ประเทศไทย: ประเทศที่ไม่ต้องการพัฒนา ทำไมเราช่างเปราะบางเหลือเกิน?

09 มี.ค. 2563 | 11:00 น.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.”

ข้อสังเกตและคำถามของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับลักษณะเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างไร ทำไมมีความรู้สึกถึงความเปราะบางอ่อนไหวต่อสิ่งกระทบจากภายนอก ภูมิต้านทานของระบบเศรษฐกิจไม่มีเลยเหรอ

ความจริงแล้วเศรษฐกิจที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเข้าสู่วัยกลางคนอย่างประเทศไทย ทุกคนน่าจะคุ้นชินกับความเสี่ยงและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นแล้วทั้งในและต่างประเทศ

โดยเฉพาะหลังจากปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ผลกระทบในระดับลึกมีทุกครั้งที่ร่องรอยเป็นบาดแผลและแผลเป็น ที่ตามมาด้วย วิกฤตซับไพรม์ หนี้ยุโรป Brexit และสงครามการค้า หรือแม้กระทั่งกรณีของ โควิด-19 ที่ความสามารถในการฟื้นตัวอยู่ในระดับต่ำและตามหลังประเทศอื่นเสมอ เจ็บนาน

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว นี่คืออาการของประเทศที่มีภูมิต้านทานต่ำ อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารโลกล่าสุดระบุว่า “ช่วงปี พ.ศ. 2558-2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 9.8% จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4.85 ล้านคน เป็นมากกว่า 6.70 ล้านคน ความยากจนนี้ยังเพิ่มขึ้นในปีต่อมา กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย”

การเพิ่มขึ้นของคนจนเกือบ 2 ล้านคน สะท้อนความล้มเหลวของการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โอกาสทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การจัดสรรทรัพยากร และความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาเหล่านี้มาจากโครงสร้างที่เปราะบาง

ประเทศไทย: ประเทศที่ไม่ต้องการพัฒนา ทำไมเราช่างเปราะบางเหลือเกิน?

ความเปราะบางจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศทั้งการค้าและบริการ การเปิดรับความเสี่ยงแบบอ้าซ่า (risk exposure) บนห่วงโซ่ของการรับจ้างผลิตเพื่อการส่งออกตลอดกาล แม้จะเปลี่ยนประเทศคู่ค้าไปบ้างตามกาลเวลา แต่การรับจ้างผลิตไม่เคยเปลี่ยน

เมื่อมีประเทศที่ได้เปรียบด้านการผลิตอย่างเวียดนามมีบทบาทมากขึ้น ความสั่นคลอนดังกล่าวทำให้มูลค่าเพิ่มที่ตกอยู่ในประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก หรืออัตรากำไรสุทธิ (net profit margin) ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตอยู่ในระดับบางมาก ที่ไม่อาจจะรองรับความเสี่ยงด้านต้นทุนและราคาได้อีกต่อไป

ขณะที่การท่องเที่ยวขับเคลื่อนด้วยฐานของทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ และรูปแบบของการท่องเที่ยว (tourism form) ที่ถูกจัดการมาจากประเทศต้นทาง ทำให้ผลประโยชน์สุทธิที่เกิดกับประเทศไทยต่อหัวของนักท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้เมื่อการท่องเที่ยวพึ่งพาความเป็นฤดูกาลสูง กลุ่มผู้ได้ประโยชน์จึงเปลี่ยนหน้าตาไปเรื่อย การตีหัวเข้าบ้านของผู้ประกอบการแบบชั่วคราว แต่ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

ความเปราะบางจากโครงสร้างเศรษฐกิจด้านการผลิต ความสามารถในการสร้างผลิตภาพการผลิต (productivity) อยู่ในระดับต่ำ และไม่ได้เป็นแหล่งที่มาของการเติบโต (sources of growth) หลักในระยะยาวของประเทศ นับตั้งแต่การเริ่มนำเครื่องจักรและโรงงาน เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยุคทองของอุตสาหกรรม เศรษฐกิจก็ขยายตัวรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น จากแรงงานภาคเกษตรกรรมที่ชั่วโมงการทำงานต่อวันเฉลี่ยต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อคนต่อปี ที่ย้ายเข้าไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 6-8 ชั่วโมงต่อคนต่อปี จึงเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวในระดับ 7-8%

ประเทศไทย: ประเทศที่ไม่ต้องการพัฒนา ทำไมเราช่างเปราะบางเหลือเกิน?

เท่ากับว่าที่ผ่านมาตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจาก “ปริมาณ” ของปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อภาคอุตสาหกรรมปรับตัวด้วยการใช้เทคโนโลยีระดับสูงขึ้น ความต้องการปริมาณแรงงานไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตาม คุณภาพของเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ต้องการคุณภาพของแรงงานที่สูงขึ้น

แต่ใน “ปริมาณ” ที่ลดลง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ชั่วโมงในการทำงานรวมของแรงงานลดต่ำลง การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมก็ลดน้อยถอยลง หลังจากนั้นแรงงานจากภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมก็เคลื่อนที่เข้าสู่ภาคบริการ เพื่อรองรับสังคมแห่งการบริโภคจากทั้งในและต่างประเทศ โดยที่ผลิตภาพของแรงงาน (labor productivity) ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนทักษะที่จำเป็นต่อภาคบริการ การจ้างงานและการทำงานในระดับต่ำกว่าศักยภาพจึงเกิดขึ้นสูงในภาคบริการ

นั่นคือ ผลตอบแทนต่อหัวของแรงงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราการเติบโตต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเทียบระหว่างเจ้าของเทคโนโลยี เจ้าของกิจการและแรงงาน

ประเทศไทย: ประเทศที่ไม่ต้องการพัฒนา ทำไมเราช่างเปราะบางเหลือเกิน?

