สำนักงบฯรู้ทัน ซุกงบ2หมื่นล้าน สายสีส้มตะวันตก

01 ก.พ. 2563 | 06:30 น.

สำนักงบฯรู้ทัน  ซุกงบ2หมื่นล้าน  สายสีส้มตะวันตก

ขณะที่คนในประเทศกำลังให้ความสนใจกับสถาน การณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เริ่มกระจายไปทั่วโลก การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา มีวาระหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายตะวันตกวงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด จากสถานีบางขุนนนท์ ถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือ PPP

ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะโครงการนี้ ได้ก่อให้เกิดรอยร้าวระหว่างรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหนัก หลังมีการเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจพิจารณา 

บรรดารัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยทั้ง 'อนุทิน ชาญวีรกูล-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' ต่างเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนใหม่จากเดิมที่จะเปิดสัมปทานให้เอกชนออกเงินลงทุนโครงการทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการเดินรถไปก่อนแล้วรัฐบาลค่อยมาตั้งงบประมาณจ่ายคืนหลังก่อสร้างเสร็จ เป็นให้แยกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานออกมารัฐบาลเป็นผู้ลงทุนเอง ด้วยการเปิดประมูลว่าจ้างเอกชนก่อสร้างโครงสร้าง

แต่“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วย ยืนยันว่าการลงทุนโครงการนี้ต้องใช้รูปแบบ PPP เท่านั้น 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นั่งหัวโต๊ะประชุม จึงแก้ปัญหาด้วยการมอบหมายให้ 'อนุทิน' ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้

จน “สมคิด”  ถึงกับตัดพ้อผ่านสื่อมวลชนดังๆ ว่า “ผมไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่คุมด้านเศรษฐกิจแล้ว เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจเพียง 4 กระทรวงเท่านั้น”

สำนักงบฯรู้ทัน  ซุกงบ2หมื่นล้าน  สายสีส้มตะวันตก

ต่อมาในระหว่างการพิจารณาทบทวน กระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม  เมื่อวันที่  1  พฤศจิกายน  2562 ระบุ แม้การจัดหาเงินกู้โดยภาครัฐจะมีอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมต่ำกว่าภาคเอกชนแต่รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนงานโยธาส่วนตะวันตกด้วยนั้นมีความเหมาะสม เนื่องจากรัฐยังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการอื่นตามนโยบายของรัฐบาลที่มีความสำคัญภายใต้แหล่งเงินที่จำกัดอยู่เพียงงบประมาณและเงินกู้ เช่น  ด้านการศึกษา  ด้านการเกษตร เป็นต้น  

ประกอบกับกรณีรัฐเป็นผู้จัดหาเงินกู้เพื่อก่อสร้างงานโยธาจะเกิดภาระหนี้สาธารณะตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อสร้าง  ซึ่งจะกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  และอาจส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินการคลัง  ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศ

 นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอง กระทรวงคมนาคมจึงยอมถอย ให้กลับมาใช้การลงทุนในรูปแบบ PPP ตามข้อเสนอของ'สมคิด'

 ครม.เคาะ"สายสีส้มตะวันตก"สกัดแบ่งเค้กแสนล้าน

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น หากดูความเห็นประกอบการเสนอเรื่องต่อครม.ของสำนักงบประมาณ จะพบข้อสังเกตเกี่ยวกับวงเงินลงทุนโครงการที่สำคัญใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ งบประมาณที่สำหรับค่างานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ที่มีการตั้งกรอบวงเงินไว้ 96,032 ล้านบาทนั้น มีการตั้งงบสำหรับค่า Provisional Sum หรือเงินรายการสำรองไว้สูงถึง 4,029 ล้านบาท

สำนักงบประมาณเห็นว่าวงเงินสำรองก้อนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงของโครงการ จึงเสนอให้ตัดรายการเงินสำรองออก เพื่อให้งบประมาณที่รัฐบาลจะจ่ายให้กับเอกชน เป็นไปตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง 91,483 ล้านบาท 

เท่ากับประหยัดงบได้ 4,029 ล้านบาท

ประเด็นสี่สองคือ อัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณการจ่ายเงินต้นคืนให้กับเอกชนภายหลังก่อสร้างเสร็จ ตามข้อเสนอเดิมอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5% สำนักงบประมาณเห็นว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป จึงเสนอให้ใช้อัตราส่วนลดหรืออัตราดอกเบี้ยไม่เกินอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี บวก 1% ซึ่งจะอยู่ที่ 2.6% และให้ทยอยชําระคืนหลังก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 ปี โดยมีระยะเวลาแบ่งจ่ายรวมทั้งสิ้น 7 ปี (หรือปีสุดท้าย) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น

ประเมินกันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขการจ่ายเงินคืนให้เอกชนตรงนี้ จะทำให้รัฐบาลประหยัดงบกว่า 1 หมื่นล้านบาท

สำนักงบฯรู้ทัน  ซุกงบ2หมื่นล้าน  สายสีส้มตะวันตก

ประเด็นสุดท้ายคือ ในการคํานวณค่างานโยธาของ รฟม. นั้นคำนวณโดยใช้ฐานอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีที่มีการก่อสร้างในอัตรา 2.5% รวมเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 7,555 ล้านบาท ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันประมาณ 1% เท่านั้น ที่จะมีค่าใช้จ่ายเพียง 3,022 ล้านบาทเท่านั้น

สำนักงบประมาณจึงเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ นําประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่จะดําเนินการคัดเลือก มากําหนดเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาในการประมูลด้วย 

ถึงบรรทัดนี้ หากคำนวณวงเงินลงทุนโครงการที่สำนักงบประมาณปรับลดลงใน 3 เรื่อง จะประหยัดงบได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงการภายใต้แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงการเดินทางของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก และตะวันตกด้วยระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยจะเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์และสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.5 กิโลเมตร ต่อมาในปี 2561 ได้มีการปรับปรุงกรอบระ ยะเวลาการดําเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ต่อมาได้มีการปรับการดําเนินโครงการ ส่วนตะวันตก โดยกําหนดแนวเส้นทางเป็นช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยก่อน ในระยะแรก เนื่องจากแนวทางเส้นบางขุนนนท์-ตลิ่งชัน ซ้อนทับกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ของ รฟท.

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,545 วันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2563