พีพีพี จำแลง-อุ้มชู ซีพี? ไฮสปีดเทรน 'สร้างไปเบิกงบไป'

19 ต.ค. 2562 | 07:04 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3515  หน้า 20 ระหว่างวันที่ 20-23 ต.ค.2562 โดย...พรานบุญ

 

พีพีพีจำแลง-อุ้มชูซีพี?    

ไฮสปีดเทรน

'สร้างไปเบิกงบไป'

 

     "วาว วาว เสียงรถไฟวิ่งไป ฤทัยครื้นเครง

     เรามันคนกันเอง ไม่ต้องเกรงใจใคร...

     พวกเราเพลินชมไพร นั่งรถไฟไปถึงระยอง

     ใครชํ้าเลือด ชํ้าหนอง ไม่ต้อง อาดูร....” นังบ่างตะโกนก้องร้องเพลงดังสนั่นไปทั้งป่าคอนกรีต

     นังบ่างดีใจวิ่งตะโกนก้องร้องซํ้าไปซํ้ามา ตั้งแต่ “สะพานชมัยมรุเชฐ” จนถึงแยกราชประสงค์ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติสนับสนุนการเซ็นสัญญาสัมปทานการร่วมทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินวงเงิน 224 แสนล้านบาท ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ชนะการประมูลไป แต่เจรจารายละเอียดตกลงกันไม่ได้มายาวร่วม 1 ปี

     พรานฯ ไม่ได้ติดตามซีรีส์รถไฟความเร็วสูง 2.24 แสนล้านบาท เหมือนนังบ่าง ที่เกาะติดชนิดตามแกะรอยสัญญาร่วมลงทุน-เอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Propersal) ชะเง้อหน้าถามดังๆ ไปว่า บ่างเอร้ย... ดีใจ อะไรขะไหนหนาด ยังกะถูกหวยรัฐบาล?

 

พีพีพี จำแลง-อุ้มชู ซีพี? ไฮสปีดเทรน 'สร้างไปเบิกงบไป'

 

     อีเห็นสอดแทรกมาว่า นังบ่างดีใจเหมือนได้แก้ว...เพราะรัฐบาลประกาศสนับสนุนเต็มรูปแบบให้สร้างรถไฟไฮสปีดที่เป็นความหวังของคนทั้งประเทศนะสิพ่อพรานฯ...

     ดูนะพ่อพรานฯ หมอหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ชี้แจงชัดใน 3-4 ประเด็น

     1.ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้า ที่มีการปรับเงื่อนไขเล็กน้อย และเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย

     2.พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่าภาครัฐต้องอำนวยความสะดวก เพื่อให้โครงการนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีอุปสรรคใดๆ โดยรัฐต้องออกแรงด้วย ไม่ใช่ปล่อยเอกชนออกแรงอย่างเดียว ...เข้าใจตรงกันนะ จึงไม่น่ามีอุปสรรคในการลงนามสัญญา

     3.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พูดในที่ประชุมว่า อย่าไปแน่นหรือตึงมาก ผ่อนได้ก็ผ่อนแต่อย่าให้ผิดกฎหมาย และอย่าให้รัฐเสียประโยชน์

     4.การทำสัญญากับรัฐเราจะชดเชยในเรื่องระยะเวลา ไม่ใช่เงิน หากเอกชนติดอุปสรรคก็ขอขยายสัญญา หากรัฐติดอุปสรรคก็ขอขยายสัญญาได้โดยไม่มีค่าปรับ ถือว่าแฟร์และยุติธรรม เพราะทุกคนต้องการให้ประเทศมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นการสร้างความเข้าใจให้ทั้งโลกว่าโครงการอีอีซีเกิดแน่นอน

พีพีพี จำแลง-อุ้มชู ซีพี? ไฮสปีดเทรน 'สร้างไปเบิกงบไป'

 

     พรานฯ อ้าปากถามไปว่าแล้วที่บอกว่า ปรับเงื่อนไขเล็กน้อยนะปรับอะไรบ้าง?

     อีเห็นนั่งเท้าคางมือถูหน้าอย่างรำคาญบอกว่า...เขาแค่ปรับความเข้าใจในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องเข้ามาทำการรื้อย้ายสาธารณูปโภค รฟท.ต้องไปรับภาระการเวนคืนที่ดินบางส่วน และหาที่อยู่ให้กับชาวบ้านตามแนวรถไฟ และมีการเลื่อนระยะเวลาส่งมอบที่ดินจาก 1 ปี 3 เดือน เป็น 2 ปี เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ถ้ามีอุปสรรคก็ไปว่ากันในเรื่องการขยายเวลาให้กับเอกชน

     นี่จึงเป็นสาเหตุที่นังบ่างดีใจร้องตะโกนก้องไปทั้งเมืองว่า สำเร็จเสร็จสมอารมณ์หมาย ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเป็นประธานการลงนาม เพื่อเป็นตำนานของพล.อ.ประยุทธ์ เหมือนอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นสัญลักณ์ของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อีอีซีจึงเป็นผลงานที่กล่าวขานถึงพล.อ.ประยุทธ์.....