ความเปราะบางจากโครงสร้างธุรกิจที่คุณภาพของแรงงานไม่ตอบสนองต่อคุณภาพของเทคโนโลยี ความสามารถในการปรับตัว (transform) ของภาคธุรกิจยังอาศัย “ปริมาณ” และพึ่งพา “ราคา” ตามการขึ้นลงของปัจจัยภายนอก ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการเองได้ ไม่ได้มีแก่นของขีดความสามารถในการแข่งขันที่สามารถสร้างข้อได้เปรียบ (barrier to entry) ผลประกอบการเลยผันผวน

ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (ecosystem) ที่เต็มไปด้วยความล้าหลังของระบบรัฐ ทำให้เทคโนโลยีระดับ 10 ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้เพียงระดับ 2-3 เท่านั้น ทำให้เกิดความสูญเปล่า (waste) จำนวนมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ทักษะ (unskill) จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่มากกว่าแรงงานต่างด้าวมีทักษะ (skill) จากต่างประเทศล้วนสะท้อนประสิทธิภาพการแข่งขันในระยะยาวของธุรกิจที่อ่อนแอลง

ความเปราะบางของโครงสร้างประชากร ปริมาณการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ การลดลงของกำลังแรงงาน การเพิ่มขึ้นของอัตราการพึ่งพา อายุขัยเฉลี่ยคาดการณ์เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราความเป็นเมือง(urbanization) ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เมืองกับชนบทมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดไม่ส่งผลดีต่อการเติบโตและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยจำนวนประชากรของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงในปี พ.ศ. 2572 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ตามการคาดการณ์ของรายจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยู่ที่ 67.2 ล้านคน เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 16% อายุ 15-59 ปี 65% และอายุ 60 ขึ้นไป 19% เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

นั่นหมายถึง ความพร้อมสำหรับการวางแผนเรื่องรายได้หลังเกษียณ ซึ่งแรงงานที่อายุ 40 ปีขึ้นไปต้องเตรียมความพร้อมแล้ว

ความเปราะบางของโครงสร้างการเมืองการปกครอง ความซับซ้อนของกฎหมายและระบบบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ทำให้รัฐไทยต้องอาศัยกฎหมายพิเศษและพื้นที่พิเศษอยู่เป็นระยะ แต่ด้วยจำนวนจังหวัดและการแบ่งหน่วยการปกครองที่มากเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดและจำนวนประชากรของประเทศ ทำให้บริบทของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านหน้าที่ของระบบราชการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นจำนวนมาก ที่เป็นส่วนสำคัญที่คอยฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้

ประเทศไทย: ประเทศที่ไม่ต้องการพัฒนา ทำไมเราช่างเปราะบางเหลือเกิน?

ในสถานการณ์ที่ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเกิดจากความผันผวนด้านข้อมูลและเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วัฏจักรทางเศรษฐกิจสั้นและแกว่งตัวสูง เนื่องจากการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการเกิดจากฐานของความรู้แทนฐานของความได้เปรียบด้านทรัพยากรและวัตถุดิบ ซึ่งเข้าถึงและเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า วงจรของสินค้าและบริการจึงสั้น “เกิดง่าย ตายเร็ว ฉาบฉวย มักง่าย” การแข่งขันไม่มีขีดจำกัดหรือข้อกีดกัน ล้วนแล้วแต่จะนำผู้ประกอบการหรือประเทศที่ไม่มีความสามารถปรับตัวสู่ห้วงเวลาที่ล้มเหลวได้ตลอดเวลา

ประเทศที่ไม่ต้องการพัฒนา (a reluctance to develop country) อย่างประเทศไทย ในเวลานี้อาจจะไม่มีโอกาสในพัฒนาอีกแล้ว การติดหล่มอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา (developing country) กว่า 40 ปี ที่รายได้ต่อเฉลี่ยต่อหัวประชากร ณ ปัจจุบันประมาณ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี และแทบจะไม่เห็นหนทางการก้าวเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) ได้เลย ที่กำหนดประเทศรายได้สูงไว้ที่ 12,450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี ไม่มีแม้ช่วงเวลาอันสั้นในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะบรรลุแค่เป้าหมายรายได้ปานกลางเท่านั้น

“การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจดี (ฐานะการเงินการคลังดี) แต่ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นและการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม การจัดสรรทรัพยากรไม่เกิดประโยชน์” ทั้งหมดเป็นเป้าหมายของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญมากที่สุด

แต่สำหรับประเทศไทยแล้วเป้าหมายทั้งหมดล้วนแล้วเอื้อให้กับส่วนยอดของระบบเศรษฐกิจ แต่มีความเปราะบางที่พร้อมจะพังทะลายตลอดเวลาต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ คำถามคือ อะไรที่ทำให้ประเทศที่เคยเป็น 1 ใน 6EMs (6 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เคยมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเกาหลีใต้) เคยได้รับการยกย่องให้เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แล้วแปรสภาพเป็นประเทศที่ไม่ต้องการพัฒนาได้อย่างไร

คำตอบก็คือ เพราะการพัฒนาต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลง หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คงจะไม่มีการพัฒนา ตามที่ Robert Einstein กล่าวว่า “มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่กระทำแบบเดิม แล้วหวังผลลัพธ์ใหม่” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจ และอำนาจนิยมในสังคมไทย หากวงจรอุบาทว์ที่พยายามรักษาอำนาจในทุกวิธีการยังคงดำรงอยู่และดำเนินต่อไป การล่มสลายทางเศรษฐกิจที่ถาวรของไทยคงใกล้เข้ามาทุกที (ฉบับต่อไปจะเขียนถึงการหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำและประเทศไม่ต้องการพัฒนาได้อย่างไร)

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขบบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.”