อสังหาริมทรัพย์ กับแรงงานต่างด้าว

02 ส.ค. 2560 | 23:05 น.
MP35-3284-BB ในอดีตที่ผ่านมา แรงงานจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นแรงงานที่มาจากภาคเกษตรกรรม การขาดแคลนแรงงานในอดีตจึงเป็นการขาด แคลนแรงงานตามฤดูกาล คือเมื่อถึงฤดูกาลดำนา เก็บเกี่ยว ก็จะมีการขาดแคลนแรงงาน ในขณะเดียวกันเมื่อลูกหลานของเกษตรกร ได้รับการศึกษาสูงขึ้นก็จะไม่จำเป็นต้องทำงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องที่ทุกครัวเรือนจะมีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิต จึงกล่าวกันว่าในช่วงนับสิบปีที่ผ่านมา แรงงานไทยปฏิเสธการทำงานที่เรียกว่า งาน 3-D คือสกปรก (Dirty) เสี่ยงอันตราย (Dangerous) และงานยากลำบาก (Difficult) พร้อมกันนั้นก็มีการเติบโตของภาค ธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคบริการในจังหวัดต่างๆ แรงงานจากชนบทที่เคยหลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือจังหวัดใหญ่ๆ ในภูมิภาคก็สามารถทำงานในท้องถิ่นของตนเองได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมแล้วที่ทุกคนจะมีโอกาสทำงานใกล้บ้านใกล้ครอบครัว

การขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยจึงเป็นการขาด แคลนแรงงานในเชิงโครงสร้างมิใช่การขาดแคลนแรงงานตามฤดูกาลอีกต่อไป ความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ จึงเป็นมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำข้อตกลงกับประเทศ ลาว กัมพูชาและเมียนมา ให้แรงงานสามารถเข้ามาทำงานในประเทศ ไทยได้ โดยอนุญาตให้ทำได้ 2 อาชีพคืองานกรรมกรและงานบ้าน แต่การเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานโดยไม่ถูกกฎหมายเป็นจำนวนมาก หรือเข้ามาโดยถูกต้องแต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และแม้ว่าเข้ามาทำงานแล้วก็ยังมีความผิดที่เกิดได้ในหลายกรณีอาทิ ทำงานในอาชีพที่สงวนหวงห้ามสำหรับคนไทย ย้ายงานไปโดยไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ ใบอนุญาตต่างๆ ขาดอายุไม่ว่าจะเป็นพาสปอร์ต วีซ่า หรือใบอนุญาตทำงาน สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็มีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น คือการที่พื้นที่ทำงานมีหลายหน่วยงานในเวลาเดียวกันมิได้นั่งประจำอยู่ในโรงงานใดโรงงานหนึ่งหรือสถานประกอบการเดียวเหมือนธุรกิจอื่น ซึ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยไม่แจ้งแรงงานจังหวัดก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงเห็นได้ว่าโอกาสของการกระทำผิดเกิดขึ้นได้ง่ายทั้งโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจของนายจ้างหรือลูกจ้าง

MP35-3284-AA ดังนั้นเมื่อรัฐบาลได้ประ กาศพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาจึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวลสำหรับทุกภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เนื่องจากอัตราโทษที่กำหนดตามพระราชกำหนดนั้นมีอัตราโทษปรับสูงหลายแสนบาทและยังมีโทษจำคุกทั้งนายจ้างและลูกจ้างด้วย ซึ่งต่อมาเพียงไม่กี่วันนายกรัฐมนตรีก็ได้ใช้อำนาจ คสช. ใช้มาตรา 44 เพื่อผ่อนคลายบทกำหนดโทษหลายประการและขยายระยะเวลาในการบังคับใช้บางมาตราออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2560 นี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานเองก็ได้ออกมาตรการต่างๆ มารองรับดำเนินการ โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่มีหลักฐานใดๆ ก็ได้เปิดโอกาสให้มีการขึ้นทะเบียนใหม่ แต่มีกำหนดเวลาระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม-7 สิงหาคม 2560 เท่านั้น เพื่อไม่ให้แรงงานที่ผิดกฎหมายใหม่เข้ามาเพิ่มเติมอีก

ถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลได้มีมาตรการในการผ่อนคลาย แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนยังมีข้อสังเกตบางประการคือ (1) แต่ละภาคอุตสาหกรรมมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันควรกำหนดมาตรฐานที่แตกต่างกัน อาทิ การเคลื่อน ย้ายแรงงานของภาคอสังหาริม-ทรัพย์และภาคก่อสร้างแม้ว่าพระราชกำหนดใหม่จะกำหนดให้เป็นท้องที่จังหวัดแต่ในทางปฏิบัติก็ยังต้องไปแจ้งย้ายสถานที่ทำงานล่วงหน้าก่อนการเคลื่อนย้ายแรงงาน (2) งานที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำคืองานกรรมกรเท่านั้น การให้แรงงานไปก่ออิฐ ฉาบปูน ปูกระเบื้อง ทำงานช่างไม้ ฯลฯ ก็ถือว่ามีความผิด (3) เนื้อหาของพระราชกำหนดพยายามให้เกิดการนำเข้าโดย MOU หรือการนำเข้าโดยบริษัทนำเข้าแรงงานที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงแรงงาน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีแต่หากฟังเสียงสะท้อนของธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กหรือภาคการเกษตรกรที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว การนำเข้าโดย MOU ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับนายจ้าง 15,000-20,000 บาท ต่อแรงงาน 1 อัตรา ในขณะเดียวกันเสียงสะท้อนของแรงงานต่างด้าว ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยผ่าน MOU แรงงานต่างด้าวก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ประเทศต้น ทางอีก 20,000-40,000 บาท และต้องเอาบ้านหรือเอาที่นาไปจำนองจำนำคล้ายกับกรณีที่แรงงานไทยต้องไปทำงานต่างประเทศ

[caption id="attachment_188541" align="aligncenter" width="308"] อสังหาริมทรัพย์ กับแรงงานต่างด้าว อสังหาริมทรัพย์ กับแรงงานต่างด้าว[/caption]

กรณีช่องทางการนำเข้าแรงงาน มีตัวอย่างการส่งออกแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลในอดีต ซึ่งต้องผ่านบริษัทตัวแทนนายหน้าเช่นเดียว กัน และต้องมีค่าใช้จ่ายต่อคน 200,000-300,000 บาท ต่อมารัฐบาลได้เปิดช่องทางให้การส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล ผ่านองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) หรือ IOM ได้ และค่าใช้จ่ายลดลงเหลือเพียง 70,000 บาทต่อคนเท่านั้น ในกรณีตัวอย่างขั้นต้น แนวคิดของกระทรวงแรงงานเรื่องการนำเข้าแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) ก็เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการลดขั้นตอนเวลาและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้มีช่องทางการนำเข้ามากกว่าช่องทาง MOU

ผู้เขียนเห็นว่าหากเรายอมรับความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวแล้วทุกฝ่ายก็คงต้องปรับตัวทั้งภาครัฐเองในฐานะผู้ออกกฎหมายและผู้กำกับดูแล ภาคเอกชนเองในฐานะของผู้มีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน ก็ต้องเคารพและดูแลสิทธิของลูกจ้าง ฝ่ายลูกจ้างเองก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560