สหภาพฯ“การบินไทย”แจงสิทธิ์พนักงานที่ไม่ร่วมเข้าโครงสร้างองค์กรใหม่

02 เม.ย. 2564 | 04:05 น.

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย แจงสมาชิกที่ไม่ร่วมกระบวนการกลั่นกรองตามโครงสร้างองค์กรใหม่ ได้รับความคุ้มครองสิทธิ์ตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 31 พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

ปัจจุบันการบินไทยอยู่ระหว่างการคัดเลือกพนักงานเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ โดยมีพนักงานแสดงความจำนงสู่กระบวนการกลั่นกรองตามโครงสร้างองค์กรใหม่ประมาณ 13,500 คน เป็นกลุ่มที่จะอยู่ในโครงการฟ้าใหม่ ราว 3,000 คน (สภาพการจ้างเดิม) มีพนักงานงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร(MSP) ราว 3,000 คน และมีพนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้าร่วมกระบวนการกลั่นกรองตามโครง สร้างองค์กรใหม่ราว 600 คน

ล่าสุดสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย(สร.พบท.)ได้ออกแถลงการณ์ถึงสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม2564 โดยยืนยันว่าสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย ประกาศการคุ้มครองสมาชิกสร.พบท. ตามพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หลังจากสร.พบท.ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง(การบินไทย)เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2564

โดยในแถลงการณ์ระบุว่าเนื่องด้วยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ในแผนฟื้นฟูกิจการและดำเนินการให้พนักงานทำการสมัครเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ และมีการปรับเปลี่ยนเงินเดือนและสภาพการจ้างสำหรับพนักงานทุกระดับที่เข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ อีกทั้งยังมีพนักงานจำนวนมากอีกส่วนหนึ่งซึ่งมิได้แสดงความจำนงสมัครเนื่องจากเหตุผลที่ต้องการรักษาสิทธิตามสภาพการจ้างเดิม (กลุ่มไทยรักษาสิทธิ์)

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ขอแถลงเพื่อทราบแก่สมาชิกของสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทยทุกท่าน ว่าสร.พบท.ได้อยู่ในขั้นตอนของการยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา 15 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนั้นสมาชิกของสร.พบท.ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 31 วรรคแรกแห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

บัญญัติว่า “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้น ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่ง เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างโดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและ

ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าว ดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง

(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร...”

สหภาพฯ“การบินไทย”แจงสิทธิ์พนักงานที่ไม่ร่วมเข้าโครงสร้างองค์กรใหม่

จึงขอยืนยันแก่สมาชิกของสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทยทุกท่านว่าสมาชิกของสร.พบท.ทุกท่านได้รับความคุ้มครองโดยผลของกฎหมายทุกประการ “ตั้งใจดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งปวงสร.พบท.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: