โคโรนา จิตสำนึกต่อสังคม และผลกระทบที่คาดไม่ถึง

28 ก.พ. 2563 | 01:00 น.

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1-4 มีนาคม 2563

 

โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังจะเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป สถาน การณ์เศรษฐกิจโลกที่คุกรุ่นมาโดยตลอดตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกา  ความวุ่นวายภายในอินเดีย สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทับถมด้วยข่าวโรค COVID-19 ที่เป็นที่วิตกของคนทั้งโลก แต่หากจะวิเคราะห์ผลกระทบของ COVID-19 แล้ว จะต้องพิจารณาจากหลากหลายมิติ ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

COVID-19 ก่อให้เกิดประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ ความเห็นอกเห็นใจ เช่น นายกรัฐมนตรี ฮุน เซ็น ของกัมพูชา ที่เดินทางไปเยือนประเทศจีน พบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อสร้างความมั่นใจกับจีน และยังได้รับคำชมจากผู้นำจีนว่า
“เพื่อนในยามยากคือเพื่อนแท้ จากนั้นก็ยังออกหน้ารับเรือสำราญเวสเตอร์ดัม ที่หลายชาติปฏิเสธให้เทียบท่า สร้างความโกลาหลให้แก่หลายประเทศสมาชิกอาเซียนที่นักท่องเที่ยวจากเรือใช้เป็นทางผ่านกลับภูมิลำเนา และนำไปสู่ข้อถกเถียงด้านมนุษยธรรม

ทางสังคมเป็นที่น่ากังวลไม่แพ้กัน เพราะ COVID-19 ที่เริ่มจากจีนและมีการกระจายขั้นแรกในเอเชียทั้งไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวง ระหว่างหมู่คนเอเชียด้วยกันเอง จนกระทั่งมีการประกาศการเฝ้าระวัง ยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศของคนที่เดินทางมาจากประเทศที่เกิดโรคระบาด อีกทั้งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ร้านอาหารบางแห่งปฏิเสธที่จะรับลูกค้าชาวจีน

สถานการณ์เริ่มที่จะเลวร้ายขึ้น โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ซึ่งไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างหน้าตาของคนเอเชีย ทำให้คนเอเชียกลับพักพิงถาวร นักศึกษา หรือผู้เดินทางมาเยือน ประสบกับคดีทำร้ายร่างกาย หรือใช้วาจาเหยียดหยาม ว่าเป็นพาหะของ COVID-19 นำไปสู่ประเด็นความขัดแย้งของสังคมในอนาคต

 

โคโรนา  จิตสำนึกต่อสังคม  และผลกระทบที่คาดไม่ถึง

 

ส่วนทางเศรษฐกิจได้รับผล กระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก เช่น งานกีฬา งานแสดงดนตรี หรืองานพบปะสังสรรค์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึง ต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย คนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ และอาจจะหมายถึงคนไทยที่เที่ยวในเมืองไทยหากมี การระบาดในระยะที่ 3 (วันนี้ที่เขียน มีข่าวผู้สูงวัยไปเที่ยวติดเชื้อ แต่ปกปิดข้อมูลแล้ว!)

รายได้จากการท่องเที่ยวที่ต่างชาติมาใช้จ่ายในไทย มีสัดส่วนประมาณ 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีที่ผ่านมามีประมาณ 40 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีน 10.5 ล้านคน มาเลเซีย 4.1 ล้านคน และเกาหลีใต้ 1.8 ล้านคน

ที่น่ากังวลคือ นักท่องเที่ยวจีนก็ติดอันดับผู้เยือนลำดับแรกทั้งในญี่ปุ่นและสิงคโปร์และลำดับรองในมาเลเซีย เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงทั้งภูมิภาค อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องของการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบมีอีกมาก อาทิ การเดินทางทั้งทางอากาศ บก และเรือ การให้บริการของสนามบิน ที่พักในทุกรูปแบบตั้งแต่โรงแรม เกสต์เฮาส์หรือโฮมสเตย์ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าส่งและค้าปลีก ร้านสปา และร้านขายสินค้าของฝาก จะต้องมีการลดเวลาการทำงาน

รายได้ที่ขาดหายไป มีการประมาณการว่าแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีประมาณ 8 ล้านคน กลไกการรองรับ social safety net ต้องรีบวางแผนรองรับอย่างฉุกเฉินหากสถานการณ์COVID-19 ยืดเยื้อไม่จบในกลางปี การแก้ปัญหาแบบปี 2540 โดยที่แรงงานบางส่วนกลับไปสู่ภาคเกษตรกรรมนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ไทยมีภาวะนํ้าแล้ง ไม่สามารถเพาะปลูกได้เต็มที่

 

โคโรนา  จิตสำนึกต่อสังคม  และผลกระทบที่คาดไม่ถึง

 

ประเด็นในส่วนของอุตสาหกรรมปัญหาก็ไม่น้อยกว่ากัน ตั้งแต่มีเขตการค้าเสรีในรูปแบบต่างๆ ทั้ง ASEAN และ ASEAN บวก 1 และบวก 3 ทำให้เกิดการกระจายการผลิตในภูมิภาคมากขึ้นตามห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค (Regional Value Chain) โดยแต่ละประเทศจะผลิตชิ้นส่วนที่มีความได้เปรียบ กล่าวคือมีต้นทุนตํ่ากว่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเขตการค้าเสรีเดียวกัน จากนั้นจะส่งชิ้นส่วนไปประกอบในอีกที่หนึ่ง

สินค้าอุตสาหกรรมของไทย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก น่าจะได้รับผล กระทบสูง เพราะสินค้าเหล่านี้ มีห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเอเชีย ที่จีนญี่ปุ่น เกาหลี เป็นประเทศหัวหอกในการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีสูง ขณะที่ชาติอาเซียนผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีตํ่ากว่า และการประกอบผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายทำในจีนเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีการหยุดการผลิต ที่หนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิต

ในแผนภาพจะเห็นได้ว่า ชาติในเอเชียมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค (Regional Value Chain participation) สูงถึงประมาณ 50% ทำให้ COVID-19 สามารถหยุดการผลิตของโลกได้ทันที หากมีการหยุดการผลิตที่หนึ่งๆ ในระยะยาวนั้น นักลงทุนต้องคำนึงถึงการกระจายการผลิตในรูปแบบใหม่ โดยอาศัยหุ่นยนต์ในการผลิตมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นในการประสานงาน โดยอาศัยความเร็วในระดับ 5G ให้เป็นประโยชน์

ทางออกในปัจจุบัน ที่ต้องบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการมีจิตสำนึกรับ ผิดชอบต่อสังคม ในการระวังตัวเองทั้งรับและส่งผ่านเชื้อ ยืดเวลาการระบาดออกไปให้นานที่สุด จนมีทางรักษา ภาครัฐต้องจัดเตรียมงบประมาณเร่งด่วนเพื่อรองรับคนตกงาน และหนี้สูญของระบบสถาบันการเงิน ในระยะยาวต้องวางแผนร่วมกับนานาชาติในการจัดการอุตสาหกรรมการผลิตและบริการใหม่ ให้รองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดในรูปแบบอื่น