4 เทคนิควางแผนการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน

14 มิ.ย. 2560 | 01:00 น.
MP27-3269-2A สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับผมอีกครั้งพร้อมด้วยบทความเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินดีๆ ในสัปดาห์นี้ สำหรับมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนที่มักจะบ่นว่าเงินเดือนไม่พอใช้ บางครั้งก็รู้สึกว่าเงินเดือนขึ้นเท่าไหร่ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายสักที เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจึงได้นำเทคนิคดีๆกับ “เริ่ม สร้าง ตัด ต่อ” 4 เทคนิควางแผนการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน มาบอกให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบเพื่อที่จะได้เริ่มต้นวางแผนการเงินกันตั้งแต่วันนี้

1. เริ่มทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เริ่มต้นด้วยท่านผู้อ่านทุกท่านควรต้องทำบัญชี รายรับ – รายจ่ายก่อน เพราะการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจะทำให้ท่านผู้อ่านรู้ว่ารายรับแต่ละเดือนได้มาเท่าไหร่ และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกจ่ายออกไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร และจำนวนเท่าไหร่บ้าง เพื่อที่ท่านจะได้วางแผนในการจัดการเงินได้อย่างเหมาะสมโดยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ท่านผู้อ่านทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องไปหาซื้อสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายแบบเป็นทางการให้ยุ่งยาก อาจหาสมุดเปล่าๆ ไว้สักเล่มหนึ่งแล้วจดรายรับที่ได้ รายการค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายออกไป และยอดคงเหลือในแต่ละเดือนก็เพียงพอแล้ว หรือหากท่านผู้อ่านบางคนที่ถนัดคอมพิวเตอร์อาจจะทำการบันทึกไว้ในโปรแกรม Word หรือ Excel หรืออาจจะทำใน Application หรือฟังก์ชั่นในมือถือก็ได้

2. สร้างนิสัยการออม โดยทั่วไปเรามักจะเก็บออมเงินโดยเหลือจากการใช้จ่ายเท่าไหร่แล้วค่อยเก็บ แต่การสร้างนิสัยการออมเงินที่ถูกต้อง ท่านผู้อ่านควรจะต้องเก็บออมก่อนและค่อยนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่าย โดยท่านผู้อ่านจะต้องสร้างนิสัยในส่วนนี้และทำให้เป็นประจำสม่ำเสมอ

วิธีการง่ายๆ ก็คือ ท่านอาจจะใช้วิธีผูกบัญชีเงินเดือนของท่านกับบัญชีเงินออมและให้ทำการโอนเงินโดยอัตโนมัติ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะกำหนดไว้ เช่น 10% หรือ 20% ของรายได้ โดยจำนวนเงินออมนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาระที่แต่ละคนมี ซึ่งหากคิดง่ายๆ สำหรับท่านผู้อ่านที่มีรายได้ประมาณเดือนละ 50,000 บาท หากกันเงินออมไว้เดือนละ 20% ในหนึ่งปีท่านจะสามารถออมเงินไว้ได้เป็นจำนวนถึง 120,000 บาท เลยทีเดียว

3. ตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแล้ว ก็จะทำให้เห็นชัดว่าค่าใช้จ่ายรายการไหนบ้างเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และรายการไหนบ้างเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือเกินความจำเป็น ซึ่งท่านผู้อ่านก็สามารถที่จะบริหารการเงินของท่านได้ง่ายขึ้น และเลือกตัดรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ โดยรายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่ท่านต้องจ่ายไปและไม่สามารถตัดออกได้ เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว ค่าเทอมคุณลูก ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ยังคงต้องจ่ายไป แต่ค่าใช้จ่ายบางรายการเป็นค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น เช่น ค่างานเลี้ยงสังสรรค์ ค่าท่องเที่ยว ค่าสันทนาการ หรือค่าช๊อปปิ้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเลือกตัดบ้างก็จะช่วยทำให้มีเงินเก็บออมได้มากขึ้น

4. ต่อยอดเงินออมให้สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยหลังจากที่ท่านผู้อ่านได้มีการเก็บออมเงินได้แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินออม ซึ่งจริงอยู่แม้ว่าการฝากเงินไว้ในธนาคารจะมีความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ค่อนข้างต่ำเช่นกัน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผลตอบแทนที่ได้รับไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ดังนั้นท่านผู้อ่านอาจต้องมีการต่อยอดเงินออมให้สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการนำไปลงทุนเพื่อให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้

การต่อยอดเงินออมโดยการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอและเป็นที่พอใจ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีเครื่องมือทางการเงินหลากหลายที่ท่านผู้อ่านสามารถจะนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนได้ ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน ตราสารอนุพันธ์ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ที่สามารถช่วยสร้างทั้งผลตอบแทนและถ่ายโอนความเสี่ยงของท่านผู้อ่านออกไป โดยเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้จะช่วยทำให้ท่านผู้อ่านสามารถต่อยอดงินออมที่สะสมไว้ให้เพิ่มมูลค่าได้

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า 4 เทคนิคเบื้องต้นกับการ “เริ่ม สร้าง ตัด ต่อ” ไม่ยากเกินไปสำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกท่านที่จะเริ่มต้นในการวางแผนการเงิน นอกจากจะทำให้ท่านมีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอในแต่ละเดือนแล้ว ยังจะทำให้ท่านมีเงิมออมเหลือเก็บและสามารถนำไปใช้ตอบสนองต่อเป้าหมายตามที่ท่านได้มีการวางแผนไว้แล้วได้ เพราะฉะนั้นมาเริ่มต้นกันตั้งแต่สิ้นเดือนนี้นะครับ ซึ่งผมเชื่อแน่ว่าถ้าท่านผู้อ่านทำได้อย่างนี้จะทำให้สุขภาพทางการเงินของทุกท่านและครอบครัวไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน แล้วกลับมาพบกันใหม่ในคราวหน้าสำหรับวันนี้สวัสดีครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560