานว่า กลุ่ม Central ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้ยื่นข้อเสนอมากกว่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯตกประมาณ 2.83 แสนล้านบาท
​​​​​​​          ขณะที่กลุ่ม CP ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ยื่นข้อเสนอซื้อที่มากกว่า 10,576 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่า  3.38 แสนล้านบาท 
​​​​​​​          กลุ่ม TCC ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศระดมเงินกู้ระยะสั้น 2 ปี มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.14 แสนล้านบาท ในการเสนอซื้อเทสโก้

          ขณะที่บริษัทที่ปรึกษา และฟันด์แมเนเจอร์ ประเมินราคาขายเทสโก้ โลตัสไว้ก่อนหน้านี้ว่าน่าจะตก 8,900-9,000 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น แต่ในเมืองไทยมีการประเมินว่ามูลค่าสินทรัพย์ของเทสโก้อยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 300,000 ล้านบาทเท่านั้น
          แล้วกลุ่มซีพีจะได้ธุรกิจอะไรจากเทสโก้โลตัสไปบ้าง...ผมไปแกะเกาเทสโก้ออกมาแล้วพบว่า ในการซื้อครั้งนี้กลุ่มซีพีจะได้ธุรกิจของเทสโก้ไป 7-8 ธุรกิจ
          1.ได้ธุรกิจในนามบริษัท รีเทลพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่เป็นเจ้าของธุรกิจการสร้างสาขา หรือซื้อที่มาให้เทสโก้ โลตัส แต่ละสาขาเช่า 
          2.ได้ธุรกิจของบริษัท ซินเนอร์จิสติก พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ธุรกิจที่เกี่ยวกับการขนส่งและแวร์เฮาส์
          3. ธุรกิจของบริษัท เทสโก้โลตัส มันนี่เซอร์วิสเซส จำกัด ธุรกิจด้านการเงินหรือบัตรเทสโก้ โลตัสนั่นแหละครับพี่น้อง ไล่จากบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส แพลทินัม บียอนด์ บัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส แพลทินัม รีวอร์ด บัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส อีเพย์ บัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า
          4. ธุรกิจในนามบริษัท เทสโก้ โมบายล์ (ประเทศไทย) จำกัด 5. ธุรกิจบริษัท เทสโก้ เจเนอรัล อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด อันนี้ขายประกัน
​​​​​​​          6. บริษัท เทสโก้ ไลฟ์ แอสชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด อันนี้ก็ขายประกันชีวิต
​​​​​​​          7. ได้ของใหญ่ไปคือทรัพย์สินและเงินรวมถึงภาระการจ่ายเงินในนามของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าเทสโก้ โลตัส รีเทล โกรท ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ขายหน่วยลงทุนทุนละ 10.40 บาทเศษ รวม 25,952 ล้านบาท ตอนนี้ราคา 12.8456 บาท มีมูลค่าประมาณ 30,677 ล้านบาท
​​​​​​​          8. ได้ธุรกิจการขายสินค้าภายในเทสโก้ โลตัส ผ่านเว็บไซต์ https://shoponline.tescolotus.com/ โดยตรง ได้ช็อปปิ้งออนไลน์ Tesco Lotus Online ผ่าน Lazada
​​​​​​​          การซื้อลูกกลับมาต่อยอดธุรกิจค้าปลีกของเจ้าสัวใหญ่ธนินท์ไม่ธรรมดาแน่นอนครับ!
​​​​​​​          เพราะการซื้อลูกชายคนแรกที่ชื่อเทสโก้โลตัส กลับมาน่าจะเป็นหัวหอกหลักในการนำพาธุรกิจค้าปลีกและสินค้าในเครือซีพี ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบเกษตร อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารสด ทั้งองคาพยพ “ติดปีก” ให้กับอาณาจักรซีพี