     นายกฯ จึงกำชับว่าให้ทำเสร็จเร็วๆ อะไรช่วยเขาได้ก็ช่วย อะไรยืดหยุ่นได้ก็ยืดหยุ่น!

     พรานฯ ตาตื่นรีบคว้าปืนผาหน้าไม้ออกส่องสรรพสัตว์ในใต้หล้า..จึงพบว่า โครงการรถไฟไฮสปีดเทรน 2.24 แสนล้าน ที่ทางกลุ่มซีพีและพันธมิตรชนะการประมูลไปด้วยการเสนอราคาขอรับการชดเชยจากรัฐ 117,227 ล้านบาท โดยจะจ่ายเมื่อเอกชนสร้างเสร็จและมีการเดินรถได้เป็นวงเงินเท่าๆ กันในแต่ละปี ภายในระยะเวลา 10 ปี “มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเล็กน้อย” ที่ยุบยับไปหมด ดังนี้...

     ร่างสัญญาใหม่ที่จะลงนามกันนั้น ระบุข้อความว่า “รัฐจะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน”

พีพีพี จำแลง-อุ้มชู ซีพี? ไฮสปีดเทรน 'สร้างไปเบิกงบไป'

 

     ปรับแก้ไขรูปแบบสัญญาการร่วมทุนแบบพีพีพีใหม่ จากเดิมที่สร้างเสร็จเดินรถได้แล้วรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ภายใน 5 ปี มาเป็นเอกชนสามารถสร้างและเดินรถได้ในบางช่วงแล้วขอเงินชดเชยจากรัฐได้แม้จะไม่เต็มโครงการก็ตาม เรียกกันภาษีผู้รับเหมาว่า “ทำไป เบิกงบชดเชยจากรัฐไป” จากสัญญาเดิมที่กำหนดให้ “จ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จ”

     พรานฯถามกรรมการอีอีซีว่าเป็นจั๋งได๋ที่มาแบบนี้ เขาบอกว่าจุ๊ๆอย่าเอ็ดไป อันนี้เป็นการเข้าไปดูแลต้นทุนดอกเบี้ยให้เอกชนที่ทำงานช้าเพราะรัฐส่งมอบที่ดินให้ไม่ได้ เพราะตามแผนการเงินนั้นเอกชนกู้เงินมาลงทุนทั้งก้อนแม้จะทยอยการเบิกมาใช้ มีภาระต้นทุนตกปีละ 5,000 ล้านบาท ถ้าใช้เวลา 5 ปี หรือสร้างเสร็จเดินรถได้ทั้งโครงการเขาจะมีภาระดอกเบี้ยรวม 25,000 ล้านบาท จึงขอปรับเป็นสร้างเสร็จในบางช่วงสามารถเดินรถได้ก็ขอรับเงินชดเชยจากรัฐตามสัดส่วนที่ลงทุน...ไม่ได้มีอะไรเกินเลยดอกพรานเอ๋ย...

     มีการเขียนในเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาและแผนการส่งมอบพื้นที่ของการรถไฟฯออกเป็น 3 ช่วง 1.ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ 2.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้มีการส่งมอบพื้นที่ภายใน 1 ปี 3 เดือน

     3.สำหรับช่วงพญาไท-ดอนเมือง การรถไฟฯจะต้องส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างให้ได้ภายใน 2 ปี 3 เดือน ถ้าส่งมอบไม่ได้ก็ขยายอายุสัญญาสัมปทานการเดินรถจาก 50 ปี ออกไป แต่ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้เอกชน

     4. กรณีเลวร้ายที่สุด หากการรถไฟฯไม่สามารถส่วมอบพื้นที่ได้เลย เอกชนมีสิทธิเจรจาและอาจขอยกเลิก หรือ Exit ได้

     อีเห็นบอกว่า ยังไม่หมด มีการปรับแก้สัญญามาช่วยเอกชนอีกมากมายที่ต้องรอลุ้นกันเพื่อให้โครงการแจ้งเกิด

     ที่โดดเด่นกว่านั้นคือการที่รัฐบาล “สอดเข้าแก้หน้า” ปัญหาว่าด้วยปัญหา “เพดานเงินกู้ของกลุ่มบริษัทซีพี”ตามที่ จ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์-เจ้าสัวน้อย-ศุภชัย เจียรวนนท์” เสนอเสียด้วยสิพ่อพรานฯ

     การสอดเข้าแก้หน้าในภาษานักกฎหมายนั้นคือ ปรากฎการณ์ที่ ธนาคารแห่ประเทศไทย ออกประกาศหลักเกณฑ์พิเศษผ่อนผันการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ที่ให้ลูกหนี้รายใหญ่ที่ต้องการนำเงินไปลงทุน ก่อภาระผูกพัน ไปประกอบธุรกิจที่เป็นกลไกสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ หรือใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่15 กรกฎาคม 2562

     ถือเป็นการปลดล็อกเงินกู้เต็มเพดานของลูกค้ารายใหญ่เป็นการทั่วไป แต่สปอตไลต์ฉายวับลงไปในกลุ่มซีพีแบบไม่ได้นัดหมาย...พระเจ้าจอร์จ มันยอดมั่ก!